มติ "ศาลรธน." เอกฉันท์ "นายกฯ-รมต." ร่วมพิจารณาโยกย้าย "ถวิล" สิ้นสุดสถานะความเป็นรัฐมนตรีเฉพาะตัว
วันที่ 7 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย คดีคำร้องที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาสถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่
จากกรณีแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยพิจารณาใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.หลังยุบสภาความเป็นรัฐมนตรี หรือ รมต. ของ นางสาวยิ่งลักษณ์ พ้นไปหรือไม่ 2.การโยกย้าย นายถวิล ขัด รธน.ให้พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ 3.คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.พ้นตำแหน่งหรือไม่ โดยมีมติเอกฉันท์วินิจฉัย ดังนี้
1. ศาลรธน. มีมติเอกฉันท์ว่า มีอำนาจในการรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาและวินิจฉัย ทั้งนี้ตามที่ผู้ถูกร้อง (นายกฯ) ระบุว่าได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วนั้น ไม่อาจรับไว้วินิจฉัยได้ ศาล รธน. เห็นว่า "นายกฯ-ครม." ยังไม่พ้นตำแหน่งจากการยุบสภาตามคำร้อง โดยเห็นว่าความเป็นรัฐมนตรียังอยู่ แม้ยุบสภาไปแล้ว ซึ่งต่างจากการสิ้นสุดผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองอื่น ดังนั้นศาลมีอำนาจรับฟ้องคดีนี้
2. ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์ว่า แม้ผู้ถูกร้อง (นายกฯ) มีอำนาจวินิจฉัยสับเปลี่ยนบุคคลแต่ต้องคำนึงถึงกฎหมาย อยู่ในกรอบของกฎหมาย มีความเหมาะสม เป็นธรรม ซึ่งแม้นายกฯไม่ได้โยกย้ายโดยตรง แต่ก็ไม่ได้ห้ามไว้ โดยผู้ถูกร้องแม้ไม่ได้ริเริ่ม แต่ข้อเท็จจริงมีส่วนการกระทำด้วยมีส่วนโยกย้ายแทรกแซงหรือให้ข้าราชการประจำพ้นตำแหน่งโดยตรงหาจำต้องร่วมไม่ โดยศาลรธน.เห็นว่าการย้ายนายถวิล ออกจากเลขาฯ สมช. มีความประสงค์เพื่อต้องการย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีต ผบ.ตร. มาเป็นเลขาฯ สมช. เพื่อให้ตำแหน่งว่าง และสามารถแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีต ผบ.ตร.ขึ้นมาแทน
...
ทำให้เห็นผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งผู้ถูกร้องมีส่วนเกี่ยวข้อง ถือว่าได้มีส่วนร่วมให้อำนาจและตำแหน่งเข้าไปแทรกแซงเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการประจำ ซึ่งไม่ใช่ข้าราชการการเมือง และเป็นไปซึ่งประโยชน์ผู้อื่น คือญาติของผู้ถูกร้อง อันเป็นการกระทำต้องห้ามตาม รธน. ถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ
3. ศาลรธน. มีมติเอกฉันท์ ว่า ผู้ถูกร้องใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกฯเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตัวเองและผู้อื่นในเรื่องการบรรจุ แต่งตั้งโยกย้าย โอนหรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเเดือนประจำ ไม่ใช่ข้าราชการประจำ
ซึ่งเป็นไปตาม รธน. มาตรา 266 (2) (3) และถือเป็นการกระทำตามรธน.มาตรา 268 อันมีผลให้การเป็น รมต.ของผู้ร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว และรมต.ที่ร่วมมีมติในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 54 จึงมีส่วนร่วมในการก้าวก่ายและแทรกแซงขรก.ประจำ อันเป็นการกระทำต้องห้าม ตามรธน. มาตรา 268 ประกอบ มาตรา 266 (2) (3) เป็นเหตุให้ความเป็นรมต.เหล่านั้นต้องสิ้นสุดเป็นการเฉพาะตัวตามรธน.ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายกฯ และรัฐมนตรีที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง จำนวน 10 คน ประกอบด้วย 1.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 2.นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 3.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ 4.นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ
5.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 6.นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 7.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหม 8.นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 9.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที 10.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน