การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Health tourism ที่กำลังฮิตทั่วโลกเวลานี้ หมายถึง การเดินทางท่องเที่ยว ที่พ่วงกิจกรรมด้านสุขภาพเข้าไปด้วย โดยแบ่งเวลาจากการเที่ยวมาทำกิจกรรมส่งเสริม บำบัด รักษา หรือฟื้นฟูสุขภาพ ควบคู่กันไป
ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงเป็นตลาดทัวร์ที่มีการใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่าตลาดท่องเที่ยวแบบอื่น แถมยังมีแนวโน้มเติบโตเร็ว ตามกระแสการดูแลเอาใจใส่สุขภาพของคนสมัยนี้
โชคดีที่ไทยเป็นหนึ่งใน 4 ประเทศแถวหน้าของภูมิภาคเอเชีย ที่ได้รับการยอมรับเรื่องทัวร์สุขภาพจากนักท่องเที่ยว ทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย
แม้ว่าเราต้องแข่งขันอย่างหนักกับคู่แข่ง อย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย และ อินเดีย แต่ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก จากปัจจัยความได้เปรียบ หรือจุดเด่นในหลายเรื่อง
เป็นต้นว่า ด้าน บริการ คนไทยได้ชื่อว่ามีความนุ่มนวลและอ่อนโยน สามารถสร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาใช้บริการได้ไม่ยาก เรายังมี อุปกรณ์เครื่องมือ ตรวจวินิจฉัยโรคที่ทันสมัย มี แพทย์เฉพาะทาง ซึ่งมีขีดความสามารถได้มาตรฐานระดับสากล มี มาตรฐานการรักษาพยาบาล ระดับเดียวกับโรงพยาบาลที่ยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ทั้งยัง ไม่ต้องรอคิวการรักษานาน ดังเช่นโรงพยาบาลหลายแห่งในยุโรป
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจัดว่า มีค่ารักษาพยาบาล ถูกกว่าอีกหลายประเทศ ยกตัวอย่าง โดยเฉลี่ยแล้วถูกกว่าค่ารักษาพยาบาลที่สิงคโปร์ถึง 2 เท่าตัว แถมเรายังมี จุดเด่นด้านการท่องเที่ยว และ ความพร้อม ด้านแหล่งท่องเที่ยว อย่างสมบูรณ์ และหลากหลาย ทั่วทุกภาคของประเทศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยรวบรวมสถิติการเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนไทย ของชาวต่างชาติ พบว่า ร้อยละ 60 เป็นชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย อีกร้อยละ 40 เป็นชาวต่าง ชาติที่เดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์
...
ปี 2544 มีชาวต่างชาติที่ เข้ารับบริการทางการแพทย์ ในโรง– พยาบาลเอกชนไทย รวมทั้งสิ้น 550,161 ราย และเพิ่มเป็น 1,249,984 ราย ในปี 2548 หรือภายในช่วง 4 ปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงร้อยละ 24 ต่อปี
เทียบกับข้อมูลของ นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการแพทย์และธุรกิจต่างประเทศ เครือโรงพยาบาลพญาไท ซึ่งเก็บข้อมูล Thailand & Medical Tourism มาจากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปี 2544 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามา ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในไทย ทั้งสิ้นราว 500,000 ราย ปี 2548 จำนวนกว่า 1,280,000 ราย ปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1,380,000 ราย และเมื่อปี 2555 มีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ในไทย จำนวนกว่า 2,029,656 ราย
นพ.สุรพงศ์สะท้อนให้เห็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการด้านการแพทย์ หรือดูแลสุขภาพในประเทศไทย มีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 8–10% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เข้ามาเมืองไทยในแต่ละปี
บริการด้านการแพทย์ที่นักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาใช้บริการ มีตั้งแต่ตรวจเช็กสุขภาพ การทำเลสิก ผ่าตัดต้อกระจก ศัลยกรรมความงาม ทำฟัน ผ่าตัดเนื้องอกในมดลูก ริดสีดวงทวาร เปลี่ยนข้อ รักษากล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ไซนัส ไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น
นอกจากนี้ บริการด้านแพทย์ทางเลือก อย่างเช่น นวดแผนไทย และสปา ไทยเราก็มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นพ.สุรพงศ์บอกว่า ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Hub of Medical Tourism ควรจะเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และชื่อเสียงของประเทศแบบองค์รวม หรือตราสัญลักษณ์ ซึ่งมีความเป็นไทย เพื่อให้เป็นตัวช่วยเพิ่ม GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ทั้งมีการเรียนรู้ในเรื่องภาษาและวัฒนธรรมของชาติต่างๆ ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกลุ่มหลักที่เข้ามาใช้บริการในไทยด้วย
นอกจากนี้ ยังควรพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไปสู่ความเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อหาทางเพิ่มอาชีพ รายได้และการจ้างงานให้เกิดการหมุนเวียน จากธุรกิจหลากหลายที่เกี่ยวข้องและเอื้อกัน เช่น ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร สมุนไพร เสริมความงาม-ชะลอวัย การแพทย์ทางเลือก โดยประสานงานกับหน่วยราชการ และการท่องเที่ยวของไทย
ณัฐพล ลีลาวัฒนานันท์ หัวหน้าโครงการจัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บอกว่า ปีที่แล้วทั่วโลกมีนักท่องเที่ยวออกท่องเที่ยวจำนวนทั้งสิ้น 1,087 ล้านคน
เขาบอกว่า ในภูมิภาคอาเซียน การท่องเที่ยวมีอัตราขยายตัวสูง อยู่ในลำดับต้นๆของโลก สำหรับเมืองไทย ปี 2552 มีนักท่องเที่ยวจำนวน ทั้งสิ้น 14,149,841 ราย ปี 2553 จำนวน 15,936,400 ราย ปี 2555 จำนวน 22,353,903 ราย และปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 26,735,583 ราย
“อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีศักยภาพสูงมาก จะเห็นว่าแม้แต่ในปี 53 ที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงในประเทศ เปรียบเทียบกับเมื่อปี 52 เรายังมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 12.63 เปอร์เซ็นต์ หรือเมื่อปีที่แล้ว เทียบกับเมื่อปี 55 จำนวนนักท่องเที่ยวมีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 19.60 เปอร์เซ็นต์”
ณัฐพลบอกว่า เฉพาะปีที่แล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทยมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ จีน มีจำนวนมากกว่า 4.7 ล้านราย มาเลเซีย กว่า 2.9 ล้านราย รัสเซีย กว่า 1.7 ล้านราย ญี่ปุ่น กว่า 1.5 ล้านราย เกาหลี กว่า 1.2 ล้านราย ลาว กว่า 1.1 ล้านราย อินเดีย มากกว่า 1 ล้านราย สิงคโปร์ 924,811 ราย ออสเตรเลีย 919,534 ราย และ อังกฤษ 906,312 ราย
แต่ในแง่ของตลาดนักท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้เมืองไทยสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ จีน รัสเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย อังกฤษ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เกาหลี และ อินเดีย ตามลำดับ
สิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเหล่านั้นให้เข้ามาเที่ยวเมืองไทย อันดับแรก คือ แหล่งท่องเที่ยว ดึงดูดได้ราว 75% อันดับสอง คือ อาหาร ดึงดูดได้ 54% อันดับสาม สินค้า/บริการ 28.6% กิจกรรมกลางคืน 28.5% ความเป็นมิตรของคนไทย 27.8%
ประเพณี/วัฒนธรรมท้องถิ่น ดึงดูดได้ 22% กิจกรรมผจญภัย ทำให้คนอยากมาเที่ยว 20.8% ราคาสินค้า/บริการ/โปรโมชั่นส่งเสริมการขาย 13.2% บริการสุขภาพ 2.2% และ บริการด้านการแพทย์ อีก 1.9%
ณัฐพลบอกว่า ล่าสุดสถานการณ์การท่องเที่ยวในไทย ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2557 หรือไตรมาสแรกของปีนี้ เทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทย ลดลงไปแล้วประมาณ 5% เท่านั้นยังไม่พอ รายได้ยังหดตัวหรือติดลบไปแล้ว 2.13%
จากสถานการณ์ดังกล่าว เขาสรุปให้เห็นภาพว่า “แม้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยจะอยู่ในกลุ่มต้นๆของโลก แต่เราจะรักษาตำแหน่ง หรือส่วนแบ่งการตลาดเอาไว้ได้นานแค่ไหน ไม่มีใครรู้ แม้ว่าเราจะเผชิญกับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ แต่อย่างน้อยสิ่งที่ต้องเร่งทำก็คือ รีบตะกายหนีมาเลเซีย คู่แข่งสำคัญที่กำลังหายใจรดต้นคอไล่หลังเราในเรื่องนี้ ไปให้เร็วที่สุด”
ก็ได้แต่หวังกันไป ส่วนจะสมหวังหรือไม่ คงเดากันได้ไม่ยาก... ตราบใดที่อุณหภูมิความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่นิ่ง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง และการท่องเที่ยว คงต้องทำใจ ปล่อยให้เพื่อนบ้านคู่แข่งทั้งหลายแซงเราไปไม่เห็นฝุ่นก่อน สำนึกได้เมื่อไร ค่อยไปทวงแชมป์คืนกันอีกที.