สนช.ถก ก.ม.7 ฉบับ รับหลักการร่าง ก.ม.ความผิดบนเครื่องบิน “กล้านรงค์” ห่วงกระทบเสิร์ฟแอลกอฮอล์ ชี้ ก.ม.เปิดช่องให้ผู้ถือระเบิดขึ้นเครื่อง มีโทษแค่ปรับ ขณะ สนช.สมชาย ไม่เห็นด้วยกำหนดโทษประหาร-จำคุก 15 ปี ฆ่าผู้โดยสาร หรือปิดสนามบิน
วันที่ 18 ก.ย. เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระประชุมนายสุรชัยแจ้งว่า การประชุมมีวาระเรื่องด่วน คือ ร่าง พ.ร.บ.ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอ 7 ฉบับ ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ ร่าง พ.ร.บ.การรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ ร่าง พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ร่าง พ.ร.บ.รถยนต์ และร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก และเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. 3 ฉบับประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ออกไปก่อนเนื่องจากรัฐมนตรีผู้ชี้แจงติดภารกิจ
จากนั้นที่ประชุม สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พร้อมร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ เพราะมีหลักการและเหตุผลสอดคล้องกัน โดยสมาชิก สนช. อภิปรายกว้างขวาง อาทิ นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช. อภิปรายว่า มาตรา 12 การทำอันตรายต่อบุคคลและเครื่องบินจากการดื่มแอลกอฮอล์ หากเขียนเช่นนี้ผู้ประกอบการสายการบิน ไม่สามารถบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ให้ผู้โดยสารได้ ปกติจะจัดเครื่องดื่มไว้ให้ผู้โดยสารเดินทางเส้นทางระยะไกล
...
นอกจากนี้ มาตรา 8 เรื่องห้ามสิ่งของต้องห้ามขึ้นเครื่องบิน จะมีปัญหาทางปฏิบัติ เพราะหากเกิดกรณีมีผู้แอบนำวัตถุระเบิดขึ้นเครื่องบิน โดยไม่ได้นำระเบิดมาสร้างสถานการณ์ จะมีผลให้ถูกปรับแค่ 2 หมื่นบาท ดังนั้น อยากให้แก้ไขเนื้อหาให้รอบคอบ
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติ 153 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการฯ วาระที่ 1 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ การเพิ่มบทบัญญัติการกระทำความผิดในท่าอากาศยานและเครื่องบิน และเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ผู้รักษาความปลอดภัยในอากาศยาน
ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. กล่าวว่า การเขียนโทษประหารชีวิตในกรณีการฆ่าผู้อื่นในสนามบิน และการกำหนดโทษประหารชีวิต และจำคุกตลอดชีวิต และจำคุกตั้งแต่ 15 ปี ในความผิดการทำให้การให้บริการของท่าอากาศยาน หยุดชะงักไว้ในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ถือว่าไม่เป็นการเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลยพินิจบรรเทาให้ผู้กระทำผิด ประกอบกับหลายประเทศ ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว ทั้งนี้ ตนไม่เห็นด้วยกับการปิดสนามบิน แต่ช่วงเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา เกิดกรณีปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และสนามบินต่างจังหวัด ซึ่งช่วงที่ตนเป็น ส.ว. มีโอกาสตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่า การปิดสนามบิน มาจากการตัดสินของผู้บริหารท่าอากาศยาน จึงควรเขียนกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ใช้ดุลยพินิจในอนาคตได้
ด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ชี้แจงว่า เจตนารมณ์กฎหมายฉบับนี้ ป้องกันและสร้างความปลอดภัยให้ท่าอากาศยานและการเดินทางโดยอากาศยานให้ผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะนำข้อเสนอ สนช.ทุกประเด็น ไปปรับแก้ไขในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยเฉพาะเรื่องการเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคดี นอกจากนี้ ที่ประชุม สนช.มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ ด้วยคะแนน 150 ต่อ 1 งดออกเสียง 2 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาด้วย