“ศาลปกครอง” ยกฟ้อง “ชาวกทม.” ขอ “ยิ่งลักษณ์” รับผิดชอบ บริหารน้ำท่วมพลาด ชี้ ปริมาณน้ำปี 54 มากสุดในรอบหลายปี
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง ในคดี น.ส.จรุงทิพย์ หล่อรุ่งโรจน์ กับพวกรวม 10 คน ซึ่งเป็นประชาชนที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (ดำรงตำแหน่งขณะนั้น), กับพวกที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำรวม 10 คน ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ล่าช้าเกินสมควร และการกระทำดังกล่าว ก่อให้เกิดความผิดอื่นๆ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จากกรณีที่ผู้ถูกฟ้องทั้ง 10 ได้บริหารจัดการน้ำผิดพลาด ทำให้มวลน้ำจำนวนมหาศาล ได้ไหลสู่พื้นที่ต่ำออกสู่ทะเล เป็นเหตุให้น้ำไม่ไหลไปตามทิศทางตามธรรมชาติ ทำให้น้ำท่วมขังบริเวณจังหวัดกรุงเทพมหานคร ทั้งยังส่งกลิ่นเน่าเหม็นและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี ได้รับความเสียหาย จึงฟ้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งรวมกันแล้วเป็นเงินกว่า 3 ล้านบาท และให้จัดทำแผนป้องกันน้ำท่วม
โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในช่วงกลางถึงปลายปี 54 ประเทศไทย เกิดพายุโซนร้อนและมรสุมจำนวนหลายลูก จึงทำให้มีปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนต่างๆ อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนอื่นๆ มากที่สุด ในรอบหลายๆ ปี ซึ่งผู้ถูกฟ้องมีความพยายามในการระบายน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางวิชาการแล้ว แต่การปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ก็จำเป็นต้องปล่อยเพื่อไม่ให้เกินความจุของเขื่อน แต่ด้วยปริมาณน้ำฝนทำให้บริเวณพื้นที่ใต้เขื่อน ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนมากอยู่แล้ว ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น
...
ขณะเดียวกัน ระหว่างนั้น ประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ได้พังทลายลง และประตูระบายน้ำแห่งอื่นๆ พังทลายลงตามมา ประกอบกับน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปในทางที่กำหนดได้ อีกทั้งน้ำจากเขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ ที่เข้าสู่พื้นที่ กทม. ก็ถือเป็นเพียงร้อยละ 20 ส่วนที่เหลือน่าจะเป็นน้ำที่ค้างตามทุ่งต่างๆ ประกอบกับพื้นที่รับน้ำ ก็ได้มีการปรับเป็นพื้นที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ แม้ผู้ถูกร้องจะป้องกันพื้นที่ กทม.ด้วยการเสริมคันกันน้ำ วางแนวกระสอบทรายต่างๆ และได้แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมตัวไว้อย่างเต็มความสามารถ รวมถึงฟื้นฟูความเสียหายตามกฎหมายแล้ว แต่ด้วยปริมาณน้ำ ก็ทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่บ้านพักของผู้ฟ้องทั้ง 10 จึงเห็นได้ว่า การกระทำของผู้ร้องไม่ได้เป็นการกระทำโดยไม่ชอบ และละเลยการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้ผู้ฟ้องได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องวางแนวป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจชั้นในของ กทม. ก็ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะถือว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์กลางการบริหารประเทศ หากปล่อยให้น้ำท่วมก็จะมีผลกระทบในวงกว้าง ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ จึงไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ อีกทั้งการวางแนวป้องกัน กทม. ของผู้ถูกฟ้องเพื่อชะลอไม่ให้น้ำเข้าพื้นที่ชั้นในนั้น ก็ทำให้ผู้ร้องทั้ง 10 ได้รับผลประโยชน์ไม่ให้บ้านพัก ถูกน้ำท่วมสูงกว่าที่เป็นอยู่ พิพากษายกฟ้อง