ถึงวันนี้ 8 ส.ค.คอนเสิร์ต กู่เจิง จันทร์กลางฟ้า ที่ศูนย์วัฒนธรรม แสดงเป็นวันสุดท้าย...ผมไปดูแล้วฟังแล้ว เสียดายแทน...เพื่อนๆ หลายคนที่ไม่ได้ไป

ฝีมือดีดกู่เจิง ของอาจารย์หลี่หยาง ไพเราะ ลึกล้ำ เกินคำบรรยาย

เริ่มต้นด้วยเสียง แผ่วเบา...เหมือนเสียงลมกระซิบแผ่วผ่านแมกไม้...แล้วก็ค่อยๆเร่งพลังกังวาน จนฟังเหมือนเสียงฝนเสียงฟ้าคำราม ดุดันกราดเกรี้ยว ผมถูกเสียงกู่เจิงสะกดจนลืมหายใจ...พอตั้งสติได้ ก็เพ่งไปที่แหล่งกำเนิดเสียง

เครื่องดนตรีมีความยาวราว 1 วา มี 21 เส้นสายขึงตึงที่ถูกสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือเรียวบาง บางครั้งก็กรีดกราย บางคราวก็ร่ายรำ อ่อนไหวไปมา...กลมกลืน ขัดแย้ง ซับซ้อน...ทั้งอ่อนหวาน ทั้งดุดัน ทั้งโหยหาและอิ่มเอม

ความรู้สึกประดามีที่ว่านี้ มาจากการฟัง ทั้งเพลงภูเขา จากเสฉวน เพลงปักถุงผ้าบุหงา จากหยีปิง เพลงรีบเร่งไปตลาดนัด เพลงพื้นบ้านชนบทจีน ฯลฯ กระทั่ง เพลงลาวดวงเดือน เพลงค้างคาวกินกล้วย และเพลงลาวแพน ของไทย

ไม่เชื่อ ก็ต้องเชื่อกับหู เพลงไทยในลีลากู่เจิง  ฝีมือหลี่หยางนั้น ไพเราะชำแรกแทรกเข้าไปในส่วนลึกสุดของอารมณ์...ของมนุษยชาติทุกคน ที่ล้วนแล้วแต่มีความหลังฝังใจ...

แต่เสียงเพลง เพลงคลาสสิกที่ต้องใช้พลัง...ฝีมือขนาดนี้ไม่ได้เกิดจากสวรรค์ประทาน หลี่หยาง ตั้งใจฝึกซ้อมถึงวันละ 5 ชั่วโมง ต่อเนื่องสองเดือน เพื่องานนี้ งานหน้าเธอบอกว่า “หนักเกินไป ไม่เอาอีกแล้ว”

กู่เจิงมีประวัติยาวนานกว่า 2,500 ปี แพร่หลายแถบมณฑลซ่านซี สมัยราชวงศ์ฉิน กู่เจิง จึงมีอีกชื่อ ฉินเจิง พิณของฉิน เริ่มแรกมี 5 สาย สมัยราชวงศ์ถังเพิ่มเป็น 13 สาย สมัยหยวนและหมิง เพิ่มเป็น 14 สาย และเพิ่มเป็น 16 สายในสมัยราชวงศ์ชิง

ศตวรรษที่ 20 กู่เจิงถูกพัฒนาเป็น 18 สาย จนถึง 21 สายในปัจจุบัน

กล่าวขานกันมานาน เสียงพิณกู่เจิง สดใส บริสุทธิ์ ไพเราะละมุนละไม ชวนให้เคลิบเคลิ้ม นักเล่นฝีมือ สามารถให้เสียงพลิ้วไหว ราวกับล่องลอยอยู่ในหมู่เมฆ สายน้ำ ทั้งยังให้เสียงก้องกัมปนาท ราวคลื่นถล่มทลายภูเขา

ชาวตะวันตกให้สมญากู่เจิง คือ เปียโนตะวันออก บรรเลงเพลงเดี่ยวหรือประกอบในวงศ์ดุริยางค์ได้ ในวงดุริยางค์ กู่เจิงทำหน้าที่เหมือนฮาร์ฟ หรือพิณฝรั่ง

คนตะวันออกอย่างผม เสียงกู่เจิงดึงดูดใจ มากกว่าเสียงเปียโน ดนตรีตะวันตก ยิ่งเสียงกู่เจิง ที่เริ่มแผ่วเบาแล้วกังวานขึ้นจากปลายนิ้ว หลี่หยาง ตอนฟัง หลายครั้งผมเผลอคิดว่า เธอเป็นนางฟ้ามาจากสวรรค์

ผมเคยฟังเสียงเปียโน จากเครื่องล่าสุด ทันสมัยที่สุด ราคาแพงที่สุด เล่นโดยคีตกรผู้มีฝีมือที่สุด...หลายครั้ง...เสียงเปียโน จับใจไม่เหมือนเสียงกู่เจิง

แต่ที่น่าแปลกยิ่งกว่า ก็คือ เจ้าเครื่องดนตรีจีนกระจ้อยร่อยแต่ให้พลังเสียงยิ่งใหญ่ สะกดอารมณ์มนุษย์ด้วยกัน ได้อย่างมหัศจรรย์ เหมือนเอาดนตรีวงใหญ่มาเล่นพร้อมกันทั้งวง เทียบกับเปียโนฝรั่ง...

กู่เจิง ใช้ต้นทุนวัสดุนิดน้อยเหลือเกิน

คำถาม จึงไปถึง หลี่หยาง...พ่อเป็นหมอ ฝึกกู่เจิงมาตั้งแต่อายุ 6 ปี ผมไม่อยากรู้ต่อ ปีนี้เธออายุเท่าใด อยากให้ไปฟังเสียงกู่เจิงด้วยตัวเอง แล้วประเมินประมาณเอากันเอง

ต้นทุนการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ ดีดเครื่องดนตรีฝีมือมนุษย์ทำให้กลายเป็น ทิพยสังคีต ดนตรีจากฟากฟ้า...ได้อย่างไร

โอกาสยังมี หาเวลาไปฟังกู่เจิง จันทร์กลางฟ้า กันนะครับ...นอกจากรายได้ช่วยมูลนิธิผู้บริโภค ต่อสู้สารพัดโพยภัยการเอาเปรียบจากนายทุนแล้ว...ยังพิสูจน์ว่า เราไม่หวั่นไหวกับเสียงปี่เสียงกลอง...ที่กำลังโหมประโคมเร่งเร้าให้เล่นเพลงสงครามการเมือง

เสียงเพลง ไม่ว่ากู่เจิงหรือเสียงอะไร ไพเราะชื่นใจทั้งนั้น...ตรงข้ามกับเสียงระเบิด เสียงปืน ฟังเมื่อไหร่ ซึมเศร้าเหี่ยวเฉาต่อๆไปอีกหลายปี.

...

กิเลน ประลองเชิง