ตรงกับคำพังเพย “น้ำลดตอผุด” พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงว่า จากการตรวจสอบคดีสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงการชุมนุมทาง

การเมืองของกลุ่ม กปปส. ได้รับรายงานว่ามี ความคืบหน้า 17 คดี หลายคดีมีหลักฐานชัดเจนว่า เป็นการกระทำของกลุ่มเสื้อแดงหรือ นปช.อยู่เบื้องหลัง และสนับสนุนการทำผิดทั้งหมด

รอง ผบ.ตร.ยกตัวอย่างคดีที่กลุ่มกปปส.ถูก นปช.กระทำ เช่น คดีระเบิดที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ระเบิดที่ถนนบรรทัดทอง และยิงเวที กปปส.ที่จังหวัดตราด จากการสืบสวนพบว่า บางคดีมีตำรวจสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และช่วยเหลือทั้งก่อนและหลังการทำผิด รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า ทุกคดีต้องคืบหน้าใน 7 วัน “เพราะตอนนี้ทำงานโดยไม่มีข้อจำกัดแล้ว”

แสดงว่าก่อนเกิดรัฐประหารโดยคสช. ตำรวจทำงานโดยมีข้อจำกัด น่าสนใจว่า “ข้อจำกัด” คืออะไร? ถูกใครสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตหรือไม่? ในช่วงการชุมนุม 6 เดือน มีการยิงระเบิดโครมๆ แทบจะรายวัน เสียชีวิต 28 ศพ บาดเจ็บเกือบ 800 คน แต่จับมือใครดมไม่ได้ เพราะใบสั่งใครหรือไม่?

สังคมไทยในขณะนี้ มีการกล่าวหากระบวนการยุติธรรมว่าเลือกปฏิบัติ หรือปฏิบัติสองมาตรฐาน แต่ส่วนใหญ่มักจะพุ่งไปที่องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตรวจการใช้อำนาจของนักการเมือง เช่น ป.ป.ช.ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่ง

ทั้งสองกรณีทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่กระบวนการยุติธรรมมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดนหนักที่สุดคือศาล ซึ่งอยู่ปลายน้ำ จนลืมไปว่ากระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ คือตำรวจกับกรมสอบสวนคดีพิเศษก็ถูกกล่าวหาว่าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา และรับใช้นักการเมือง

...

คำแถลงของรอง ผบ.ตร.เป็นหลักฐานยืนยันคำกล่าวหาข้างต้น และตอบคำถามว่าในช่วงการชุมนุมทางการเมือง 6 เดือน มีเหตุร้ายแทบจะรายวัน มีบาดเจ็บ และล้มตายเป็นอันมาก และมีตำรวจถูกระดมจากทั่วประเทศหลายหมื่นคน แต่จับมือใครดมไม่ได้ เพราะมีตำรวจอยู่เบื้องหลัง ตำรวจดีๆไม่กล้าพูดกล้าทำ เพราะน้ำท่วมปาก

แต่ต้องถือว่ายังเคราะห์ดีที่ คสช.ทำให้น้ำลดและตอผุด คดีต่างๆจะไม่ต้องจมอยู่ใต้น้ำชั่วนิรันดร์กาล เรื่องนี้เป็นหลักฐานชัดเจนแสดงว่า ถ้าจะวิจารณ์กระบวน การยุติธรรม ต้องมองให้ครบถ้วน ไม่ใช่เพ่งเล็งแต่ปลายน้ำ และถ้าจะปฏิรูปกระบวน การยุติธรรม ก็ต้องปฏิรูปให้ครบถ้วนทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่ใช่ปลายน้ำอย่างเดียว.