ภาพถ่ายครั้งประวัติศาสตร์ของ "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" เมื่อครั้งที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปทำพิธีเจิมแผ่นป้ายชื่อ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2541 หลังมีพระราชกฤษฎีกา ถ่ายโอนให้กรมตำรวจ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย มาขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี และให้เปลี่ยนชื่อจาก กรมตำรวจ เป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดใจเล่าให้ฟังถึงประวัติความเป็นมาของป้ายชื่อหน่วยงานขององค์กรตำรวจ ว่า แรกเริ่มมีการจัดทำขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 โดยขณะนั้น พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ หลังจากที่มีการอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มาประดิษฐานที่หน้าอาคาร 1 เมื่อมองเข้ามาจากภายนอก จะเห็นพระบรมราชานุสาวรีย์เด่นเป็นสง่า แต่รั้วหรือประตูยังไม่เรียบร้อย จึงมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม โดยมีการจำลองบานประตูรั้ว มาจากรั้วของพระที่นั่งอนันตสมาคม และเสาไฟประดับ จำลองมาจากโคมไฟหน้าสถานทูตอังกฤษ ส่วนป้ายชื่อทำจากหินแกรนิต ติดตัวหนังสือ เขียนข้อความในตอนนั้นว่า กรมตำรวจ ทำขึ้นจากสแตนเลส ราคาจัดทำตอนนั้นประมาณ 50,000-60,000 บาท

...

“กระทั่งปี พ.ศ. 2541 หลังจากที่มีการโอนและเปลี่ยนชื่อหน่วยงานมาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้มีการจัดพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคล โดย พล.ต.ต.พจนารถ หวลมานพ ที่ขณะนั้นเป็นรองเลขานุการตำรวจแห่งชาติ ได้ประสานเพื่อกราบทูลเชิญสมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นประธานในพิธีเจิมป้ายเพื่อความเป็นสิริมงคล และเปลี่ยนป้ายชื่อใหม่จาก กรมตำรวจ เป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนแรก เข้าร่วมในพิธีด้วย”

“ป้ายนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ให้รู้ว่า หน่วยงานแห่งนี้เป็นที่ทำงานของส่วนราชการที่มีหน้าที่ด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และดูแล ป้องกันความสงบเรียบร้อยให้ประชาชนและสังคม ถือเป็นความภาคภูมิใจ เป็นเกียรติภูมิของหน่วย” พล.ต.อ.เอก เล่าถึงประวัติและความภาคภูมิใจของตำรวจที่มีต่อป้ายชื่อองค์กร 



นอกจากป้ายชื่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่สมเด็จพระสังฆราช ทรงเจิมเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ภายในสำนักงานตำรวจฯ ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ข้าราชการตำรวจทุกคนเคารพ และถือเป็นเครี่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ประกอบด้วย หอพระนิรันตราย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้เป็นพระพุทธรูปประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
, พระนารายณ์ ที่ประดิษฐานหน้าอาคาร 19 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ศาลพระภูมิ ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าประตูใหญ่ และพระบรมราชานุสาวรีย์ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้เปรียบเสมือนเป็นพระบิดาของข้าราชการตำรวจ

แต่ภาพในอดีตที่ถือเป็นความภาคภูมิใจมายาวนานกว่า 15 ปี กลับเป็นเพียงแค่ความทรงจำ หลังเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 


“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตำรวจทุกคนรู้สึกเสียใจ และผมเชื่อว่าคงไม่ใช่แค่ตำรวจ แต่รวมไปถึงประชาชนทั่วไป หรือแม้แต่ตัวผู้ที่กระทำเอง ก็คงรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่ทำลงไป...ซึ่งจริงๆ แล้ว ความเสียหายไม่ใช่เฉพาะแค่ป้าย หรือแค่ทรัพย์สินราชการ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ความเสียหายทางความรู้สึกและจิตใจ”

“อยากวิงวอนแกนนำและผู้ชุมนุม ให้เข้าใจว่าการกระทำทุกอย่างต้องมีขอบเขตของกฎหมาย….ไม่อยากให้มีการทำลาย ทรัพย์สินราชการ เพราะจริงๆ แล้ว ทรัพย์สินเหล่านี้ก็สร้างขึ้นจากเงินภาษีของประชาชนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือว่าของหน่วยงานราชการใดก็ตาม…”

เหตุการณ์ทำลายป้ายชื่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจเตรียมที่จะดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานและพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีทั้งหมด 21 คน ขณะที่การซ่อมแซมป้ายใหม่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้ พล.ต.อ.พีระ พุ่มพิเชฎฐ์ ที่ปรึกษาสัญญาบัตร 10 เป็นผู้ดูแล โดยยืนยันว่าจะจัดทำให้สวยงามและยิ่งใหญ่เหมือนเช่นในอดีต แม้จะยอมรับว่าคุณค่าทางด้านจิตใจ คงไม่อาจทดแทน หรือเทียบเท่าได้ กับป้ายเดิมที่ถูกทำลายไปแล้วก็ตาม.