ดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์ พืช สะท้อนประเด็นไม่ชอบมาพากลให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองตรวจสอบ “โครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย”

โครงการนี้ตั้งไข่มาตั้งแต่ปี 2552 สมัยนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมีปลัดกระทรวงในสมัยนั้นคือนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ได้จัดตั้งโครงการนี้ขึ้นมา ใช้งบประมาณของกองทุนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ใครๆก็รู้ว่ากองทุนนี้มีงบประมาณมาก แต่การนำเอางบออกมาใช้นั้นทำได้ยากเพราะต้องผ่านคณะกรรมการหลายคนจนไม่มีใครกล้าที่จะขอ แต่ด้วยความสามารถไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าทำให้การเจรจาสำเร็จ คณะกรรมการเห็นชอบ และนำเข้าคณะรัฐบาล...เห็นชอบในที่สุด

ข่าววงในที่เล่าลือกันในช่วงเวลานั้น “โครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย” กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เชิญบริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด มาร่วมประมูล และในท้ายที่สุดบริษัทนี้ก็ได้รับการประมูลงานได้

...

ลงนามสัญญาวันที่ 16 กันยายน 2552 ตามสัญญาเลขที่ 0201.2/101/2552 ระหว่างสำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับบริษัทฯ

แน่นอนว่า...การได้งานนี้เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกครหา เล่าลือกันไปต่างๆนานาถึงสายสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทแน่นกับใครบางคนที่ยิ่งใหญ่ มีอำนาจ...ที่สำคัญลือกันหนาหูว่า หลังเซ็นสัญญาแล้วมีเงินทอนกระเด็นไปติดกระเป๋าใคร

บางคนเป็นขวัญถุงก้อนแรก 300 ล้านบาท...และอีกก้อนหลังเบิกจ่ายงวดสุดท้ายสูงถึง 500 ล้านบาท

“เรื่องนี้...จริงไม่จริงอย่างไร คงต้องให้ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้อง เข้ามาตรวจสอบพิสูจน์หาความจริงกันต่อไป” ดำรงค์ ว่าพุ่งเป้าจับตาไปที่รายละเอียดโครงการจ้างที่มีวัตถุประสงค์ 3ประการ นั่นก็คือ

1. เพื่อดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลแนวเขตที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ

2. เพื่อจัดทำฐานข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ.ต่างๆ

3. เพื่อศึกษารูปแบบ ออกแบบ จัดทำฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศภูมิประเทศ

ขอบข่ายงานทั้งหมดนี้ จัดจ้างในวงเงินทั้งสิ้น 2,254,000,000บาท หรือ 2,254 ล้านบาท...ระยะเวลาเสร็จสิ้นภายใน 730 วันหรือราวๆ2ปี

วันเวลาผ่านไป งานเริ่มดำเนินการมา 1 ปีกว่าๆ...ปลัดกระทรวงฯ ประสบอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่จังหวัดน่าน ทำให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต้องเร่งแต่งตั้งปลัดกระทรวงคนใหม่ขึ้นมาแทน ดำรงค์ บอกว่า ที่ต้องกล่าวถึงเพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นร้อนในช่วงเวลานั้น เรียกว่าร้อนแบบช็อกไปทั้งกระทรวงฯ

เมื่อรัฐมนตรีฯ ตั้งนายโชติ ตราชู มาดำรงตำแหน่ง โดยที่ไม่เคยเป็นผู้ตรวจ หรือเป็นรองปลัดกระทรวงมาก่อน...จากอธิบดีกรม น้ำบาดาล ขึ้นมาเป็นปลัดกระทรวงฯทันที ผิดความคาดหมาย...กระโดดข้ามหัวรองปลัด 3 คนที่มีอาวุโสสูงสุด

แล้วเรื่องร้อนๆสวนกระแสก็ผ่านไป ปลัดฯ คนใหม่เดินหน้าทำงานสานงานต่อโครงการ แล้วราวๆเดือนกรกฎาคม 2554 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้งหลังจากที่มีการเลือกตั้งใหม่

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รัฐมนตรีคนใหม่ คือ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข...ได้แต่งตั้งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช คือ นายดำรงค์ พิเดช

จึงได้รู้ว่าในสัญญาเบิกเงิน “โครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย” ให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานตรวจรับงานโดยตำแหน่งสัญญาใกล้หมดเวลาเหลืออีกแค่ 10 วัน...เบิกจ่ายกันไปแค่ 3งวดเหลือ

อีก 7 งวดเป็นเงินพันกว่าล้านบาท วันที่ 6 กันยายน 2554 เมื่อรู้ว่าต้องเป็น ประธานตรวจรับงานโครงการนี้เลยมีข้อสงสัย จึงเรียก ผอ.สำนักต่างๆ

ทั่วประเทศมาประชุม สอบถามถึงโครงการนี้ว่ามีการดำเนินการในพื้นที่ภาคสนามหรือไม่ อย่างไร

“ปรากฏว่า ผู้อำนวยการสำนักทั่วประเทศต่างแจ้งว่าไม่มีการลงภาคสนามในพื้นที่จริง...เพียงแค่เรียกเอาแผนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆมาเปรียบเทียบ...นำมาเป็นข้อมูลเท่านั้น”

ดำรงค์ พิเดช จึงทำหนังสือเป็นทางการถึงผู้อำนวยการสำนักทั่วประเทศอีก...สำนักต่างๆตอบยืนยันกันมาว่า ไม่ได้ลงพื้นที่ภาคสนามแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าเป็นการทำงานแบบเอื้อประโยชน์หรือไม่?

“บริษัทฯแทบไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่เรียกประชุม...

นำแผนที่บางส่วนกรมต่างๆที่ทำไว้แล้วมาเขียนลงภาพถ่ายทางอากาศใหม่กระนั้นหรือ...คุ้มค่ากับเงินจ้างสองพันกว่าล้านฯ หรือเปล่า”

ความไม่ชอบมาพากลที่พบ ในที่สุด ดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในขณะนั้นได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นประธานตรวจรับงาน และกรรมการตรวจรับงานบางส่วนก็ลาออกตาม

พร้อมๆกับทำเรื่องยื่น ป.ป.ช. สตง. ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาแต่ เรื่องก็เงียบหาย

แน่นอนว่าต้องถามย้อนกลับไปถึงต้นสายปลายเหตุด้วยว่า ผู้ใหญ่

เจ้ากระทรวง ท่านปลัดฯ โชติ ตราชู...ไม่ระแคะระคายเรื่องใหญ่แบบนี้บ้างเลยหรือ?

ถึงตรงนี้ขอให้ผู้มีอำนาจในแผ่นดินเข้ามาตรวจสอบข้าราชการ

ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เงิน 2,254 ล้านฯ นำมาใช้จริงเท่าไหร่ เหลือเท่าไหร่... หลุดเล็ดเข้ากระเป๋าใครไปบ้าง มากน้อยแค่ไหน...อย่างไร

โครงการฯ สิ้นสุดสัญญาวันที่ 16 กันยายน 2554 ในสัญญายังระบุว่า หากไม่ดำเนินการทันตามสัญญา 730 วัน...ให้ปรับวันละ 225,400บาท

แต่ลงนามคำสั่งเสร็จโครงการวันที่ 19 มีนาคม 2556...เกินสัญญานานกว่าหนึ่งปี วันเวลาผ่านมาถึงวันนี้ ในฐานะอดีตข้าราชการคนหนึ่งได้รู้ได้เห็น ความไม่ชอบมาพากลบางอย่าง คงต้องถามย้ำว่า ท่านปลัดฯ ที่มีอำนาจเต็มมือได้จัดการอะไรไปบ้าง รักษาผลประโยชน์ทางราชการบ้างไหม

ดำรงค์ บอกอีกว่า ตามหลักแล้วการทำแผนที่การทำแนวเขตป่าจำเป็นอย่างมากที่จะต้องลงภาคสนามเพื่อข้อมูลที่แท้จริง นำมาเป็นข้อมูลในการปรับปรุงแนวต่อไป จะเห็นได้ว่าเป็นการดำเนินงานที่ง่ายและมีค่าใช้จ่าย น้อยมาก ที่จริงแทบไม่ต้องจ้างบริษัท เพียงแต่ออกคำสั่งกระทรวงฯ ให้กรมที่เกี่ยวข้องไปสำรวจ

“ปกติกรมต่างๆก็ดำเนินการอยู่แล้ว แต่การไปใช้งบกองทุนสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ผิดสังเกต...ที่สำคัญเป็นการใช้งบประมาณมากอย่างสูญเปล่าหรือไม่”

ฉากจบ...การเร่งรีบสรุปปิดโครงการให้เสร็จสมบูรณ์ โดยไม่มีการติดตามใดๆเป็นพิรุธสำคัญ ทั้งๆที่กระทรวงฯ ควรจะต้องตรวจสอบหรือมีหนังสือไปยังกรมต่างๆที่เกี่ยวข้องว่าข้อมูลที่ได้มาใช้ได้หรือไม่ หรือจะแก้ไขอะไรบ้าง...

“ความจริง” ก็คือ “ความจริง”...ผู้ที่เกี่ยวข้องคงปฏิเสธความรับผิดชอบเหล่านี้ไม่ได้.