“ซองบุหรี่แบบเรียบ ไม่ได้ทำให้อัตราการสูบบุหรี่หรือยอดขายบุหรี่ลดลง...” เป็นปุจฉาร้อนในแวดวงรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

ข่าวที่ สมาคมการค้ายาสูบไทย โดย นางวราภรณ์ นะมาตร์ ออกมาเผยแพร่ โดยอ้างอิงผลวิจัยในประเทศออสเตรเลีย หลังจากออสเตรเลียนำซองบุหรี่แบบเรียบมาใช้ครบ 1 ปี และนางวราภรณ์ ยังอ้างข้อมูลจากผลวิจัยชิ้นนี้อีกว่า... “นอกจากการใช้บุหรี่ซองเรียบจะไม่ได้ทำให้อัตราการสูบบุหรี่หรือยอดขายบุหรี่ลดลงแล้ว ในทางกลับกัน ยังทำให้มีบุหรี่หนีภาษีเพิ่มขึ้นด้วย”

ทันทีที่มีข่าวออกตามสื่อมวลชน ก็เกิดข้อสงสัยขึ้นในองค์กรที่ดำเนินการเกี่ยวการรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ในประเทศไทยขึ้นมาทันทีว่า ข้อมูลตามที่ระบุนั้น มีข้อเท็จจริงอย่างไร?

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ แย้งว่า งานวิจัยดังกล่าวสนับสนุนโดยบริษัทบุหรี่บริติช อเมริกันโทแบคโก ที่จ้างให้บริษัท KPMG ในอังกฤษ เป็นผู้ดำเนินการ

KPMG ระบุว่า รายงานดังกล่าว ทำตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับผู้ว่าจ้าง และให้อยู่ในดุลพินิจของผู้ที่จะนำรายงานไปใช้ที่จะรับผิดชอบเอง ซ้ำร้ายรายงานดังกล่าว ได้รับการโต้แย้งจากหน่วยงานควบคุมยาสูบวิคตอเรีย ออสเตรเลีย ถึงระเบียบวิจัยที่ไม่ถูกต้อง และผลงานวิจัยที่ไม่น่าเชื่อถือ ที่สำคัญรายงานนี้ไม่ได้วิเคราะห์หรือสรุปถึงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณบุหรี่หนีภาษีกับซองบุหรี่แบบเรียบ แต่เป็นการสรุปของบริษัทบุหรี่บริติช อเมริกัน โทแบคโกเอง

หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ข้อมูลผลวิจัยที่ระบุว่า ซองบุหรี่แบบเรียบ ไม่ได้ทำให้อัตราการสูบบุหรี่หรือยอดขายบุหรี่ลดลง เป็นงานวิจัยที่ถูกจงใจทำขึ้นมาเพื่อให้เกิดความสับสนในข้อมูล

คุณหมอประกิต ยังบอกด้วยว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บริษัทบุหรี่พยายามที่จะใช้วิธีการต่างๆ โดยเฉพาะการสรรหาข้อมูลที่บิดเบือนข้อเท็จจริงออกมาเผยแพร่ให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะบริษัทบุหรี่ได้พยายามใช้วิธีการในลักษณะเดียวกันนี้มาโดยตลอดในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ส่วนสาเหตุที่บริษัทบุหรี่ออกมาต่อต้านเรื่องบุหรี่ซองเรียบอย่างหนักนั้น คุณหมอประกิต บอกเพียงสั้นๆว่า “นั่นเพราะแนวทางนี้ได้ผล”

...

พร้อมทั้งฉายภาพถึงแนวทางในการใช้บุหรี่ซองเรียบรณรงค์ให้มีการสูบบุหรี่น้อยลงของประเทศออสเตรเลีย ว่า รัฐบาลออสเตรเลียออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ บังคับใช้ตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปี 2555 โดยกำหนดซองบุหรี่ที่จำหน่ายในออสเตรเลีย ให้มีคำเตือนขนาดใหญ่ 87.5% เฉลี่ยของทั้งสองด้านของซองบุหรี่ พื้นที่ซองส่วนที่เหลือให้พิมพ์ได้เฉพาะชื่อยี่ห้อบุหรี่ ด้วยตัวอักษรขนาดเดียวกัน บนพื้นซองสีเขียวมะกอกเหมือนกันทุกยี่ห้อ

ห้ามพิมพ์เครื่องหมายการค้า สัญลักษณ์ หรือโลโก้ใดๆ บนพื้นที่ซองบุหรี่ เพราะหลักฐานการวิจัยพบว่า ซองบุหรี่ เป็นสื่อโฆษณาที่สำคัญที่สุด เนื่องจากการที่ประเทศต่างๆ ห้ามโฆษณาสินค้ายาสูบทุกรูปแบบ ซองบุหรี่จึงเป็นช่องทางโฆษณาที่เข้าถึงผู้สูบบุหรี่ และผู้ที่อาจจะเป็นลูกค้าคนใหม่

แนวทางที่ว่านี้ยังไปเข้าตา องค์การอนามัยโลก พร้อมทั้งออกอนุสัญญาควบคุมยาสูบ มีแนวปฏิบัติว่า ประเทศต่างๆควรกำหนดให้ซองบุหรี่เป็นแบบเรียบเหมือนกับออสเตรเลีย เพื่อขจัดบทบาทของซองบุหรี่ในการเป็นสื่อโฆษณา และเพื่อทำให้ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ปรากฏเด่นชัด และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“เมื่อเห็นท่าไม่ดี บริษัทบุหรี่ข้ามชาติสามบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง ฟิลลิป มอร์ริส, บีเอที และเจทีไอ จึงเดินหน้าฟ้องศาลออสเตรเลียเพื่อยับยั้งกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ แต่ศาลยกฟ้อง”

ทว่า...บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ยังไม่ยอมแพ้ เดินหน้าฟ้องต่อไปที่อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี ออสเตรเลีย ฮ่องกง และรัฐบาลยูเครน ฮอนดูรัส โดมินิกัน รีพับลิก คิวบา และอินโดนีเซีย ฟ้องไปที่องค์การการค้าโลก เพื่อให้วินิจฉัยว่าซองบุหรี่แบบเรียบขัดกับข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก

แต่ดูเหมือนว่ากระแสการออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบจะยับยั้งไม่อยู่เสียแล้ว เมื่ออียูระบุว่า กฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบไม่ขัดต่อกฎหมายอียู ทำให้สมาชิกประเทศอียูอย่าง อังกฤษ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ รวมไปถึงประเทศนิวซีแลนด์ ประกาศเดินหน้าออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ เพื่อใช้ในประเทศของตน

โดยเฉพาะที่อังกฤษ รัฐบาลอังกฤษได้มอบหมายให้เซอร์ไซรีล แซนต์เลอร์ นักวิชาการ วิเคราะห์งานวิจัยทั้งหมดเกี่ยวกับซองบุหรี่แบบเรียบ ซึ่งได้สรุปรายงานต่อรัฐบาลอังกฤษเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2557 ว่า ซองบุหรี่แบบเรียบมีผลต่อการลดการสูบบุหรี่ ทำให้รัฐบาลอังกฤษเชื่อมั่นในการที่จะผลักดันกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบให้ออกมาบังคับใช้ภายในปีนี้ และรัฐบาลสภาอังกฤษโหวตผ่านร่างกฎหมายเด็กและครอบครัว (Children and Families Act) ซึ่งบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กจากยาสูบ มาตรา 60 กำหนดให้ใช้ซองบุหรี่แบบเรียบด้วยคะแนนเสียง 453 ต่อ 24 เสียง เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2557

การบิดเบือนข้อเท็จจริงเรื่องบุหรี่ซองเรียบ เป็นอีกหนึ่งแนวทางของบริษัทบุหรี่ในการให้ข้อมูลที่ผิดๆเกี่ยวกับบุหรี่ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีแล้ว เพื่อหวังผลในการขัดขวางล้มล้างนโยบายหรือกฎหมายควบคุมยาสูบของประเทศต่างๆ โดยก่อนหน้านี้ บริษัทบุหรี่ยังมีการใช้ข้อมูลในเชิงวิจัย บิดเบือนอันตรายของควันบุหรี่มือสอง ด้วยการทำงานร่วมกับนักวิชาการของมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย และออกข่าวว่ายังไม่มีความชัดเจนของอันตรายของควันบุหรี่มือสอง ไม่จำเป็นที่จะต้องห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ ผู้สูบบุหรี่กับผู้ไม่สูบควรจะอยู่ด้วยกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

ซึ่งสวนทางกับรายงานของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ.2529 ที่สรุปว่า ควันบุหรี่มือสองทำให้เกิดมะเร็งปอด และโรคทางเดินหายใจในเด็ก และศาลกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ยังได้ตัดสินเมื่อ พ.ศ.2549 และศาลอุทธรณ์ยืนคำตัดสินเมื่อ พ.ศ.2552 ว่า บริษัทบุหรี่ ฟิลลิป มอร์ริส บริษัทบริติชอเมริกัน โทแบคโก กับอีกห้าบริษัทบุหรี่ในสหรัฐอเมริกา ได้กระทำการละเมิดกฎหมายว่าด้วยองค์กรผู้มีอิทธิพลและคอร์รัปชัน (Racketeer Influences and Corruption Organization (RICO) Act) เทียบได้กับกฎหมายความผิดฐานอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 ของไทย

...จากการที่บริษัทเหล่านี้กระทำการหลอกลวงประชาชน บิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอันตรายของควันบุหรี่มือสอง จงใจทำให้บุหรี่เสพติด ติดมากขึ้น โดยการเติมสารนิโคตินในการผลิตบุหรี่ และทำการตลาดที่พุ่งเป้าไปที่เด็กมาตลอดระยะเวลา 40 ปี และศาลมีคำสั่งให้บริษัทฟิลลิป มอร์ริส เยียวยาด้วยการประกาศต่อสาธารณะผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เพื่อแก้ไขสิ่งที่ได้หลอกลวงประชาชนไว้ และห้ามทำความผิดซ้ำอีก

แม้แนวทางต่างๆ ของบริษัทบุหรี่ จะถูกตอกกลับมาตลอดว่ามีการให้ข้อมูลเท็จ แต่ ศ.นพ.ประกิต ก็ยังเชื่อว่า บริษัทบุหรี่จะยังไม่ยอมแพ้ และปรับกลยุทธ์อยู่ตลอด จนปัจจุบันบริษัทบุหรี่จะใช้ 2 แนวทางหลักๆ ในการต่อสู้ คือ ประสิทธิภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ที่เป็นรูปภาพ รวมถึงซองบุหรี่แบบเรียบ กับประเด็นผลกระทบจากการขึ้นภาษียาสูบ อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทบุหรี่จะยังคงรุกหนักอย่างต่อเนื่อง แต่นั่นคือนิมิตหมายที่ดีของผู้ที่ทำงานด้านบุหรี่

“บทเรียนการควบคุมยาสูบตลอด 50 ปีที่ผ่านมาสรุปได้ว่ามาตรการควบคุมยาสูบใดก็ตาม ที่บริษัทบุหรี่ออกมาคัดค้านอย่างแข็งขันแสดงว่ามาตรการนั้นได้ผล...ทำให้การสูบบุหรี่ลดลง”

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวทิ้งท้าย.