จากงานวิจัย มาเป็นหนังสือ พระพุทธรูปสำคัญ และพุทธศิลป์ในดินแดนไทย (สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ) ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เขียนเรื่องพระพุทธโสธร วัดโสธรวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา ไว้ว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีผู้ศรัทธาไปกราบไหว้มากที่สุดในประเทศไทย
พระพุทธโสธร หรือเรียกกันทั่วไปว่า หลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีประวัติว่า ประดิษฐานที่วัดโสธรฯ ราว พ.ศ.2313
มีตำนานเล่าว่า หลวงพ่อโสธร เป็นหนึ่งในสาม พระพุทธรูปทางเหนือ ที่แสดงปาฏิหาริย์ลอยน้ำมาพร้อมกัน ชาวบ้านได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานตามวัด องค์พี่ใหญ่ คือหลวงพ่อบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม องค์กลางคือหลวงพ่อโสธร วัดโสธรวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา
และองค์เล็ก คือหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ
สำหรับหลวงพ่อโสธร เมื่อลอยมาถึงหน้าวัด มีพระอาจารย์ผู้ทรงความรู้ ทำพิธีบวงสรวง ใช้สายสิญจน์อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ วัดโสธรฯได้สำเร็จ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาว่า
กลับมาแวะวัดโสธร ซึ่งกรมดำรงคิดจะแปลว่า ยะโสธร จะให้เกี่ยวแก่การที่ได้สร้างเมือง เมื่อเสด็จกลับจากไปตีเขมร แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หรือเมื่อใดนั้น
แต่เป็นที่สงสัย ด้วยเห็นไม่ถนัด
พระพุทธรูปทำด้วยศิลาแลงทั้งนั้น องค์ที่สำคัญว่าเป็นหมอดีนั้น คือองค์ที่อยู่ตรงกลาง ดูรูปตักและเอวงาม ทำนองเดียวกับพระพุทธรูปเทวปฏิมากร (พระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน) แต่ตอนบน กลายเป็นฝีมือผู้ที่ไปปั้น
ว่าลอยน้ำมา ก็เป็นความจริง เพราะเป็นศิลา คงทำไม่ได้ ในที่นี้
ศ.ดร.ศักดิ์ชัยบอกว่า หลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปหินทราย สมัยอยุธยาตอนต้น ขนาดไม่ใหญ่โตนัก ประการสำคัญไม่มีความงดงามทางด้านศิลปกรรม หรือสุนทรียศาสตร์นัก เมื่อเทียบกับพระพุทธรูปสำคัญองค์อื่น
หลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปที่เกิดจากการนำหินทรายมาประกอบเข้าด้วยกัน
จากหลักฐานการบูรณะครั้งสำคัญโดยกรมศิลปากร พบว่าหลวงพ่อโสธร สลักจากหินทรายที่เป็นชิ้นๆ รวม 8 ชิ้น แล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกัน โดยการปั้นปูนพอกทับ และลงรักปิดทอง
เป็นเทคนิคสลักพระพุทธรูปหินทราย ที่พบมากในสมัยอยุธยาตอนต้น
ว่ากันด้วยพุทธศิลป์ หลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลมแป้น พระขนงโก่งเล็กน้อย พระเนตรเล็กหรี่ เหลือบลงต่ำ พระโอษฐ์เล็ก สีพระพักตร์ขรึมแบบอยุธยา ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมร
มีอุษณีและพระรัศมีทรงสูง การทำพระรัศมีเป็นทรงสูง น่าจะเป็นพระรัศมีแบบเปลว
พระวรกายท่อนบน โดยเฉพาะพระอุระเล็ก เมื่อเทียบกับพระเพลาหรือหน้าตักที่กว้างมาก สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ และยาวลงมาจรดพระนาภี ปลายแยกเป็นสองชายคล้ายเขี้ยวตะขาบ
ลักษณะทางพุทธศิลป์ พระพักตร์เคร่งขรึม สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่และยาวจรดพระนาภี เป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปหินทรายที่รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะเขมร
การมีพระรัศมีเป็นทรงสูง หรือเป็นเปลว จัดเป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ 2
อยู่ในศิลปะอยุธยาตอนต้น สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสถึง
แต่เรื่องพุทธศิลป์ ศ.ดร.ศักดิ์ชัย กล่าวว่าเป็นคนละเรื่องกับศรัทธาประชาชน ที่มากราบ ไหว้ ความศรัทธาอาจเกิดจากคติความเชื่อในการบูชา ที่มีการขอพร และได้สมปรารถนา เช่นการขอลูก ขอให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ฯลฯ.
...
O บาราย O