รวมนานาทรรศนะ แนวทางออกจากวิกฤติการเมืองลูกใหญ่ ของสังคมไทย ในขณะนี้...
เข้าสู่วันที่ 30 ของการชุมนุมภายใต้การนำ ของอดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ อย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 31 ตุลาคม นับแต่ที่เสียงข้างมากในสภา ลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระที่ 3
1 เดือนที่ผ่านมา สถานที่จัดการชุมนุมถูกเปลี่ยนหลายครั้ง รวมไปถึงเงื่อนไขการชุมนุมเช่นกัน ที่เริ่มจากการต้านกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นการล้มรัฐบาล และระบอบทักษิณ โดยมีมวลชนจำนวนมากเข้าร่วม
แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การขับเคลื่อนมวลชนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองเช่นนี้ จะมีจุดจบอยู่ที่ใด?
ท่ามกลางความสับสนของสังคม ว่าปมความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้น ได้มีหลากหลายความเห็นจากนักวิชาการถูกเสนอ เพื่อเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่ทางออกจากหลุมดำของความขัดแย้งในครั้งนี้ ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้รวบรวมข้อเสนอแนะ และทางออกที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ มาให้ทุกคนได้ฉุกคิด
เริ่มจากกลุ่มนักวิชาการ นำโดย นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ น.ส.พวงทอง ภวัครพันธุ์ นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล นายประจักษ์ ก้องกีรติ ออกแถลงการณ์เสนอทางออก
1. รัฐบาลให้ประชาชนลงประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และจัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้น จึงให้รัฐบาลประกาศยุบสภา เพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่
ด้านที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยมีมติ
1. เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา
...
2. กำหนดเงื่อนไข เพื่อไม่ให้สถานการณ์บ้านเมือง มีปัญหาเหมือนปัจจุบัน
3. มีคนกลาง เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย หารือในประเด็นการออกกฎหมายที่มีปัญหา เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายนิรโทษกรรม กฎหมายกู้เงิน ให้ได้ข้อสรุปก่อนยุบสภา
4. ตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลาง และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อปฏิรูปประเทศไทย
5. การรณรงค์ต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน
6. การยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
7. การบริหารประเทศในระหว่างการยุบสภา
8. เรียกร้องให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ชุมนุมในขณะนี้
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนเสนอให้
1. หน่วยงานปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา
2. ยึด รธน. ปฏิบัติร่วมกัน
3. ถอยคนละก้าว ให้มีการเจรจา
มูลนิธิองค์กรกลาง เสนอให้
1. ฝ่ายการเมือง ชะลอบทบาททางการเมือง
2. ถอยคนละก้าว เลิกพฤติกรรมยั่วยุ
3. ยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคง
4. ตั้งอนุญาโตตุลาการ เพื่อยุติปัญหา
ขณะที่ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองและอดีตนายกรัฐมนตรี แนะนำให้ นำเรื่องง่ายมาคุยกันก่อน คือ ปัญหาความยากจนของประชาชน มิใช่นำเรื่องยากมาคุยกัน เพราะคุยเท่าไร ก็ไม่รู้เรื่อง
และนี่คือ "ข้อเสนอ" ของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งไม่อยากให้ประเทศไทยเกิดความขัดแย้ง จนนำไปสู่การนองเลือดขึ้น ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ จะเป็นจริงได้ ต้องรับการ "ตอบสนอง" จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง.