พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร และพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ถือเป็นคู่ชิงเก้าอี้ผบ.ทบ.

ความเคลื่อนไหวในกองทัพปีนี้ ดูน่าจับตาอย่างยิ่งเมื่อ ตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพเกษียณอายุราชการทั้งหมด แต่เชื่อว่าไฮไลต์ คงอยู่ที่เก้าอี้ "ผบ.ทบ." เพราะถือเป็นเก้าอี้อันทรงพลัง ที่สามารถกำหนดการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย และการเมืองได้...

เหลือเวลาเพียง 5 เดือน "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะนั่งเก้าอี้ "ผู้บัญชาการทหารบก" (ผบ.ทบ.) มาครบ 4 ปี ถึงเวลาจะต้องอำลา เกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม นี้ นั้นเป็นอีกเหตุผลที่ยิ่งทำให้อุณหภูมิภายในกองทัพบก กลับมาร้อนฉ่าอีกครั้ง โดยเฉพาะแคนดิเดตทั้งหลาย ที่อยู่ในข่ายมีสิทธิ์ขึ้นนั่งบัลลังก์ ทบ. จึงอยู่ในห้วงเวลาช่วงชิง และเปิดยุทธการสงครามการข่าว โดยถูกยึดโยงลากไปพ่วงติดกับเกมการเมือง จึงทำให้ทหารกับการเมืองแยกกันไม่ออก  

เพราะเก้าอี้ ผบ.ทบ. ช่างหอมหวน ยั่วยวนใจ ทำให้เกมช่วงชิงเก้าอี้ "แม่ทัพบก" ถูกนำไปผูกติดกับ "เกมการเมือง" ไปแล้ว เมื่อสำรวจตรวจสอบพบว่า 4 เสือ ทบ. ยังมีอายุราชการอีกคนละ 1 ปี แต่เก้าอี้ "ผู้นำรั้วสีเขียว" กลับมีเพียงตัวเดียว นั้นหมายถึง 1 คนจะสมหวัง อีก 3 คนจะต้องผิดหวัง นั่นคือสาเหตุของกระแสร้อนๆ ใน ทบ. ณ เวลานี้

...

เก้าอี้ ผบ.ทบ.จึงมีปัยจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง และขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เป็นหลัก ว่าจะเลือกใคร ขึ้นมาทำหน้าที่ต่อจากเขาในการเป็น ผบ.ทบ.คนที่ 38 ของกองทัพบกไทย ทำให้ความร้อนระอุ ในรั้วแดงกำแพงเหลือง เที่ยวนี้ดูจะไม่ธรรมดา

เพราะทั้ง "บิ๊กโด่ง" พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ. (ตท.14) "บิ๊กต๊อก" พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. (ตท.15) "บิ๊กนมชง" พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผช.ผบ.ทบ. (ตท.12) และ "บิ๊กโบ้" พล.อ.อักษรา เกิดผล เสธ.ทบ. (ตท.14) อยู่ในข่ายที่ตั้งความหวังได้ แต่ฝันนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ ก็อยู่ที่องค์ประกอบอื่นเข้ามาสนับสนุน แต่ ณ ตอนนี้ยังถือว่าทั้ง 4 ยังมีโอกาสได้วาดฝัน ในเก้าอี้ ทบ.1 ได้ เพราะทุกคนอยู่ในไลน์ จึงถือว่าได้มีสิทธิ์ และมีโอกาสที่จะขึ้นเป็น ผบ.ทบ. โดยมีบุญ วาสนา เป็นส่วนประกอบด้วย เพราะทุกคนถือว่าได้ผ่านการเจริญเติบโต ในตำแหน่ง หน้าที่ มาตามลำดับของ ทบ. นั่นคือเหตุผลหลักที่ทำให้ทุกคนยังถือว่ามีความหวัง

ขณะที่ปัจจัยการเมือง ก็มีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อยังไม่มีรัฐบาลใหม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังรักษาการ นายกฯ และรมว.กลาโหม ยังคงต้องเป็นผู้ทำหน้าที่ถือ โผทหาร คนสุดท้าย ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในส่วนค่าย "สี่เสาเทเวศร์" ก็ถือมีบทบาทสำคัญ รวมทั้งทีมแข็งจาก "บูรพาพยัคฆ์" ก็อาจจะมองข้ามไม่ได้เหมือนกัน

ดังนั้นการจะตัดสินใจเลือกใครขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. ปัจจัยหลัก จึงอยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเป็นผู้ "ฟันธง"
แต่ข้อมูลภายในกองทัพบก รู้ดีว่าการช่วงชิงตำแหน่ง ผบ.ทบ. นั้น เวลานี้ มีรายชื่ออยู่เพียง 2 คนเท่านั้น ที่อยู่ในข่ายตัวเก็งที่จะได้รับการพิจารณารายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ คือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. กับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. เท่านั้น

ล่าสุดถึงกับมีการปล่อยข่าวในหมู่คนเสื้อแดง เรื่องการ "ปฏิวัติ" ร้อนของกองทัพบก ที่นำเอา พล.อ.ไพบูลย์ เข้าไปโยงกับ พล.อ.ประยุทธ์ จนข่าวแพร่สะพัด ว่า พล.อ.ไพบูลย์ นั้นจะขึ้นมานั่งในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อมาปราบคนเสื้อแดง และรัฐบาล โดยผลักไสให้ พล.อ.อุดมเดช กลายเป็นฝ่ายคนเสื้อแดง โดยเฉพาะการโจมตีไปถึงภรรยา และนำไปเหมาะรวมกับเพื่อนๆ ตท.14 ที่อยู่แก๊งคนเสื้อแดง

ทั้งพล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ถูกมองว่าเป็นคนของรัฐบาล เป็นคนใกล้ชิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และภาพที่สนิทสนมของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาฯสมช. รวมถึง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น.ที่มีความใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ดูไม่แฮปปี้กับ ตท.14


นอกจากนี้ พล.อ.อุดมเดช ถือเป็นตัวแทนจาก ค่าย "บูรพาพยัคฆ์" ส่วน พล.อ.ไพบูลย์ นั้นเส้นทางเติบโตมาจาก "วงเทวัญ" จุดนี้เองที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ นั่นค่อนข้างตัดสินใจลำบาก ความได้เปรียบจึงอยู่ที่ พล.อ.อุดมเดช เพราะเส้นทางการเจริญเติบโตในหน้าที่ การรับราชการ ทุกอย่างก้าวไล่จี้และเดินตามลำดับของ พล.อ.ประยุทธ์ มาตลอด

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งเป็นนายทหารเด็กๆ ทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ ขณะนั่งเป็น ผู้การ ร.21รอ. (ทหารเสือราชินี) มี 2 นายทหารคู่ใจทำหน้าที่อยู่เคียงข้างนั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.อุดมเดช ทำหน้าที่ รองผู้การ ร.21 รอ. จากนั้น ก็ทั้งคู่ก็ขึ้นเป็น ผู้การ ร.21 รอ.ไล่เรียงตามกันมาติดๆ นี่เป็นอีกเหตุผลที่ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจลำบากในการจะเลือก แต่ด้วยสายเลือดทหารเสือราชินี ทำให้ พล.อ.อุดมเดช ถือว่ามีโอกาสและภาษีดี

ทั้ง พล.อ.อุดมเดช และ พล.อ.ไพบูลย์ ต่างก็ดำรงตำแหน่ง เป็นผู้บังคับหน่วยสำคัญๆ ด้วยกันมาทั้งคู่ ทำให้ทั้งสองจึงรู้มือกันดี เพราะถือเป็นคนเก่งของรุ่นด้วยกัน 
ในอดีตนายทหารทั้ง 2 คน ก็เคยช่วงชิงตำแหน่ง "แม่ทัพภาคที่ 1" กันมา เมื่อครั้งเป็น "รองแม่ทัพภาคที่ 1" เมื่อปี 2553 มาด้วยกัน แต่ขณะนั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ตัดสินใจผลักดัน และเลือก พล.อ.อุดมเดช ให้ขึ้นมานั่งตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 1 ก่อนที่ พล.อ.ไพบูลย์ จะมารับไม้ต่อเมื่อปี 2555 ด้วยการเสนอชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.นั่นเอง

ปัจจัยภายในกองทัพบก รู้ดีว่า ทั้งพล.อ.อุดมเดช และ พล.อ.ไพบูลย์ ต่างมีดีคนละด้าน ต่างมีความพร้อมคนละอย่าง และที่สำคัญทั้งคู่ ยังเป็นนายทหารครบเครื่อง มีทั้ง "บู๊" และ "บุ๋น" แถมมียังแรงหนุน หรือกำลังภายในพอๆ กัน ทำให้ศึกชิงเก้าอี้ ผบ.ทบ. ต้องจับตาดูแแบบห้ามกะพริบตาทีเดียว

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ. มีความได้เปรียบ เพราะเป็นทั้งรุ่นพี่ (ตท.14) และครองยศอัตรา "จอมพล" เมื่อไล่เรียงจึงถือว่ามีความอาวุโสทางด้านการทหาร แถมยังเป็นนายทหารที่เติบโตมาตามเส้นทางของการรับราชการ ผ่านตำแหน่งสำคัญ จนมาถึง รองผบ.ทบ. และยังเป็นนายทหารสาย "บูรพาพยัคฆ์" ที่เคยร่วมรบ และรับราชการใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ทบ. พี่ใหญ่ของบูรพาพยัคฆ์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผบ.ทบ. และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. มา และเป็นนายทหารคนหนึ่งที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เอ็นดู รักใคร่ และมีความใกล้ชิด

ขณะที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. นั้นเติบโตมาจากค่าย "วงศ์เทวัญ" ในหน่วย พล.1 รอ. มาเกือบทั้งชีวิต และเคยเป็นนายทหารคนสนิทของ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี อดีตผบ.ทบ. และเลขาฯรสช. เส้นทาง จึงเวียนวนใน ร.11 รอ. และเป็นน้องรักของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรองผบ.ทบ. ที่เป็นแรงหนุน ในการผลักดันให้ก้าวขึ้นจากตำแหน่ง ผบ.พล.1 รอ จนมาถึงแม่ทัพภาคที่ 1 เพียงปีเดียวก่อนสไลด์ขึ้นมาในไลน์ 5 เสือ ทบ.มาตำแหน่ง ผช.ผบ.ทบ. ทำให้มีโอกาสท้าชิงกับ พล.อ.อุดมเดช ได้อีกครั้ง รวมทั้ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้เคยเอ่ยปากชม "แม่ทัพคนเก่ง" เพราะเป็นหนึ่งในวงศ์เทวัญ ที่เข้าออกบ้านสี่เสาเทเวศร์ ได้ทุกเวลา

จนระยะหลัง ที่การเมืองเริ่มร้อนแรง กองทัพมักถูกนำเข้าไปเกี่ยวข้อง เกี่ยวโยง พล.อ.ประยุทธ์ จึงเริ่มใช้ พล.อ.ไพบูลย์ ทำงานแบบลับๆ โดยเฉพาะปัญหาทางด้านการเมือง ปัญหาการหมิ่นสถาบัน เพราะด้วยความที่ พล.อ.ไพบูลย์ เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 "น้องชาย" พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกวางตัวให้เป็น ผช.ผบ.ทบ.ในตุลาคม 57 ที่จะถึง ทำให้มีการวิเคราะห์กันไปได้ว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจให้ พล.อ.ไพบูลย์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ก็อาจจะมีสัญญาใจกัน ให้ พล.ท.ปรีชา ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ในปีถัดไปเมื่อ พล.อ.ไพบูลย์ เกษียณในปี 2558 ก็ได้ เพราะพล.ท.ปรีชา มีอายุราชการถึงปี 2559 นั่นเป็นอีกเหตุผลที่มีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของขาเมาท้ในกองทัพบก

ขณะเดียวกันหลายๆ คดีที่เกี่ยวพันกับการเมือง คนเสื้อแดงมักจะนำชื่อ พล.อ.ไพบูลย์ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยตลอด แต่เจ้าตัวก็นิ่งเฉย คนเสื้อแดงจึงรุกหนัก และมองไปถึงการได้รับ "ไฟเขียว" จาก พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่

แม้แต่กรณีที่ นายขวัญชัย สาระคำ ประธานชมรมคนเสื้อแดงที่ถูกยิงภายในบ้านพัก อาณาจักรคนเสื้อแดง ก็มีทีมทหารจาก ม.พัน.19 โดยมีความพยายามลาก พ.ท.ภาณุมาศ คล้ายมงคล ผบ.พัน.ม.19 ซึ่งเคยเป็น ฝ่ายเสนาธิการของพล.อ.ไพบูลย์ เข้าไป ส่วนมือปืน ร.ต.ปรัชญา จันทร์รอดภัย ก็ถูกล้วงข้อมูลว่าเคย เป็นพลขับให้ภรรยาพล.อ.ไพบูลย์ รวมทั้งการที่ "ไม้หนึ่ง ก.กุนที" ที่โดนยิง ชาวเสื้อแดง ก็ยังมีการโพสต์ข้อความกล่าวโยงไปถึงด้วย

เพราะด้วยความที่เป็นคนใจถึง พึ่งได้ และเป็นคนเงียบๆ พล.อ.ประยุทธ์ จึงมักใช้ พล.อ.ไพบูลย์ ทำงานลับๆ รวมทั้งเคยผ่านการปฏิวัติร่วมกัน เมื่อปี 2549 ขณะนั้นเขามีตำแหน่งเป็น ผบ.1 รอ. ก่อนที่จะมีผลงานในการปราบเสื้อแดงเมื่อครั้งเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1 จึงเป็นส่วนที่ห้ามมองข้าม พล.อ.ไพบูลย์ ในสายตา พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบบุคลิก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ดูจะมีความสุขุม ลุ่มลึก ฉลาดหลักแหลม เป็นนายทหารอ่อนน้อม สุภาพบุรุษ พูดจาอ่อนน้อม ส่วน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นคนที่เรียนดี เรียนเก่ง ฉลาด เงียบ ใจถึง เข้าข่ายคนตัวเล็กใจใหญ่

ดังนั้นการตัดสินใจเลือกผู้ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.คนที่ 38 ของกองทัพบกไทย ระหว่าง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. จาก ตท.14 และพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. จาก ตท.15 จึงอยู่ในกำมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ที่จะต้องใช้ความเฉียบขาด ความเด็ดขาด โดยยึดถึง ผลประโยชน์ของกองทัพ ของประเทศชาติ เพราะอนาคตกองทัพบก จะไปทิศทางไหน ก็ขึ้นอยู่กับผู้นำที่กำลังจะมานั่งบัลลังก์ "แม่ทัพบก" และนำพาไปสู่จุด "ทหารอาชีพ" อย่างแท้จริง

นับจากนี้ไปก็จะรู้ว่า ผบ.ทบ.คนต่อไปจะเป็นใคร ระหว่าง "บูรพาพยัคฆ์" หรือ "วงศ์เทวัญ" โปรดติดตามต่อไป...

ประวัติ


พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ.

โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 14
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 25
โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรชุดประจำที่ 65
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 51
หลักสูตร Integrated Past Management ประเทศอิสราเอล
หลักสูตร Management Broadcast Program ประเทศสหรัฐอเมริกา

ผู้บังคับหมวดกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
ผู้บังคับกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
ฝอ.3 ร.21 พัน.3 รอ.
ผู้บังคับการกรมนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร
รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
รองผู้บัญชาการกองพลที่ 1รักษาพระองค์
เสนาธิการกองทัพภาคที่ 1
ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11
ผู้บัญชาการกองพลทหารราบี่ 9
รองแม่ทัพภาคที่ 1
แม่ทัพภาคที่ 1
เสนาธิการทหารบก
รองผู้บัญชาการทหารบก

 

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ.

โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 15  (ตท.15)
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ รุ่นที่ 26 (จปร.26)
โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรประจำ ชุดที่ 66
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 52

ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ( ร.11 พัน.2 รอ.)
ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 111 ( ร.111) 
ผู้บังคับการกรมทหารที่ 11 รักษาพระองค์ ( ร.11 รอ.)
ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ( ร.1 รอ.)
รองผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์
ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์
รองแม่ทัพภาคที่ 1
แม่ทัพภาคที่ 1
ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก