ราวปลายเดือนพฤษภาคม 2557 “เครือข่ายผู้ประกอบการฟาร์มไก่เนื้อในระบบพันธสัญญา (คปกพ.)” กว่า 200 ราย ใน 5 จังหวัด... ชัยภูมิ ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครราชสีมา เพชรบูรณ์ ได้รับความเดือดร้อนจากการเลี้ยงไก่เนื้อ “ระบบเกษตรพันธสัญญา” กับ บริษัท สหฟาร์ม จำกัด และ บริษัท โกลเด้นไลน์บิสซิเนส จำกัด
ปมปัญหา...เนื่องจากบริษัทค้างจ่ายเงินเกษตรกร โดยบริษัทอ้างว่าประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน จนมีการยื่นคำร้องศาลล้มละลายกลาง เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 10 ม.ค.57
“เครือข่ายผู้ประกอบการฟาร์มไก่เนื้อในระบบพันธสัญญา” พยายามเดินทางเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องในแต่ละจังหวัด เพื่อให้ช่วยเหลือ ติดตามการแก้ไขปัญหา
ความเดือดร้อนเร่งด่วน...เกษตรกรได้ใช้หลักทรัพย์กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน เพื่อจัดสร้างฟาร์ม วัสดุอุปกรณ์ ปัจจัยการผลิต รวมทั้งค่าจ้างแรงงาน เมื่อบริษัทค้างจ่าย...เกษตรกรจึงขาดทุนหมุนเวียน
ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้สิน จนกลายสภาพเป็นลูกหนี้ผิดนัด ถูกปรับดอกเบี้ยเดิมเป็นดอกเบี้ยปรับ ถูกฟ้องร้อง ถูกยึดทรัพย์ รื้อโรงเรือนเลี้ยงไก่ขายหรือขายฟาร์ม
เกษตรกรบางรายก็หันไปเลี้ยงไก่กับบริษัทรายใหม่ กู้ยืมเงินนอกระบบเอามาปรับปรุงโรงเรือน ตามเงื่อนไขบริษัทใหม่ ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก...ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เพราะขาดเงินทุน
ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (Thailand Information Center For Civil Rights and Investigative Journalism) เว็บไซต์ tcijthai.com เปิดสัญญา “สหฟาร์ม” พบว่า ให้อำนาจบริษัทผู้ขาดวัตถุดิบ...ราคา สามารถบอกเลิกสัญญาก่อนได้ ขณะที่ฟากเกษตรกรไร้อำนาจต่อรอง และไม่เห็นสัญญาก่อนเซ็น
...
ที่สำคัญ...บอกเลิกไม่ได้เพราะลงทุนไปแล้ว และกลัวถูกฟ้อง
ข้อมูลสถิติการเกษตร พบว่า ในปี 2556 ประเทศไทยมีการผลิตไก่เนื้อในรูปแบบ “พันธสัญญา” หรือ “คอนแทรคท์ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming)” มากถึง 235,595,019 ตัว...บริษัทสหฟาร์มคือผู้ผลิตและส่งออกไก่เนื้อรายใหญ่อันดับ 2 ของไทย รองจากเครือเจริญโภคภัณฑ์
ทว่า...นับจากบริษัทสหฟาร์มประกาศปิดกิจการโรงงานชำแหละไก่ 2 แห่งที่ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ และ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ราวกลางปีที่แล้วจากปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินและหนี้สินกว่า 11,700 ล้านบาทกับสถาบันการเงิน 8 แห่ง ไม่นับรวมหนี้สินที่ติดค้างกับเกษตรกรอีกกว่า 385 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี เกษตรกรจำนวนหนึ่งยังคงทำการเกษตรในระบบพันธ–สัญญาต่อไป คำถามตามมามีว่า เหตุใดเกษตรกรเหล่านั้นยังคงเชื่อมั่นในระบบเกษตรพันธสัญญาที่งานศึกษาหลายชิ้นยืนยันว่า หากสายป่าน
ไม่ยาวพอ อาจกลายเป็นบ่วงรัดคอเกษตรกรเองจนสิ้นเนื้อประดาตัว
ย้อนกลับไปก่อนวันทำสัญญา นายอิน (นามสมมติ) หนึ่งในเกษตรกรผู้เป็นเจ้าหนี้ ที่ยังไม่ได้รับเงินค่าไก่กว่า 4 ล้านบาท เล่าว่า หากเป็นไปได้จะไม่เซ็นสัญญา แต่เพราะไม่ได้เห็นสัญญาก่อนเข้าร่วมธุรกิจ มีเพียงสัญญาปากเปล่า และการตระเวนพาไปดูงานตามฟาร์มเลี้ยงไก่ของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น
ด้วยความเชื่อมั่นในระบบการเลี้ยงที่ได้ไปเห็น และคาดหวังถึงผลกำไรที่บริษัทให้คำมั่นว่าจะคืนทุนภายใน 3 ปี เงินจำนวนหลายล้านบาทจึงถูกกู้ยืมมาเพื่อสร้างโรงเรือนรอเลี้ยงไก่ ผ่านธนาคารที่ทำข้อตกลงกับบริษัทไว้ว่า หากเป็นเกษตรกรในระบบพันธสัญญาของบริษัทสหฟาร์ม สามารถอนุมัติสินเชื่อในวงเงินนั้นๆได้
จนกระทั่งวันที่โรงเรือนแล้วเสร็จ นายอินจึงได้เห็นสัญญา เมื่อได้อ่านแล้วจึงรู้ว่าตนเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่จะถอยก็ไม่ได้เพราะได้ลงทุนไปทั้งหมดแล้ว
“เปิดสัญญาทาส บ่วงรัดคอเกษตรกร” TCIJ ได้ดูคู่สัญญาจากนายอิน พบว่า รายละเอียดต่างๆ ในสัญญากำหนดให้บริษัทสามารถผูกขาดการผลิต โดยการเป็นผู้กำหนดวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตแต่ผู้เดียว ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ลูกไก่ อาหาร ยา วัคซีน รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาใช้เลี้ยงไก่
แม้สัญญาจะระบุว่า บริษัทจะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตในอนาคต แต่นายอินกับเกษตรกรอีกสองสามรายตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงแรกจะให้วัตถุดิบ พันธุ์ลูกไก่ที่มีคุณภาพดี แต่หลังจากนั้นสองสามครั้งดูเหมือนคุณภาพของวัตถุดิบและพันธุ์ลูกไก่ที่ได้รับจะต่ำลง เช่น อาหารสำหรับลูกไก่ที่ไม่ทำให้ไก่โตเร็วเท่าอาหารในงวดก่อนๆ
ไม่เพียงเท่านั้น นายอิน ยังบอกว่า บริษัทมักใช้วิธีเลื่อนวันจับไก่ให้ช้ากว่าเดิม โดยอ้างเหตุผลว่าเกินความต้องการของตลาด ทำให้ต้องจ่ายค่าอาหารเพื่อเลี้ยงไก่ต่อ...“เมื่อถึงวันที่บริษัทมารับไก่ แทนที่เกษตรกรจะได้ราคาสูงขึ้นตามน้ำหนัก บริษัทกลับอ้างมาตรฐานที่ระบุไว้ตามสัญญา ตัดราคาไก่จนต่ำกว่าท้องตลาด”
ถึงในสัญญาจะระบุว่า บริษัทจะซื้อไก่เราจริงตามราคาที่ตกลงกันไว้ แต่พอถึงเวลาจับไก่ ก็มีลูกเล่นต่างๆ กับเรา เช่น มาจับช้า อ้างว่าตอนนี้จับไก่ขายไม่ได้เพราะยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาด แต่ไก่ของเราน้ำหนักตรงตามเกณฑ์ที่เขียนในสัญญาแล้ว...พอถึงเวลามาจับอีกครั้งไก่มันก็โตขึ้น
แทนที่ไก่เราจะได้ราคาสูงขึ้นตามน้ำหนักตัว กลับถูกตัดราคาให้เหลือเท่าเดิม อ้างว่าไก่ตัวโตเกินไป...หรือคิดจะเอาไปขายที่อื่นก็ไม่ได้ เพราะถ้าบริษัทจับได้เราจะถูกบอกเลิกสัญญาทันที
TCIJ ยังอ้างถึงงานวิจัยเรื่อง “สัญญาที่ไม่เป็นธรรมในคอนแทรคท์ ฟาร์มมิ่ง : ศึกษากรณีการเลี้ยงไก่เนื้อ” ของ ศรีภูพาน สุพรรณไชย-มาตย์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุข้อค้นพบจากการศึกษาว่า สัญญาเลี้ยงไก่เนื้อมีสองรูปแบบ ได้แก่ แบบรับจ้างเลี้ยง และ แบบประกันราคา
ซึ่งต่างมีลักษณะทางกฎหมายเฉพาะและมีนิติสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนมากกว่าเอกเทศสัญญา จึงถือเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่มีวัตถุประสงค์แบบผสม ซึ่งเป็นสัญญาที่ไม่มีชื่อประเภทหนึ่ง ที่ต้องบังคับตามหลักทั่วไปเรื่องหนี้และนิติกรรมสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
รูปแบบสัญญาของบริษัทสหฟาร์มที่นำมาใช้นั้นเป็น “สัญญาสำเร็จรูป” ที่ฝ่ายบริษัทกำหนดสัญญาไว้เป็นการล่วงหน้า โดยที่เกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรองเพื่อขอแก้ไขสัญญา ลักษณะดังกล่าวถือว่าขัดกับ“หลักเสรีภาพในการทำสัญญา” ที่ระบุให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีสิทธิเลือกทั้งรูปแบบและวัตถุประสงค์ของสัญญาก่อนการทำสัญญา และหากพิจารณาจากพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 พบว่าข้อสัญญาบางข้อมีลักษณะเป็นการเอาเปรียบหรือผลักภาระมากเกินสมควร เช่น ให้สิทธิบริษัทเลิกสัญญาฝ่ายเดียว เกษตรกรมีหน้าที่รับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด เกษตรกรไม่มีสิทธิรู้วิธีการคำนวณราคา
ถึงตรงนี้สำหรับบริษัทไหนที่อ้างว่า...สัญญาเป็นความลับ เปิดเผยไม่ได้ เพราะกลัวคู่แข่งจะลอกเลียนแบบ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ กล่าวสั้นๆไว้ว่า เป็นเรื่องเหลวไหล คุณจะทำธุรกิจยังไงบนความเคลือบแคลงสงสัย?
“คอนแทรคท์ฟาร์มมิ่ง” ไม่ใช่เป็นความชั่วร้าย แต่ภาครัฐหรือองค์กรที่เป็นกลางจะต้องเข้ามาติดตามดูแล คอยควบคุมกำกับ สัญญากลางจะต้องเป็นยังไง เมื่อมีความเสี่ยงคู่สัญญาเกิดความเสียหาย จะต้องชดเชย หรือไม่ต้องชดเชยอย่างไรบ้าง หรือการให้ลงทุนระยะยาว แต่สัญญาเป็นระยะสั้นเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน
สัญญาคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่งที่ลึกลับ...อาจตีความได้ว่าเป็นความไม่โปร่งใส เป็นสัญญาทาสที่พ่อค้าเจ้าสัวเอาไว้อิงแอบเบียดบัง หากินกับหยาดเหงื่อเกษตรกร.