คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ออกประกาศฉบับที่ 88 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ...
วันที่ 14 ก.ค. คสช. ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 88/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติเพื่อปรับปรุงระบบการบริหารบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เกิดประสิทธิภาพมีความคล่องตัวในการปฏิบัติหน้าที่มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านความมั่นคง และการอำนวยความยุติธรรม อันจะส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนโดยส่วนรวม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีประกาศดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 17 ” ให้ ก.ต.ช. ประกอบด้วย
(1) นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ
(2) รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ
(3) ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
(4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับการเลือกจากวุฒิสภาจำนวนสอง คน
ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ประธานกรรมการโดยคำแนะนำของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจตรีขึ้นไปจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (3) ของมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
...
“(3) พิจารณาดำเนินการคัดเลือกข้าราชการตำรวจเพื่อดำเนินการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเสนอ “
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ มาตรา 30 ให้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “ก.ตร.” ประกอบด้วย
(1)นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ
(2) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ
(3) เลขานุการ ก .พ. จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการข้าราชการตำรวจโดยตำแหน่ง
(4) กรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับการเลือกจากวุฒิสภาจำนวนสองคน
ให้ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นเลขานุการและรองผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นผู้ช่วยเลขานุการ”
ข้อ 4 ให้ยกเลิกความใน (1) ของมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(1) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44 (1) ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติหรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วเสนอ ก.ต.ช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง”
ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
มาตรา 54 การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่มาตรา 44 (5) ลงมาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44 (5) และ (6) ให้ดำเนินการดังนี้
(ก) ในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
(ข) ในกองบัญชาการที่มิได้สังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ผู้บัญชาการคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจในกองบัญชาการนั้นเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเสนอ ก.ตร. ให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
(2) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44 (7) และ (8) ให้ดำเนินการดังนี้
(ก)ในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้ง
(ข)ในกองบัญชาการที่มิได้สังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ผู้บัญชาการคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจในกองบัญชาการนั้นเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเสนอ ก.ตร. ให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้ผู้บัญชาการเป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้ง
(3) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44 (9) ลงมาในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้สั่งแต่งตั้งส่วนในกองบัญชาการที่มิได้สังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ผู้บัญชาการเป็นผู้สั่งแต่งตั้ง
ในกรณีเป็นการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งจากส่วนราชการหนึ่งไปอีกส่วนราชการหนึ่งให้หัวหน้าส่วนราชการทำความตกลงกัน แล้วให้หัวหน้าส่วนราชการที่จะประสงค์จะแต่งตั้งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการตาม (1)(2) หรือ (3) แล้วแต่กรณี”
ข้อ 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 33 ถึงมาตรา 41 มาตรา 55 และมาตรา 57 วรรคสองและวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547
ข้อ 7 ให้ ก.ต.ช. และ ก.ตร. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง
ข้อ 8 ในระหว่างที่ยังไม่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 17 (4) ให้ ก.ต.ช. ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ
ข้อ 9 ในระหว่างที่ยังไม่มีกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 30 (4) ให้ ก.ตร. ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ เลขาธิการ ก.พ. จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการข้าราชการตำรวจโดยตำแหน่ง
ข้อ 10 การใดอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ แต่การดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ ให้ ก.ต.ช. ตามข้อ 1 หรือ ก.ตร. ตามข้อ 3 แล้วแต่กรณี พิจารณาดำเนินการตามสมควร
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ