"อุกฤษ มงคลนาวิน" ชี้ศาล รธน.วินิจฉัยกว่า 350 คดี ไร้กฎหมายรองรับ-ขาดความชอบธรรม
วันที่ 21 เม.ย. นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ทำจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 เรื่อง "เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นฝ่ายที่ฝ่าฝืนหลักนิติธรรมเสียเอง ศาลรัฐธรรมนูญก็ควรที่จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่" ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีสำคัญหลายคดีที่ผ่านมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่ามีปัญหาเรื่องความยุติธรรม หลายคดีวินิจฉัยก้าวล่วงการใช้อำนาจอธิปไตยขององค์กรอื่น โดยไม่มีอำนาจ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ขณะที่รัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคหก บัญญัติว่าวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 300 วรรคห้า ที่บัญญัติว่าในระหว่างที่ยังมิได้มีการตรา พ.ร.บ. ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยได้
แต่ทั้งนี้ ต้องตรา พ.ร.บ.ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 7 ปีแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังละเลยที่จะดำเนินการเพื่อให้มีกฎหมายดังกล่าว
นอกจากนี้ยังนำเอาข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนดขึ้นเองแต่เพียงฝ่ายเดียว มาใช้ในการพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยเรื่อยมา ทั้งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ใช้ข้อกำหนดนั้นได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น
ประเด็นที่หยิบยกขึ้นมานี้มีความสำคัญยิ่งกับประเทศที่ได้ชื่อว่าให้ความสำคัญต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรม ซึ่งไม่อาจมองข้าม นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยคดีโดยไม่มีกฎหมายรองรับไปแล้วกว่า 350 เรื่อง แยกเป็นทำในรูปคำวินิจฉัย 92 เรื่อง และที่ทำเป็นคำสั่งอีก 258 เรื่อง การละเลยต่อหลักการดังกล่าวข้างต้นของศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การพิจารณาวินิจฉัยคดีบิดเบี้ยว ขาดความชัดเจนในกระบวนการพิจารณา เพราะไม่มีกรอบแห่งการใช้อำนาจ คือ
...
1. ไม่มีกำหนดระยะเวลาการพิจารณาในแต่ละประเภทคดีไว้ให้ชัดเจน ส่งผลให้กระบวนการพิจารณาและการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในบางคดี กระทำไปด้วยความรีบเร่งผิดปกติ
นายอุกฤษระบุอีกว่า
2. การทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ยังไม่มีความชัดเจนว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคน ได้ทำคำวินิจฉัยส่วนตนพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคสอง กำหนดไว้หรือไม่ เพียงใด
3. ไม่มีการกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนในราชกิจจานุเบกษา ส่งผลทำให้บางคดีมีการอ่านคำวินิจฉัยไปแล้วหลายเดือน แต่คำวินิจฉัยกลางยังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคสามกำหนดไว้
ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือการพิจารณาวินิจฉัยคดีโดยไม่มีกฎหมายรองรับ รวมทั้งการละเลยต่อกระบวนการหรือวิธีพิจารณาคดีที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ดังกล่าว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาย่อมมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมเสียเอง และอาจทำให้คำวินิจฉัยดังกล่าวตกไปทั้งฉบับได้