ผมมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเขียนต้นฉบับวันนี้ล่วงหน้า จึงยังไม่ทราบว่าสถานการณ์การเลือกตั้ง 2 ก.พ.ในบ้านเราจะเป็นอย่างไร? วุ่นหรือไม่วุ่นแค่ไหน? ดังนั้น จึงไม่สามารถจะออกความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้

ขณะเดียวกัน ศึกซุปเปอร์โบว์ล กีฬายิ่งใหญ่สไตล์อเมริกันก็ยังไม่รู้ผลว่าใครเป็นแชมป์ จะเขียนพวกเกร็ดต่างๆ ก็ดูเหมือนว่าจะเขียนไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว ในขณะที่บางเกร็ดบางเรื่องที่มีอยู่ก็คงไม่ทันการณ์

พอดีนึกขึ้นมาได้ว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม หรือวันศุกร์ที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมิใช่เล่นเกิดขึ้นเรื่องหนึ่งที่สหรัฐอเมริกา นั่นก็คือ การเปลี่ยนตัวท่านประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ จากคนเก่าที่หมดเทอม เป็นคนใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

คนเก่าที่เรารู้จักดี คุณ เบน เบอร์นานเก้ ครบเทอมอำลาอาลัยไป โดยจะทำงานวันสุดท้ายในวันที่ 31 มกราคม หลังจากนั้น 1 กุมภาพันธ์ วันรุ่งขึ้นก็จะได้คนใหม่ คุณ จาเน็ต เยลเลน มาดำรงตำแหน่งแทน

ตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือที่เรียกกันว่า ประธานเฟดนั้น ต้องถือว่าเป็นตำแหน่งที่มิใช่ระดับรัฐมนตรีที่มีความสำคัญสูงสุด

เพราะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะกำหนดความเป็นความตาย ความรุ่งเรือง หรือถ้าพลาดไป ก็อาจจะซบเซาได้ต่อระบอบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ตลอดช่วงระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งอยู่

ด้วยเหตุนี้การจากไปของคนเก่า และการเข้ามาของคนใหม่ จึงเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจที่สื่อมวลชนที่โน่นพูดถึงอยู่หลายวัน

มีการประเมินผลโดยกว้างว่า คุณ เบน เบอร์นานเก้ มีผลงานที่ดีพอสมควร สามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐฯได้ในระดับหนึ่ง

เป็นกำลังหลักในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ให้ผลน่าพอใจ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯกระเตื้องขึ้น จนทำให้สหรัฐฯสามารถชะลอ หรือผ่อนมาตรการกระตุ้นลงได้

แม้ 2-3 วันก่อนท่านจะจากไป หุ้นที่ตลาดสหรัฐฯจะร่วงหล่นพอสมควร แต่นักวิเคราะห์หลายคนก็ช่วยแก้ต่างแทนให้ โดยกล่าวว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยปกติมาโดยตลอด ไม่เชื่อกลับไปดูเส้นทางของตลาดหุ้นดูเถอะ

จะพบว่าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนตัวประธานเฟด ตลาดหุ้นสหรัฐฯจะถดถอยอยู่เสมอ

รวมไปถึงการวิเคราะห์โดยบอกว่า ส่วนหนึ่งที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯถดถอย น่าจะมาจากการที่เศรษฐกิจของจีนปีนี้เจริญเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าการคาดหมายต่างหาก

รวมความแล้วเป็นการวิเคราะห์ในเชิงที่เป็นคุณต่อท่านประธานเดอะเฟดที่จากไป มากกว่าจะเป็นการวิเคราะห์ในเชิงขับไล่ไสส่ง หรือจุดประทัดไล่หลังแบบไทยๆ

ครั้นเมื่อมองไปถึงผู้มาใหม่ ซึ่งเป็นสุภาพสตรี และเป็นสตรีอาวุโส ระดับ ส.ว.ขั้นต้น เพราะอายุ 68 ปีเข้าไปแล้ว ก็ไม่มีความเห็นใดๆที่ออกมาในเชิงไม่ยอมรับ

ส่วนใหญ่เชื่อว่า คุณ จาเน็ต เยลเลน ซึ่งทำงานเป็นมือ 2 ของ เบน เบอร์นานเก้ มานานพอสมควร และรู้ฝีมือ รู้กุศโลบาย และแนวความคิดของอดีตท่านประธานเป็นอย่างดียิ่ง

อีกทั้งในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ออกมาด้วยกัน และเมื่อถึงตอนจะผ่อนลงก็คิดอ่านร่วมกันมาโดยตลอด ดังนั้น แม้ประธานเบนจะยังทิ้งงานก้อนใหญ่ไว้กับเธอ ก็ไม่น่าจะมีอุปสรรคใดๆ

อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงวิจารณ์เป็นเชิงตั้งข้อสังเกตเหมือนกันว่า คุณเยลเลนเป็นนักเศรษฐกิจระดับปรมาจารย์ จะเคร่งตำราเคร่งทฤษฎีเกินไปหรือเปล่า แม้จะออกมาทำงานในทางปฏิบัติ คือทำงานกับธนาคารกลางสหรัฐฯหลายปีแล้ว แต่ก็ยังมีคนขี้สงสัยอดสงสัยเสียมิได้

สำหรับผมขอมองในแง่ดีเอาไว้ก่อนก็แล้วกัน คิดว่าควรให้โอกาส และให้กำลังใจแก่คุณเยลเลน ที่จะขึ้นมาเป็นขุนพลทางเศรษฐกิจคนใหม่ของสหรัฐฯ

ยังไงๆก็ต้องให้กำลังใจไว้ก่อนละครับ ให้เธอประสบความสำเร็จ เพราะถ้าเธอล้มเหลวก็หมายถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะพลอยล้มเหลวไปด้วย

จะเป็นข่าวร้ายของโลกครับ เพราะถ้าขาใหญ่อย่างสหรัฐฯซวดเซ มีหรือเศรษฐกิจของโลกเราจะไม่ซวดเซตาม ฉะนั้น ขอให้โชคดี และยินดีต้อนรับครับท่านประธานเยลเลน.

“ซูม”

...