NCDs (Non-Communicable diseases) หรือ ชื่อเรียกในภาษาไทยว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หลายคนฟังแล้วอาจงง แต่ถ้าบอกว่า โรคที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ มีเบาหวานหลอดเลือดสมองและหัวใจ ถุงลมโป่งพอง มะเร็ง ความดัน และอ้วนลงพุง คงจะคุ้นกันหน่อย เพราะล้วนเป็นโรคไม่เกิดกับเราเองก็คนใกล้ตัว

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า ทุกวันนี้สถานการณ์ของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเริ่มรุนแรงขึ้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนว่า กลุ่มโรคนี้เป็นสาเหตุการตายของประชากรโลกโดยเฉลี่ยถึง ปีละกว่า 60 ล้านคน

แถมส่วนใหญ่ หรือประมาณ 80% ล้วนเป็นประชากรที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับเมืองไทย คุณหมอกฤษดาบอกว่า เวลานี้มีประชากรราว 14 ล้านคน ป่วยเป็นโรคกลุ่มนี้ โดยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทั้งประเทศมีผู้สังเวยชีวิตให้แก่กลุ่มโรค NCDs ไปแล้วรวมทั้งสิ้น กว่า 3 แสนราย ซึ่งหากเทียบเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ เป็นเม็ดเงินที่สูงถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี แถมยังมีแนวโน้มที่จำนวนผู้ป่วยกลุ่มโรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้ง 6 โรค ในกลุ่ม NCDs ซึ่งประกอบด้วย เบาหวาน (Diabetes Mellitus) โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ (Cardiovascular & Cerebrovascular Diseases) โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema) มะเร็ง (Cancer) ความดันโลหิตสูง (Hypertension) และ โรคอ้วนลงพุง (Obesity)นั้น

หมอกฤษดาบอกว่า สมัยก่อนคนมักจะเข้าใจผิดหรือคิดกันไปเองว่ากลุ่มโรคนี้เป็นโรคคนแก่ โรคกรรมเก่า หรือโรคคนรวย ทั้งที่จริงแล้ว ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยง คือ พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีของคนเรา ซึ่งสะสมมาเป็นเวลานานทุกวันๆเข้า จนกลายเป็นการตายผ่อนส่งไปโดยไม่รู้ตัว
เขายกตัวอย่าง พฤติกรรมการใช้ชีวิตผิดทาง และหมักหมม จนกลายเป็นสาเหตุของการป่วยเป็น NCDs

...

เช่น ผู้ที่มีพฤติกรรมการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ตามใจปากด้วยการรับประทานอาหาร รสหวานจัด เค็มจัด มันจัด ผสมโรงกับ ความเครียดในชีวิตประจำวัน ทั้ง 7 ปัจจัยนี้ ถือเป็นบันไดไต่ไปสู่ความตายด้วยโรค NCDs ทั้งสิ้น

โดยเฉพาะ กรณีการไม่ยอมออกกำลังกาย สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เคยทำการสำรวจใหญ่เอาไว้เมื่อปี 2554 มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ

เป็นต้นว่า ทั้งประเทศมีคนไทยเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือคิดเป็นสัดส่วนโดยประมาณ เพียงแค่ 26.1%

นอกนั้นอีก 73.9% ขี้เกียจ...ไม่เล่นกีฬา หรือไม่ยอมออกกำลังกายใดๆทั้งสิ้น

เมื่อแยกเป็นรายภาค หรือพื้นที่ พบว่า คนกรุงเทพฯ เป็นผู้ที่ออกกำลังกายมากที่สุดในประเทศ หรือคิดเป็นสัดส่วน 31.5% ของคนทั้งประเทศที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

รองลงมาคือ คนภาคใต้ เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายเป็นประจำ 29.9% อันดับสามคือ คนภาคเหนือ 28.8% อันดับสี่ คนภาคอีสาน 24.5% ส่วนตำแหน่งบ๊วยสุดคือ คนภาคกลาง เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายประจำเพียงแค่ 22%

สสช. ยังสำรวจลึกลงไปอีกว่า โดยภาพรวมผู้หญิงมักชอบออกกำลังกายด้วยวิธีการเดิน ส่วนผู้ชายมักออกกำลังกายในรูปของการเล่นกีฬาประเภทต่างๆ

กล่าวคือ ผู้หญิงไทยเลือกออกกำลังกายด้วยการ เดิน 25.2% เข้าฟิตเนส หรือ ออกกำลังกายกับเครื่องมือต่างๆ 21.4% เล่นกีฬา 18.2% วิ่ง 16.5% อีก 11.5% นิยมออกกำลังด้วยการ เต้นแอโรบิก

ขณะที่ชายไทยนิยมออกกำลังกายในรูปของการ เล่นกีฬาประเภทต่างๆ เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล กอล์ฟ ตะกร้อ ฯลฯคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 50.5% ตามด้วย วิ่ง 20.3% เดิน 14.9% เข้าฟิตเนส 7.8% และ เต้นแอโรบิก เพียง 1.8%

เหตุผลที่ทำให้คนไทยไม่ยอมออกกำลังกาย ร้อยละ 39.7% อ้างว่า ไม่มีเวลา อีก 31.1% บอกว่า ไม่สนใจ 25.1% อ้างว่า ทำงานที่ต้องใช้แรงงานอยู่แล้ว 1.4% บอกว่า หาสถานที่หรืออุปกรณ์กีฬาไม่ได้

เทียบกับข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ทำไว้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำรวจรูปแบบการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยเอาไว้เมื่อปี2555

ได้ข้อสรุปว่า ภายใน 1 วัน คนไทยใช้เวลาหมดไปกับการนอนโดยเฉลี่ย 8.20 ชั่วโมง อีก 13.40 ชั่วโมง หมดไปกับพฤติกรรมเฉื่อย
เช่น ยืน เดิน นั่ง ทำโน่นทำนี่ ที่ไม่ค่อยได้ใช้กำลัง หรือทำแล้วไม่ค่อยได้เหงื่อ มีเวลาให้กับ การออกกำลังกายจริงจัง เฉลี่ยวันละไม่เกิน
2 ชั่วโมง

อย่างที่ ทพ.กฤษดา เกริ่นไว้แต่ต้นว่า การไม่ยอมออกกำลังกาย คือหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดโรค NCDs แต่กระนั้นอีกหลายพฤติกรรมเสี่ยงที่เหลือก็ใช่ว่าไม่สำคัญ ทั้งการดื่มสุรา สูบบุหรี่ กินอาหารรสหวาน มัน เค็มจัด ตามใจปาก และความเครียด ทุกปัจจัยล้วนเป็นภัยมหันต์พอกัน

จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงของคนไทยเมื่อ ปี พ.ศ. 2552 พบว่า ประชากร 21.4% เป็นโรคความดันโลหิตสูงอีก6.9% หรือประมาณ 3.2 ล้านคน มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง แถมอัตราการควบคุมได้ในกลุ่มผู้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าพอใจ
ยิ่งประชากรชาย ซึ่งมีน้ำตาลในเลือดสูง มีเพียง 27.1% เท่านั้น ที่สามารถคุมน้ำตาลในเลือดได้

นอกจากนี้ประชากรเกือบ 9 ล้านคน หรือ 19.4% มีภาวะไขมันคอเลสเทอรอลในเลือดสูง โดยเฉพาะผู้หญิงเป็นโรคไขมันในเลือดสูง มากกว่าผู้ชาย

ไม่เพียงเท่านั้น ประชากรไทยเกือบ 1 ใน 3 เข้าข่ายมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน โดยที่ 8.5% เข้าข่ายเป็นโรคอ้วน นอกจากนี้ช่วงปี 2535-2552 ชายไทยมีสัดส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 4เท่า

ทพ.กฤษดาบอกว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มักจะค่อยๆมีอาการรุนแรงขึ้นทีละน้อย ทางแก้เดียวก็คือ ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงให้ได้

จึงจะช่วยลดปัจจัยที่ทำให้เกิดกลุ่มโรคนี้ลงได้ 80% ลดโอกาสในการเป็นมะเร็งได้ 40% และลดโอกาสป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ กับโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ 80% ซึ่งต้องใช้คาถา 3 ป.เข้าช่วย คือ เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนความเคยชิน และ เปลี่ยนแปลงตัวเอง

“ป.แรก เปลี่ยนความคิดซะใหม่ว่า โรคพวกนี้ไม่ได้เกิดจากเวรกรรม แต่เกิดจากพฤติกรรมของเราเองทั้งนั้น เปลี่ยนความเคยชินจากที่ชอบกินหวาน กินมัน นั่งอยู่หน้าจอทีวีเกือบทั้งวัน เป็นออกไปวิ่ง หรือลองเปลี่ยนตารางเวลา ตารางอาหาร หรือทำเรื่องแปลกใหม่ดูบ้าง”

“ส่วนเปลี่ยนแปลงตัวเองก็คือ ต้องเริ่มจากตัวเรา ลองคิดดูว่า จะดีแค่ไหนถ้าเรามีสุขภาพดีไปถึงอายุ 60–70 ปี โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร อยากไปเที่ยวก็ยังไปได้ แทนที่จะใช้เวลาเข้าออกโรงพยาบาล ลองเปลี่ยนตัวเองมาเริ่มสะสมสุขภาพดีๆตั้งแต่วันนี้กันนะครับ”.