ป.ป.ช. นัดถก คดีไต่สวนถอดถอน ขุนค้อน-นิคม นัดแรก อังคาร 26 พ.ย.นี้ เผย ลุยคดีถอดถอนก่อน ยัน คำวินิจฉัยศาลผูกพันทุกองค์กร...

วันนี้ (22 พ.ย.56) เวลา 10.30 น. ที่เมืองทองธานี นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษกคณะกรรมการป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนกรณีถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาและนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภาว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่าให้กรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนโดยเร็ว นั่นหมายความว่าอย่าช้า แม้นไม่ได้ระบุว่ากี่วันก็เป็นที่ทราบกันดีว่าอย่าช้า ซึ่งกรรมการ ป.ป.ช.จะไม่ทำแบบฉุกละหุก รีบร้อนไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกกล่าวหาว่า ป.ป.ช.ลักหลับ นั่นคงไม่ดี และจะดำเนินการไปตามขั้นตอนกฎหมาย คือเรียกขอเอกสารรายละเอียด โดยเฉพาะเอกสารคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องรอในส่วนที่เป็นข้อสรุปข้อเท็จจริงตามข้อกฎหมาย อย่างไรก็ตามทางคณะอนุกรรมการไต่สวนได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อทำเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ดูแล เป็นคณะทำงานเฉพาะกิจเร่งด่วน และมีบุคลากรกฎหมายในแต่ละด้านเป็นการเฉพาะ ไม่เพียงแค่ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ ใน ป.ป.ช.เท่านั้น ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้ประสานขอเอกสารไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

นายวิชา กล่าวว่า ตามกระบวนการทาง ป.ป.ช. จะต้องแจ้งให้เจ้าตัวผู้ถูกร้องทั้งสองได้ทราบก่อนว่า ป.ป.ช.มีคำสั่ง และเป็นการให้โอกาสที่จะให้ชี้แจง ให้ถ้อยคำ ซึ่งในวันอังคารที่ 26 พ.ย.นี้ อนุกรรมการจะเริ่มประชุมนัดแรกว่าแผนการไต่สวนจะดำเนินการอย่างไร เพื่อรายงานให้ที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ได้รับทราบขั้นตอนการทำงานและข้อมูลโดยละเอียด

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประกาศไม่รับอำนาจศาล จะส่งผลกระทบต่อการไต่สวนของ ป.ป.ช.หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ผูกพันทุกองค์กรแห่งรัฐ ซึ่ง ป.ป.ช.ก็เป็นองค์กรแห่งรัฐ ดังนั้น ป.ป.ช.จะทำอย่างอื่นไม่ได้ ดังนั้นต้องนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นพื้นฐานในการไต่สวนด้วย เช่นเดียวกับคดีอื่นๆ อีกหลายคดีเพื่อลงลึกในรายละเอียดของข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าการที่เขาไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหาสำหรับการไต่สวนของ ป.ป.ช. เพราะจะเหมือนคดีทั่วๆ ไปที่บางคนก็ไม่มา ซึ่งนั่นเป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา และป.ป.ช.ก็ให้โอกาสตามสิทธิ

“หลายคดี ที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาเลยก็มี เป็นสิทธิ แต่ ป.ป.ช. ก็ต้องเรียกให้มาให้ถ้อยคำ แต่ถ้าท่านปฏิเสธ มันก็จบตรงนั้นสำหรับคนๆ นั้น ถือว่าเสียสิทธิ ไม่ได้มีการขัดต่อกฎหมาย ป.ป.ช.แต่อย่างใด เพราะ ป.ป.ช.คงไปบีบคอไม่ได้ แต่ถ้ามีข้อชี้แจง ต้องการให้ถ้อยคำ ป.ป.ช.ก็ให้โอกาสและยินดี เหมือนอย่างศาลรัฐธรรมนูญที่ได้เรียกมาทุกคน บางคนก็มาบางคนไม่มา ไม่มาก็เสียสิทธิ มันเป็นเรื่องของสิทธิ” นายวิชา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่หากข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครบถ้วนแล้ว ป.ป.ช.ไม่ต้องไต่สวนเพิ่มมากนัก โฆษก ป.ป.ช. กล่าวว่า อยู่ดีๆ จะให้ป.ป.ช.จบตรงนั้นไม่ได้ เพราะต้องปฏิบัติตามกระบวนการไต่สวนที่มีอยู่ คือต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหา ต้องดูให้ครบถ้วน ต้องแจ้งผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด โดยจะไต่สวนเรื่องร้องถอดถอนก่อนเรื่องอาญา เนื่องจากเรื่องอาญานั้นละเอียดซับซ้อนกว่า

“เรื่องการเสียบบัตรแทนกัน การปลอมเอกสารนั้นก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการไต่สวนของ ป.ป.ช. เพราะเป็นเรื่องของจริยธรรม แต่อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ต้องขอดูข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยก่อน เพราะเท่าที่ทราบมีรายละเอียดเป็นจำนวนมาก แต่เรื่องถอดถอนจะต้องเสร็จก่อนเรื่องอาญาแน่นอน เพราะเรื่องถอดถอนทำก่อนทำเร็ว เหมือนคดีถอดถอนที่ ป.ป.ช.เคยทำมา เราไม่เคยช้า จะเห็นได้ว่าไม่เคยช้า ไม่ว่าเป็นเรื่องถอดถอนใคร แต่เมื่อส่งไปถึง ส.ว.แล้วโอกาสที่จะลงมติถอดถอนนั้นยาก แต่ ป.ป.ช.ก็ต้องทำตามกฎหมาย” นายวิชา กล่าว

เมื่อถามว่า หาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลแล้วผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีหรือไม่ โฆษก ป.ป.ช. กล่าวว่า “ขอให้ไปอ่าน มาตรา 272 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญ”

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่จะมีการยื่นร้องให้ตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายวิชา กล่าวว่า สิทธิในการตรวจสอบ ใครๆ ก็ร้องได้ทั้งนั้น เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีคนมาร้อง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว เช่น กรณีไต่สวนนายบุญส่ง กุลบุปผา เรื่องลูกชาย หากจะตรวจสอบก็ร้องมา ป.ป.ช.ก็ดำเนินการ แต่จู่ๆ จะให้ดำเนินการโดยไม่มีผู้ร้องไม่ได้

เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะดำเนินคดีอาญากับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผิด ม.112 กรณีอ่านคำวินิจฉัยในขณะที่ร่างนั้นอยู่ระหว่างนำขึ้นทูลเกล้าฯ นายวิชากล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะยังไม่เห็นเรื่องฟ้องร้องกันในเรื่องนี้ เห็นเพียงข่าวที่เขาแถลง

จำนำข้าวคืบ ยืนยัน สิ้นเดือน พ.ย.นี้ สรุปข้อมูลรายงานอนุกรรมการ

เมื่อเวลา 10.30 น. ที่เมืองทองธานี นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีไต่สวนข้อกล่าวหาทุจริตจำนำข้าวว่า มีความคืบหน้าไปมาก และตนขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิทุกด้าน และผู้บริหารระดับสูงของเอกชนที่เต็มใจมาให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช.เป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยคาดมาก่อน แต่ตอนนี้ยังให้โอกาสแก่คนที่ถูกเชิญมาให้ถ้อยคำ แต่ยังไม่ยอมมา เมื่อไม่รับโอกาสก็ช่วยไม่ได้ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าสิ้นเดือน พ.ย.นี้คณะทำงานจะสรุปผลข้อมูลที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงรายงานต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการ เช่น ผลการตรวจสอบโกดัง โรงสี ซึ่งมีข้อมูลจำนวนมาก เมื่อรายงานให้คณะอนุกรรมการทราบแล้ว ก็จะเป็นการรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ทราบต่อไป

...