เมื่อวานนี้ 22 กันยายน เป็น วันปลอดรถยนต์โลก หรือ World Car Free Day กทม. จัดงานไปเมื่อวันอาทิตย์ล่วงหน้าหนึ่งวันถ้าจัดตรงวันจันทร์ที่ 22 กันยายน วันทำงานปกติ ผมรับรองว่ากรุงเทพฯจะเป็นอัมพาตไปทั้งวัน เพราะวันนี้กรุงเทพฯ มีรถยนต์เกือบ 6 ล้านคันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก นโยบายประชานิยมรถยนต์คันแรก ที่เพิ่มการทำลายคุณภาพชีวิตคนกรุง ต้องใช้ชีวิตอยู่บนถนนวันละ 3–4 ชั่วโมงทุกวัน คิดง่ายๆไปทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน หนึ่งปีชีวิตคนกรุงเทพฯจะหายไปบนถนน 780–1,040 ชั่วโมง หรือ 32–43 วัน จากรถติดในชั่วโมงเร่งด่วน ถ้าเริ่มทำงานอายุ 25 ปีไปจนถึงเกษียณ 60 ปี ชีวิตจะหายไปอย่างไร้คุณค่าแบบสูญเปล่า 3–4 ปี ไม่นับค่าใช้จ่ายที่ถูกเผาผลาญไปกับน้ำมัน ค่าเสียเวลาในชีวิต ค่าเสียโอกาสอีกมหาศาล
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีคมนาคม เลยมีความคิดว่า จะใช้มาตรการเพื่อลดการใช้รถยนต์เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ เช่น อาจมีการเพิ่มภาษีให้สูงขึ้น แต่ไม่ได้บอกว่าภาษีอะไร หรือ ให้จ่ายค่าผ่านทางในเขตที่มีปริมาณรถสูง เพื่อให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แต่ยังไม่มีการเก็บภาษีรถเก่าเข้าเมือง
ส่วนหนึ่งของจราจรที่ติดขัดมาก จนเป็นปัญหาต่อคุณภาพชีวิตคนกรุงก็คือ “ผลร้าย” จากโครงการประชานิยม “รถยนต์คันแรก” ที่หลอกล่อกิเลสคน ด้วยการลดภาษีรถยนต์ให้คันละ 100,000 บาท ทำให้หนี้เพิ่มแต่คุณภาพชีวิตลด
ผมยังไม่ขอแสดงความคิดเห็นเพราะ พล.อ.อ.ประจิน ยังพูดไม่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร การแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯให้ได้ผลอย่างแท้จริงต้องใช้ ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ อย่างเดียว แต่รถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้าทุกสายก่อสร้างกันล่าช้าเหมือนเต่าคลาน เพราะการทุจริตคอร์รัปชันในอดีต ขนาด รถเมล์เอ็นจีวี 3 พันกว่าคัน ที่เป็นระบบขนส่งมวลชนพื้นๆ ใช้เวลาเขียนสเปกจัดซื้อมาร่วม 10 ปีแล้ว ยังเขียนไม่จบสักที จาก คันละ 16 ล้านบาท จนลดลงมาเหลือ คันละ 4–5 ล้านบาท ก็ยังแก้ทีโออาร์กันไม่จบ แล้วระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ที่ซับซ้อนกว่านี้ จะรับประทานกินกันขนาดไหน ไม่ต้องหลับตาก็นึกออกได้
...
วันนี้ผมจะเล่าเรื่อง การแก้ปัญหาจราจร ของ มหานครเซี่ยงไฮ้ ให้ฟังกันคร่าวๆเป็นตัวอย่าง เซี่ยงไฮ้แก้ปัญหาจราจรติดขัดในเมืองด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั้งใต้ดินบนดินเหมือนไทย เซี่ยงไฮ้เปิดใช้รถไฟใต้ดินสายแรกเมื่อปี 2536 ผ่านมา 21 ปี วันนี้เซี่ยงไฮ้มีรถไฟใต้ดิน14 สาย เฉลี่ยปีครึ่งต่อสาย รวมระยะทาง 538 กิโลเมตร ยาวที่สุดในโลกขนผู้โดยสารได้วันละ 8 ล้านคน เมื่อเดือนเมษายนเพิ่งทำสถิติสูงสุดขนผู้โดยสารได้สูงสุดถึงวันละ 9.381 ล้านคน และกำลังสร้างเพิ่มอีก 2 สายเป็น16สาย
แต่ กรุงเทพฯ ของเรา มีโครงการรถไฟใต้ดินมาก่อนเซี่ยงไฮ้ แต่ เปิดใช้สายแรกได้ปี 2542 มีระยะทางแค่ครึ่งเดียวของโครงการ ผ่านมา 15 ปี กรุงเทพฯก็ยังมีรถไฟใต้ดินแค่ครึ่งสาย เพราะส่วนต่อขยายยังสร้างไม่เสร็จ เส้นทางอื่นก็ยังสร้างไม่เสร็จ การจราจรในกรุงเทพฯจึงจลาจลอย่างที่เห็นทุกวัน แถมมีนโยบายประชานิยม “รถยนต์คันแรก” มาซ้ำเติม แทนที่จะไปส่งเสริมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การจราจรก็ยิ่งติดมากขึ้น
แม้จะมีระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขนาดใหญ่แล้ว ผู้บริหารนครเซี่ยงไฮ้ ก็ยังไม่ลดละแก้ปัญหาต่อด้วยการ “ลดปริมาณรถยนต์” และ “ลดปริมาณจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน” ด้วยมาตรการดังนี้ใครจะซื้อรถใหม่ในเซี่ยงไฮ้ จะต้อง “ซื้อป้ายทะเบียนรถก่อน” ป้ายทะเบียนก็ตั้งราคาแพงลิ่ว ปัจจุบันอยู่ที่ 60,000–70,000 หยวน ราว 300,000–350,000 บาท ไม่รวมราคารถยนต์ และ ห้ามรถทะเบียนต่างเมืองใช้ทางด่วนของเซี่ยงไฮ้ในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อให้รถในเมืองเซี่ยงไฮ้ที่จ่ายภาษีแพงได้เดินทางสะดวกขึ้น
ผมคิดว่าแนวคิดการ “ขึ้นภาษีป้ายทะเบียนรถ” เพื่อนำเงินไปสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เป็นสิ่งน่าทำ คนมีเงินซื้อรถ ถือว่ามีฐานะพอควรแล้ว
เล่าเป็นน้ำจิ้มแค่นี้ก่อนนะครับ เนื้อที่หมดแล้ว แต่ที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาจราจรเมืองใหญ่ก็คือ ต้องใช้ระบบราง เร่งสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้เร็วที่สุด.
“ลม เปลี่ยนทิศ”