เกาะติดฝึกผสม ภายใต้รหัส "Strike 2013" พัฒนารบพิเศษไทย-จีน ต้านก่อการร้าย

แทบจะหาดูได้ยากกับการฝึกร่วมระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะที่ผ่านมากองทัพจีน มักจะไม่ค่อยส่งกำลังทหารหรือยุทโธปกรณ์ออกนอกประเทศ แต่การฝึกผสมหน่วยรบพิเศษ ภายใต้รหัสการฝึกที่ชื่อ "Strike 2013" ครั้งที่ 4 ฝ่ายอำนวยการภูมิภาคทหารกวางโจวได้นำกำลังพล พร้อมยุทโธปกรณ์ต่างๆ เข้าร่วมฝึกกับหน่วยรบพิเศษไทย

ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่จีน ส่งเครื่องบิน MI–171 จำนวน 3 ลำ บินข้ามประเทศ เพื่อเข้าร่วมฝึก

...


โดยไฮไลต์อยู่ที่ "การฝึกรบในสิ่งปลูกสร้าง (MOUT)" ที่ทหารรบพิเศษไทย-จีน สนธิกำลังเข้าโจมตีฝ่ายข้าศึก โดยการจำลองเหตุการณ์กลุ่มก่อการร้ายตั้งฐานปฏิบัติการในหมู่บ้าน

ทั้งนี้ การฝึกได้นำเครื่องบินลำเลียง พร้อมกำลังพลจำนวน 3 ลำ บินเข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย โดยลำแรกมีกำลังพลจำนวน 8 นาย จะโรยตัวลงบนดาดฟ้าอาคารปลูกสร้าง

ส่วนลำที่ 2 และ 3 จะเป็นกำลังพลสนับสนุนภาคพื้นดิน โดยพลซุ่มยิงที่อยู่บนเครื่องจะยิงข้าศึกที่อยู่บนที่สูง เพื่อเปิดทางให้เครื่องบินทั้งหมดเข้าสู่ที่หมาย


เมื่อชุดโรยตัวสามารถควบคุมตัวอาคารได้สำเร็จ ทางชุดภาคพื้นดินจะเข้าสมทบ และโจมตีข้าศึกอย่างรวดเร็ว และถอนตัวเมื่อภารกิจนั้นสำเร็จ    

ซึ่งการฝึกลักษณะนี้ทั้ง 2 ประเทศ ได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการฝึกรับมือต่อภัยก่อการร้าย

แต่การฝึกครั้งนี้ก็ยังมีอุปสรรค โดยเฉพาะเรื่องภาษาของทั้ง 2 ประเทศ ที่บางเรื่องไม่สามารถสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ


พ.อ.ภูวดล พลนาค เสนาธิการกองพลรบพิเศษที่ 1  กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการฝึกผสมไทย-จีนว่า การฝึกครั้งนี้เป็นการฝึกผสมครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นข้อตกลงการฝึกร่วมของกองทัพทั้ง 2 ประเทศ โดยปกติแล้วเราจะสลับกันเป็นเจ้าภาพ ในปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพ ปีหน้าก็จะเป็นประเทศจีน  

โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นการฝึกของหน่วยทหารขนาดเล็ก การฝึกการวางแผนร่วมกัน เพื่อปฏิบัติภารกิจต่อต้านการก่อการร้าย

"เรื่องการวางแผนร่วม เราได้เรียนรู้ในเรื่องขั้นตอน และวิธีการปฏิบัติภารกิจของทัพจีน ซึ่งเราสามารถนำข้อดีข้อเสียมาปรับใช้ได้ และพัฒนาการฝึก ส่วนปัญหาเรื่องภาษา เราได้จัดล่ามประจำการฝึก"


ทั้ง 2 ฝ่าย ได้มีการแลกเปลี่ยนในลักษณะครู คือ แลกเปลี่ยนกันสอน และสามารถเรียนรู้เรื่องเทคนิคของจีน

ด้าน พ.อ.พิเศษ หวู่ เสวียจวิน รองเสนาธิการภาคทหารกวางโจว กล่าวว่า การฝึกผสมครั้งนี้ถือว่า ได้รับประโยชน์อย่างมาก และได้รับมิตรภาพ รวมทั้งได้รู้ว่า หน่วยรบพิเศษของไทยมีประสบการณ์และเทคนิคมาก การฝึกที่ผ่านมาเราใช้การฝึกในหลายวิธี แต่เมื่อได้ฝึกกับรบพิเศษ ไทยเราได้พัฒนาความสามารถ

"การฝึกครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ การต่อต้านก่อการร้าย ดังนั้นการฝึกแลกเปลี่ยนครั้งนี้ได้รับประโยชน์มาก"


อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหวังว่า จะมีกำลังพลของจีนเข้ามาร่วมฝึกกับกองทัพไทยมากขึ้น เพราะทั้ง 2 ประเทศ มีปัญหาเหมือนกัน คือ การก่อการร้าย เราจึงพยายามจะพัฒนาด้านการทหารทั้ง 2 ฝ่าย ด้วยการฝึกผสม

เชื่อหลังจากนี้ คงจะได้เห็นยุทโธปกรณ์ทางการทหารของกองทัพจีนมาโชว์ในประเทศไทยบ่อยครั้งขึ้น
ทีมข่าวความมั่นคง รายงาน.