กฎหมายเก่าของไทยตั้งแต่กฎหมายลักษณะโจร กฎหมายลักษณะตระลาการ กฎหมายลักษณะอุทธรณ์ กฎ 36 ข้อ พระราชกำหนดเก่าที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดฯให้ชำระรวบรวมไว้ในกฎหมายตราสามดวง...หากเป็นความอาญา เรียกว่าจารีตนครบาล

สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม 2 อักษร ข-จ (พ.ศ.2545) อธิบายหลักการของกฎหมายเก่าว่า...ผู้ใดถูกฟ้องร้องหรือถูกกล่าว

หาว่าได้กระทำความผิด ให้เชื่อไว้ก่อนว่า “ผู้นั้นทำความผิด” จนกว่าผู้ต้องหานั้นจะหาหลักฐานพยานมาพิสูจน์ว่า “ตนเป็นผู้บริสุทธิ์” จึงจะรอดตัวไป

อาญาตามจารีตนครบาลที่ใช้ในกระบวนการวิธีพิจารณาไต่สวนความอาญา มีปรากฏในกฎหมายเก่า ตัวอย่างบางมาตรา ดังต่อไปนี้

มาตรา 36 ถ้ามีผู้โจทก์ว่า ผู้ร้ายปล้นสะดมได้ทรัพย์สินแก้วแหวนเงินทอง ช้าง ม้า โค กระบือไป และเจ้าพนักงานจับตัวมาได้ ซักถามแล้วไม่ยอมรับ อย่าได้ฟังคำโจร ให้ขับเฆี่ยนโบยตีให้ครบเครื่อง (เฆี่ยน) ถึง 3 ครั้ง ถึงยังไม่รับ ก็อย่าเชื่อ

ให้เขาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ก่อน ถ้าไม่มีพิรุธ ให้คลายเครื่องจำออก ให้มีนายประกันมาประกันตัวไว้

การเฆี่ยน ตี หรือโบยตี ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะโจร มีอัตรากำหนดแน่นอน คืออย่างมากไม่เกิน 3 ยก เพราะเฆี่ยนเพื่อให้รับสารภาพ มิใช่เฆี่ยนให้ถึงตาย

มีกำหนดเครื่องเฆี่ยนไว้ในมาตรา 28 และ 36 ที่เรียกว่า “เฆี่ยนจนครบเครื่องเฆี่ยน” นั้น หมายถึงเครื่องเฆี่ยน 3 อย่าง

คือเครื่องเฆี่ยนที่ทำด้วยไม้ ทำด้วยหวาย และทำด้วยลวดหนัง

นอกจากนี้ มาตรา 41 แห่งกฎหมายลักษณะโจร ยังว่าด้วยอาญาตามจารีตนครบาลอีก 2 อย่าง คือการจำ 5 ประการ และการจำ 3 ประการ ดังมีใจความว่า ผู้ร้ายลักไพร่ฆ่าคน ช้าง ม้า ปล้นสะดม จับตัวมาได้ เขารับสารภาพให้จำ 5 ประการไว้ในคุก ให้ขานยาม อนึ่ง ผู้ร้ายลักเรือ เกวียน โค กระบือ ให้จำ 3 ประการไว้หน้าคุก

...

จำ 5 ประการ คือ (1) ตรวนใส่เท้า (2) เท้าติดขื่อไม้ (3) โซ่ล่ามคอ (4) คาไมใส่คอทับโซ่ (5) มือ 2 ข้างสอดเข้าไปในคาน และไปติดกับขื่อไม้ เรียกสั้นๆว่าจำครบ

จำ 3 ประการ คือ มาตรการลงโทษที่เบาลงมา ได้แก่เครื่องจำ คือ ขื่อ คา และตรวน

กฎหมายลักษณะตระลาการมาตรา 8 ว่าด้วยการมัดโยงคู่ความ 1 ชั่วโมง เพราะทำให้เห็นว่าไม่พร้อมจะว่าความ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งพร้อมแล้ว

มาตรา 17 ว่าการตบปากคู่ความที่ไม่ยอมให้การ และจำขื่อคาลูกความที่แผดเสียงเถียงผู้พิพากษาตระลาการ

มาตรา 20 ว่าด้วยการทวนคนกลาง (ผู้ไม่ใช่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ด้วยลวดหนัง 15 นาที เพราะให้การแล้ว ต่อมากลับคำให้การใหม่ ให้ผิดไปอย่างตรงกันข้ามกับคำให้การเดิม ซึ่งได้จดบันทึกไว้เป็นหลักฐานแล้ว)

การจำขื่อคู่ความผู้ไม่ลงเล็บสำนวน (ไม่ยอมปิดตราในสำนวนสอบสวน ในกรณีที่ผู้แพ้ไม่มีทรัพย์มาจ่ายค่าปรับตามกำหนด โดยให้จำประจานไว้กลางแจ้ง 3 วัน แช่น้ำไว้ 3 วัน แล้วตีด้วยลวดหนัง หรือตามโทษานุโทษ คือตีแสนละ 3 ที 5 ที ต่อแสนเบี้ย ซึ่งเท่ากับ 22 บาท)

และการมัดแช่น้ำตากแดดผู้ไม่ยอมทำผิด (ในกรณีที่ผู้พิพากษาตระลาการให้นายความผัดวันไปหาทรัพย์มาจ่ายภายใน 3 วัน หรือ 5 วัน หรือ 7 วัน แต่นายความนั้นไม่ยอมทำ)

มาตรา 52 ว่าด้วยการตบปากผู้อุทธรณ์คดีที่เกินกำหนดไปแล้ว

มาตรา 53 ว่าด้วยการขึ้นขาหยั่งและการทวนคู่ความด้วยลวดหนัง 50 ที (ในกรณีที่ลวงคู่ความฝ่ายตรงกันข้ามไปตีด่าฆ่าฟัน และเอาทรัพย์สิ่งของไป ขณะพิจารณาคดี)

มาตรา 109 ว่าด้วยการสับเสี่ยง ผู้ฟ้องให้ส่งลูกสาว โดยมีสาระสำคัญในคำฟ้องนั้นว่า ตนได้เจรจากับผู้หญิงที่ตนรักว่าจะส่งผู้ใหญ่ของตนไปสู่ขอกับผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงและได้มอบสิ่งของเงินทองให้แก่ผู้หญิงคนนั้นแล้ว จึงขอให้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงส่งผู้หญิงคนนั้นไปให้ตน

ผู้พิพากษาตระลาการพิจารณาตัดสินว่า “ชายผู้นั้นบังอาจเหนือพระราชบัญญัติความเมืองให้สับศีรษะ 3 เสี่ยง ตระเวน 3 วัน” และให้ยกฟ้อง

ในกฎหมาย “กฎ 36 ข้อ” กฎข้อ 7 ว่าด้วยการตบปากลูกความผู้เถียง...มีความว่า อย่าให้ลูกความทุ่มเถียง ตอบโต้ลูกขุนด้วยคำหยาบช้า ถ้าตอบโต้ให้เอาไม้แป้นตบปาก

ถ้าลูกความหยาบช้า ซึ่งเป็นการมิดี ให้เอากะลาทั้งขนตบปาก

โดยสรุป อาญาตามจารีตนครบาล...นอกจากเฆี่ยนแล้วยังมีการทวนด้วยลวดหนัง การจำ 5 ประการ การจำ 3 ประการ การมัดโยงไว้กลางแดด การมัดแช่น้ำ การตบปากด้วยไม้แป้น ด้วยกะลาทั้งขน และหนักที่สุด คือ การสับศีรษะ 3 เสี่ยง

ส่วนการบีบขมับ ตอกเล็บ ดังที่เชื่อกันมาไม่มีปรากฏอยู่ในกฎหมายดังกล่าว

กฎหมายเก่าเหล่านี้ใช้กันเรื่อยมา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนึ่งในกระบวนการปฏิรูปกฎหมาย...และกระบวนการยุติธรรม ก็คือ ให้เปลี่ยนหลักการพิจารณาความใหม่

คือให้ถือว่า ผู้ถูกฟ้องหรือถูกกล่าวหา ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จนกว่าฝ่ายโจทก์จะหาพยานหลักฐาน มาพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า ผู้นั้นได้ทำความผิดจริง

การยกเลิกจารีตนครบาลทำให้กระบวน การยุติธรรมเจริญก้าวหน้ามาถึงปัจจุบัน.

 

O บาราย O