แม้เรื่องราวของเขื่อนแม่วงก์ จะยาวนานจนแทบกลายเป็นตำนานไปแล้ว แต่ในช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ เรื่องของเขื่อนแม่วงก์ กลับถูกหยิบยกมาพูดอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์ พร้อมกับภาพความเคลื่อนไหวการคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ทั้งที่ความจริงแล้วที่มาโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้นมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2525 หรือกว่า 31 ปีมาแล้ว…!!!
แต่แรกเริ่มเดิมทีนั้น โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ได้รับการริเริ่มจากกรมชลประทาน เมื่อปี พ.ศ.2525 โดยจากประวัติกรมชลประทานพบว่าอธิบดีในยุคนั้นคือ ร.อ.สุนทร เรืองเล็ก
ตามโครงการแล้ว เขื่อนแม่วงก์ ถูกจัดเป็นโครงการสร้างเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียวขนาดใหญ่ ที่วางแผนการก่อสร้างบริเวณเขาสบกก ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อมุ่งหวังแก้ปัญหาน้ำท่วมและเพื่อให้เกษตรกรในเขตชลประทานมีน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง มิติของเขื่อนแม่วงก์นั้น มีความสูง 57 เมตร สันเขื่อนยาว 730 เมตร กว้าง 10 เมตร มีความจุของอ่างเก็บน้ำประมาณ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้เวลาก่อสร้างราวๆ 8 ปี
จากนั้นมาอีกนับ 10 ปี โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็อยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียดต่างๆ และเริ่มห่างหายไปจากความทรงจำของผู้คน
จนกระทั่งปี พ.ศ.2537 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ก็มีมติให้กรมชลประทานศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม บริเวณพื้นที่ที่จะใช้ในการก่อสร้างและพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ
จนเวลาล่วงเลยมาถึงปี พ.ศ.2541 มติที่ประชุม คชก.เมื่อวันที่ 23 มกราคม สรุปว่า "ไม่เห็นชอบกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์".... พร้อมกันนั้นในปีเดียวกัน นายชาตรี ช่วยประสิทธิ์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ออกมาระบุถึงรายละเอียดว่า คณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมได้ศึกษาเส้นทางการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ พบว่าพ้นที่ส่วนล่างในเขตเขาชนกันที่เป็นพื้นที่นอกอุทยานนั้นจะได้รับผลกระทบมากโดยเฉพาะกับประชาชนที่อาศัยอยู่ ส่วนที่เขาสบกกนั้น มีระบบนิเวศดีมากเพราะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ หากมีการก่อสร้างเขื่อน จะกระทบสิ่งแวดล้อมเช่นกัน จึงมีความเห็นว่าไม่ควรสร้างเขื่อนแม่วงก์ และจะเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไป ส่วนการตัดสินใจสร้างหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังเห็นว่าเขื่อนทับเสลาที่มีอยู่ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควรด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ.2542 นายปลอดประสพ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ในขณะนั้น ก้าวเข้ามามีบทบาทในกรณีของเขื่อนแม่วงก์ โดยเป็นผู้สั่งห้ามไม่ให้กรมชลประทานเข้าศึกษาพื้นที่ป่าบริเวณแนวก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งการกระทำครั้งนั้น ส่งผลให้องค์กร ชมรม กลุ่มศิลปิน และอีกมากมายหลายๆ ส่วน ต่างออกมาแสดงความชื่นชมในการตัดสินใจของนายปลอดประสพ ซึ่งเจ้าตัวเองกล่าวว่า
"การตัดสินใจไม่อนุญาตให้เข้าไปสร้างเขื่อนในป่าแม่วงก์นั้น เป็นการตัดสินใจของตนเองเพียงคนเดียวในฐานะอธิบดีกรมป่าไม้ หลังจากพิจารณาข้อมูลรอบคอบแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการรักษาผืนป่าไว้ หากปล่อยให้ใช้อย่างฟุ่มเฟือยไปเรื่อยต่อไปคงไม่มีป่าเหลืออย่างแน่นอน...." นายปลอดประสพฮีโร่ยุคนั้นกล่าว
กระทั่งในปี พ.ศ.2543 ก็เริ่มมีการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยจัดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จ.นครสวรรค์ มีผู้ร่วมรับฟังราว 300 คน ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยเข้าร่วม จากนั้นโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็ถูกลากถูไปกับห้วงความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ก็ไม่มีข้อยุติที่ชัดเจนว่าจะสร้าง หรือ ไม่สร้าง? จะมีก็เพียงแต่รายงานของแต่ละฝ่ายที่ถูกนำเสนอออกมาทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับการก่อสร้าง และฝ่ายที่คัดค้านการก่อสร้าง บางยุคสมัย โครงการเขื่อนแม่วงก์แทบจะถูกล้มพับไปด้วยคนการเมือง แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนผ่าน โครงการดังกล่าวก็ถูกดึงกลับมาปัดฝุ่นกันใหม่อีกครั้ง เป็นอย่างเรื่อยมา กระทั่ง…..
...
ปี พ.ศ.2555 ยุคสมัยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ความชัดเจนในโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็เริ่มปรากฏ เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 เม.ย. เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในงบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาสร้าง 8 ปี
ส่วนรายละเอียดของมติที่ประชุมครั้งนี้นั้น นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ออกมาแถลงหลังการประชุม ครม.ที่รัฐสภาเสร็จสิ้น โดยนายปลอดประสพกล่าวว่า
"ครม.อนุมัติหลักการให้มีการจัดสร้างเขื่อนแม่วงก์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อใช้ในการคุมปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำคลองโพธิ์ และห้วยทับสะเดา ปริมาณ 1.3 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีที่อยู่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท โดยในฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำสูงถึง 1 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีจะเป็นประโยชน์กับการคุมปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เขื่อนเจ้าพระยาสามารถรองรับน้ำได้มากขึ้น"
นายปลอดประสพกล่าวต่อว่า "การตัดสินใจสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น เริ่มคิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 แต่เพิ่งจะมามีความชัดเจนในรัฐบาลนี้ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1.3 หมื่นล้านบาท ก่อสร้าง 8 ปี เสร็จภายในปี 2562 ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเร่งรัดการสำรวจผลกระทบต่อชุมชน เร่งรัดการอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพรรณพืชต่อไป".....
มาถึงวันนี้ แม้ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมีมติออกมาเช่นนั้นไปแล้ว แต่การต่อสู้คัดค้านของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็ยังคงดำเนินต่อไปต่อเนื่อง ยิ่งในยุคสมัยที่โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นเหมือนแหล่งสร้างแนวร่วม รวมพลัง ยิ่งเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวในการคัดค้านออกมาในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เริ่มจากการเดินเท้าทางไกลแสดงความไม่เห็นด้วยของแกนนำหลักๆ ที่ตลอดรายทางมีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ หลายทาง
จากที่มีเพียงคนไม่กี่คนที่เห็นคุณ เห็นโทษ ของการสร้างเขื่อนแม่วงก์ แรงกระเพื่อมในโลกออนไลน์ ก็ยังส่งคลื่นออกไปอยู่อย่างต่อเนื่องจนมาถึงคนเมือง ล่าสุดกลุ่มไฮโซ เซเลบ ในแวดวงสังคม และดารา ต่างจับกลุ่มใช้ช่องทางสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น ทั้ง Instagram facebook twitter ซึ่งทุกวันนี้แทบจะกลายเป็นสื่อหลักในการติดตามข่าวสารไปแล้ว ผลที่ตามมาคือกลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน และคนเมือง เริ่มหันมาให้ความสนใจกันว่า เขื่อนแม่วงก์ คืออะไร สร้างแล้วเป็นอย่างไร ถ้าไม่สร้างอะไรจะเกิดขึ้น?
เปรียบมวยดูแล้ว ฝ่ายหนุนจะสร้างเหมือนชิงนำไปก่อน ด้วยมติ ครม.ที่ออกมาอย่างเป็นทางการ ส่วนฝ่ายคัดค้าน แม้จะยังตามแต้มอยู่แต่เหมือนไล่สปีดเพิ่มมากขึ้นทุกที จากนี้ไปก็คงเข้าสู่ช่วงสงครามข้อมูลข่าวสารและการชิงมวลชนด้วยยุทธวิธีต่างๆ การบ้านใหญ่ของกลุ่มคัดค้านที่ต้องเร่งแสดงกิจกรรมและการมีส่วนร่วม
เมื่อเดินมาจนถึงบรรทัดนี้ก็ให้คาใจอยู่ปมหนึ่งกับเจ้าของวลี "ป่าสร้างได้" นายปลอดประสพ สุรัสวดี เพราะสมัยเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ เคยออกตัวคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์จนได้รับการชื่นชมจากหลายฝ่ายกลายเป็นฮีโร่ แถมให้เหตุผลสำทับว่าต้องรักษาป่าไว้ไม่งั้นหมด...
แต่ให้หลังเมื่อก้าวนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ผ่านยุคที่น้ำท่วมครึ่งค่อนประเทศไป ท่านรัฐมนตรี "ปลอดฯ" มาพร้อมวลีใหม่ ป่าสร้างได้ เป็นเหตุผลทดแทน การอนุมัติสร้างเขื่อนแม่วงก์
ก็คงต้องว่ากันไป....