คงเป็นปฏิกิริยาสังคมที่เกิดความรู้สึกขาดที่พึ่งหวังในเรื่องความปลอดภัยของชีวิตจึงเสนอทางออกด้วยมาตรการทางกฎหมายที่รุนแรงคือการ “ประหารชีวิต” สำหรับเด็กสาวหรือสตรีที่ถูกข่มขืนจากการทารุณกรรมเพียงสถานเดียว

นั่นเป็นเหตุมาจากกรณี “น้องแก้ม” นักเรียนสาววัย 13 ปี ที่ถูกทำร้ายและข่มขืนในตู้นอนรถไฟระหว่างเดินทางจากนครศรีธรรมราชเข้ากรุงเทพฯแล้วโยนศพออกนอกรถสร้างความสะเทือนใจให้กับครอบครัวและผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก

ว่าที่จริงคดีในลักษณะนี้มีโทษถึงประหารชีวิตอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าการพิจารณาคดีในลักษณะนี้ผู้กระทำผิดมักจะถูกลงโทษไม่ถึงขั้นนั้น แม้จะถูกจำคุกแต่ไม่นานก็จะพ้นโทษหรือลดโทษ

ตรงนี้กระมังที่ทำให้รู้สึกว่าไม่เด็ดขาดจริง ไม่ทำให้เข็ดหลาบ

ประเด็นนี้มีมุมมองที่ต่างกันมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ที่ไม่เห็นด้วยก็ให้เหตุผลว่า รุนแรงเกินไปต้องดูที่ปูมประวัติของผู้กระทำผิดด้วย

ความจริงที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องร่วมกันคิดโดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องนำไปขบคิดและทำให้เกิดความเชื่อถือว่าเป็นที่พึ่งได้จริงๆ ทำให้ผู้กระทำผิดไม่กล้าที่จะก่อเหตุในลักษณะนี้อีก

นั่นเป็นประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้น

แต่ในอีกประเด็นหนึ่งก็คือการมองไปที่อีกเหตุหนึ่งในฐานะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งรับผิดชอบเพราะเป็นผู้ดูแลการเดินรถไฟ การรักษาความปลอดภัยต่อผู้โดยสารที่มาใช้บริการไม่ว่าจะเป็นตู้นอนหรือตู้ธรรมดา

หน้าที่สำคัญก็คือการอำนวยความสะดวก การบริการ การเดินรถให้ตรงเวลาและดูแลให้ความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

จริงๆแล้วการเดินทางโดยรถไฟนั้นถือว่ามีความปลอดภัยมากกว่าเดินทางโดยรถยนต์ หรือเครื่องบิน แม้ว่าการบริการจะไม่ค่อยดีนักแต่ก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าราคาไม่แพงนัก และเชื่อว่าไม่น่าจะมีเหตุอย่างที่เกิดขึ้น

...

ทว่าก็เกิดขึ้นมาจนได้

ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกอย่างที่นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรถไฟจีบปากจีบคอบอกแต่เกิดมาหลายครั้ง เพียงแต่เจ้าทุกข์ไม่กล้าพูดไม่กล้าบอกเพราะมีความอับอายและเกรงว่าจะได้รับอันตราย

แม้กระทั่งนายวันชัย แสงขาว ผู้ต้องหารายนี้ยังยอมรับว่าข่มขืนพนักงานของการรถไฟเองมาแล้ว 2 คน แต่ผู้ถูกกระทำไม่กล้าเปิดเผยทั้งๆที่เจ็บปวดในหัวใจ

นายประภัสร์ระบุตั้งแต่แรกว่าผ้าปูที่นอนยังอยู่ไม่ได้หายไปไหน นอกจากบอกว่าไม่เคยมีเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของ รฟท.

หนักไปกว่านั้นบอกว่านายวันชัยไม่ได้เป็นพนักงานรถไฟ แต่เป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่รับจ้างมาทำความสะอาด

ความจริงกลับปรากฏว่านายวันชัยนั้นเป็นพนักงานรถไฟและยังเคยต้องคดียาเสพติดมาแล้ว นอกจากนั้นยังกลับมาติดยาและดื่มเหล้าบนรถไฟขณะปฏิบัติหน้าที่ด้วย

คือไม่รู้อะไรแต่ก็พยายามปกป้องเจ้าหน้าที่เอาไว้ก่อน

ด้วยคิดว่าหากปัดประเด็นเหล่านี้ออกไปอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ไม่พอจะทำให้สถานการณ์ของตัวเองและการรถไฟดีขึ้นไม่ต้องรับผิดชอบ จึงยืนยันว่าจะไม่ลาออกแต่ขอแก้ไขปัญหาก่อนจากนั้นก็บอกว่าจะเพิ่มพนักงาน ตรวจสอบประวัติ ติดกล้องวงจรปิด ห้ามดื่มสุราบนรถไฟ

อ้างเหตุไม่ต่างไปจากกรณีรถไฟตกรางเป็นรายวัน แต่ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น ในฐานะผู้ว่าฯ รฟท.ที่ควรจะมีสำนึกต่อผลที่เกิดขึ้นนั่นคือการลาออกไปได้แล้ว

คุณเป็นใครมาจากไหนรู้กันดีอยู่ แต่ขอโทษทีวันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว.

“สายล่อฟ้า”