“แก่อย่างสง่า ชราอย่างมีคุณภาพ”...คำขวัญของ
โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลหัวง้ม อำเภอพาน จังหวัดเชียงรายภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่า...โครงสร้างประชากรของประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลง มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมกันสร้างค่านิยม โครงสร้างทางสังคม และความพร้อม ในการเป็นสังคมผู้สูงอายุ อย่างมีคุณภาพ
เช่นเดียวกับที่ตำบลหัวง้ม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ที่นี่มีประชากร 6,700 กว่าคน ซึ่งตอนนี้มีผู้สูงอายุประมาณ 1,400 กว่าคน อัตราเกิดน้อย... เนื่องจากสังคมของตำบลหัวง้มได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมา 3 ปีแล้ว
พระอาจารย์สุจิณกัลยาณธรรม วัดศรีเมืองมูล รองเจ้าคณะอำเภอพาน จ.เชียงราย ผู้ก่อตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุได้เล่าถึงที่มาที่ไปของการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุของตำบลหัวง้มขึ้นมาว่า ที่นี่เคยประสบกับปัญหาของผู้สูงอายุ อาทิ การทำร้ายตัวเอง การฆ่าตัวตายซึ่งนับวันจะมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทาง อบต.หัวง้ม จึงได้รวมตัวกับผู้นำชุมชน วัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร
โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ขาดโอกาส ขาดการดูแลเอาใจใส่ได้กลับมามีวิถีชีวิต มีความสุข และมีองค์ความรู้มีภูมิความรู้ที่ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลาน จึงได้เกิดเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุขึ้นในปี 2553 โดยจะสอนให้ผู้สูงอายุมีความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินชีวิต เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ
ก่อนเข้าเรียน นักเรียนทุกคนต้องเข้าแถวเคารพธงชาติ สวดมนต์ เหมือนโรงเรียนทั่วไป...การเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 3 ชั้นปี เรียนชั้นปีละ 24 สัปดาห์ ทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่ 08.00–15.00น. ณ วัดศรีเมืองมูล หมู่ที่ 8 บ้านบวกขอน ตำบลหัวง้ม ซึ่งชาวบ้านต่างตำบลที่สนใจสามารถมาสมัครเรียนได้
ช่วงเช้า...จะเป็นรายวิชาที่ให้ความรู้ เน้นวิชาที่ผู้สูงอายุควรมีความรู้ และในสิ่งที่ผู้สูงอายุอยากรู้ วิชาแรกจะเป็นวิชาพระพุทธศาสนา วิชาที่ 2...เป็นวิชาที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย ก็จะเป็นวิชาที่ผู้สูงอายุควรรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเบื้องต้น เกี่ยวกับการทานอาหาร สิ่งที่ผู้สูงอายุควรทาน การออกกำลังกายยังไงให้เหมาะกับวัย
“สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้สูงอายุควรรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย” พระอาจารย์สุจิณกัลยาณธรรม ว่า “แล้วก็มาถึงวิชาที่ 3...วิชาสังคมวัฒนธรรม จะเป็นความรู้ทั่วไป วิชาเกี่ยวกับกฎหมาย คอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ส่วนภาคบ่ายเป็นการเรียนรู้ตามอัธยาศัย โดยให้ผู้สูงอายุรวมกลุ่มจัดกิจกรรมนันทนาการ เช่น การเล่นเปตอง การรำไม้พลอง ร้องเพลง และรำวงย้อนยุค การจักสาน”
คนในตำบลหัวง้มเองเป็นสังคมที่นับถือศาสนาพุทธ 100 เปอร์เซ็นต์ ทุกคนควรมีความรู้เกี่ยวกับศาสนาพุทธ แต่หลายคนก็ยังไม่เคยทราบเลยว่าศาสนาพุทธ เกิดที่ไหน มีประวัติความเป็นมาอย่างไร บางคนก็ยังไม่ค่อยเข้าใจหลักการสอนของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้ ท่านเองจะสอนผู้สูงอายุเกี่ยวกับเรื่องความดีความชั่ว เรื่องการทำใจให้สงบ การดำเนินชีวิตในสังคมผู้สูงอายุ
“โรงเรียนผู้สูงอายุ”...เป็นการจัดการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องการให้ผู้สูงอายุมีความเข้าใจในเรื่องที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ดังวิสัยทัศน์โรงเรียนผู้สูงอายุ “รู้จริง ปฏิบัติได้ ถ่ายทอดเป็น”...
ครูสมศรี เมืองขวัญใจ อายุ 62 ปี ครูอาสาโรงเรียนผู้สูงอายุสอนวิชาสังคม และภาษาอังกฤษ บอกว่า ในฐานะที่เคยเป็นครูมา
ก่อน แต่ตอนนี้เกษียณแล้ว คิดว่าอยากทำประโยชน์อะไรให้สังคมบ้าง เห็นว่าโรงเรียนผู้สูงอายุมีกิจกรรมที่ดีๆ ตอนแรกๆก็คิดจะเข้ามาสมัครเรียนเพราะคิดว่าน่าจะดี แต่ทาง อบต. บอกว่ามาเป็นครูสอนนักเรียนผู้สูงอายุดีกว่า โดยจะสอนเรื่องเกี่ยวกับสังคม ผู้สูงอายุควรรู้เรื่องอะไรบ้าง
“มีความสุขที่ได้มาสอนที่นี่ เนื่องจากวัยอาจใกล้เคียงกัน อีกอย่างผู้สูงอายุที่นี่ก็มีไมตรีที่ดี รู้สึกภูมิใจที่เป็นผู้ให้ อย่างไม่หวังผลตอบแทน”
ตายืน คหบดีกนกกุล วัย 87 ปี ชาวบ้านตำบลม่วงคำอ.พาน จ.เชียงราย นักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุ ชั้นปีที่ 1 เป็นผู้ที่อายุมากที่สุดในโรงเรียนผู้สูงอายุ เล่าว่า มาเรียนที่นี่เพราะว่าได้ยินคนอื่นเค้าพูดกันว่าเรียนที่นี่สนุกดี ได้พบปะเพื่อนมากมายและมีกิจกรรมให้ทำเยอะแยะไม่เหงา ก็เลยให้ลูกสาวพามาสมัครเรียน
“แล้วก็มีความสุขจริงๆ ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ได้ความรู้มากมาย” คุณตายืน ว่า “ชอบเรียนทุกวิชา ชอบครูผู้สอนน่ารักใจดี พอใกล้ถึงวันพฤหัสฯทีไรรู้สึกตื่นเต้น เพราะจะได้มาโรงเรียน ได้เจอเพื่อนๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน...ถ้าร่างกายยังไหวอยู่ตั้งใจจะเรียนจนถึงชั้นปีที่4”
สมพิศ ปันโยแก้ว อายุ 58 ปี ชาวบ้านตำบลม่วงคำ อ.พาน จ.เชียงราย นักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุ ชั้นปีที่ 1 ลูกสาวคุณตายืน เสริมว่า ตอนแรกก็แค่มาส่งคุณตา ทำไปทำมาก็เลยสมัครเรียนด้วยเพราะว่าเป็นห่วงคุณตาเนื่องจากท่านชรามากแล้ว คิดว่าสิ่งไหนที่ทำให้พ่อมีความสุขก็จะทำให้... “พ่อมีความสุข ลูกก็มีความสุข”
ระยะทางจากบ้านมาที่โรงเรียนผู้สูงอายุ 8 กิโลเมตร จะขับมอเตอร์ไซค์โดยมีคุณตายืนซ้อนท้าย ถ้าหากวันไหนฝนตกก็จะเอาร่มหรือผ้ายางคลุมตัว แต่บางทีกว่าจะมาถึงก็เปียกไปทั้งตัว เรียกว่าต่อให้มีอุปสรรคแค่ไหนเพื่อความสุขของพ่อ ป้าสมพิศก็จะไม่ยอมย่อท้อ
“บรรยากาศการเรียนการสอนที่นี่ดีมาก เพราะทุกคนเป็นกันเอง ดีใจมากที่ตำบลหัวง้มให้โอกาสคนในตำบลรอบข้างมาเรียนได้ คุณครูที่มาสอนก็ใจดี๊...ใจดี”
ทุกครั้งที่มีการเลื่อนชั้น ทุกคนจะต้องผ่านการสอบ หากไม่ผ่านก็ต้องสอบใหม่จนกว่าจะผ่าน เมื่อจบหลักสูตรชั้นปีที่ 3 แล้ว หลายคนไม่อยากเลิกเพราะมีความสุขกับการเจอเพื่อนๆ ดังนั้น เมื่อเสียงเรียกร้องมากขึ้น ในที่สุดก็ต้องเปิดหลักสูตรชั้นปีที่ 4 หรือ...มหาวิทยาลัยผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการเรียนที่ไม่มีวันสิ้นสุด
บัวเหลียว สีเขียว วัย 69 ปี ชาวบ้านตำบลหัวง้ม นักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุ ชั้นปีที่ 4 บอกสั้นๆว่า มาเรียนก็ได้พบปะเจอเพื่อนๆมากมายทั้งในตำบล...ต่างตำบล ได้ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ใจจริงก็อยากมาเรียนทุกวัน
สังคมไทยปัจจุบันกำลังเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ ส่วนหนึ่งจะมีลูกหลานดูแลอยู่แต่บางครั้งอาจจะไม่เข้าใจว่าผู้สูงอายุท่านต้องการอะไร ก็ปล่อยทิ้งให้อยู่บ้าน...ก็เหงา ถ้าหากเราหันมาสนใจว่าถ้ามีกลุ่ม หรือชมรมอะไรก็ได้ที่สามารถทำให้ผู้สูงอายุไปรวมกัน มีคนดูแลใกล้ชิด ความเหงาที่เคยคิดน้อยอกน้อยใจก็จะเลือนหายไป
กลุ่มคนวัยเดียวกัน ได้ไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน นี่คือ...ความสุข ฉะนั้น ลูกหลานที่มัวแต่ทำงาน หรือละเลยอยู่ควรหันกลับมาดูแลใส่ใจคนใกล้ชิด ครอบครัวก็จะมีความสุข ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะได้ไม่เหงาหงอย
อย่างน้อย 1 อาทิตย์... 1 วัน ได้ไปเจอกัน พูดคุยกัน
การดำเนินชีวิตเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพตามคำกล่าวที่ว่า “แก่อย่างสง่า ชราอย่างมีคุณค่า” ...ชาวตำบลหัวง้ม อ.พาน จ.เชียงราย สามารถขับเคลื่อนเป็น “ตำบลสุขภาวะ”...ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ตอกย้ำ... “ชุมชนท้องถิ่น” เป็นฐานสำคัญของประเทศไทย เพียงแต่วันนี้เราควรเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ด้วยการเริ่มต้นส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน.
...