พระมหาสมัย

ในช่วงที่ภาพพจน์พระสงฆ์ไทยกำลังตกต่ำ กำลังทำลาย

ศรัทธาของพุทธศาสนิกชน...พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก เลขานุการมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน วัดบางไส้ไก่ เขตธนบุรี กทม. ตั้งใจที่จะให้ข้อคิด ความรู้ ความเข้าใจแก่ชาวพุทธและผู้คนในสังคม

เมื่อข่าวใหญ่ได้สร้างความสะเทือนใจทำลายศรัทธาของชาวพุทธในเดือนเดียวกันถึงสองกรณีที่ต้องรอการพิสูจน์ให้เกิดความชัดเจน ก็ยังมีข่าวย่อยรายวันของพระสงฆ์ที่ผ่านสื่อมวลชน สังคมออนไลน์...สร้างความเอือมระอาให้กับชาวพุทธไม่จบสิ้น...จากเรื่องหนึ่งก็กลายมาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จึงกลายเป็น “ผีซ้ำด้ำพลอย”

เมื่อย้อนไปในอดีตถึงความไม่สง่างามของพระสงฆ์ไทยบางรูปซึ่งถือว่าเป็นพระสงฆ์ระดับแนวหน้า เป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียง ประชาชนให้ความเคารพนับถือและศรัทธาอย่างมาก ถือว่าเป็นเพชรเม็ดงามในวงการพระพุทธศาสนา เรายังจำกันได้ไหม? นับตั้งแต่นักบวชท่านหนึ่งมีหน้าตารูปหล่อ เทศน์เสียงดี ไปเทศน์ที่แห่งหนตำบลใดก็มีประชาชนไปฟังเป็นจำนวนมาก สุดท้าย...ก็หนีไม่พ้นบ่วงแห่งกาม

“เข้าไปเกี่ยวข้องกับสตรีเพศจนถูกให้ลาสิกขาไป แต่ก็ยังยืนยันว่าตนเองบริสุทธิ์ยังถือเพศเป็นนักบวชอยู่แต่มิใช่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นสิทธิของความเป็นพลเมืองไทย”

รายต่อมาเป็นนักบวชที่มีหน้าตาไม่หล่อ แต่เทศน์เสียงนุ่มไพเราะ มีผู้คนนับถือ...ศรัทธาอย่างมาก จนได้มีโอกาสไปเทศน์สอนชาวพุทธ...ชาวบ้านในต่างประเทศ แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นบ่วงแห่งกามเช่นกัน เมื่อมีสตรีเพศวัยกลางคนออกมาบอกสังคมว่ามีลูกสาวกับนักบวชท่านนั้น แต่ตัวนักบวชก็ไม่ยอมรับจนต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ

และ...รายที่สามที่เป็นนักบวชผู้มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ชานเมืองของกรุงเทพมหานครเรานี่เอง มีผู้คนเคารพ...ศรัทธาเป็นจำนวนมากเพราะเทศน์ดี บุคลิกดี รถยนต์ของประชาชนท่านใดที่ไม่มีสติกเกอร์รูปของนักบวชท่านนี้ติดหน้ารถ ท้ายรถถือว่าเชยพอสมควร แต่สุดท้ายก็ไม่พ้นบ่วงแห่งกามเช่นเดียวกัน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามได้บุกเข้าไปในสำนักแล้วจับกุม ข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงชาวเขาที่อยู่ในความอุปการะภายในสำนัก

“จนบัดนี้ศาลได้ตัดสินแล้วและยังติดคุกกันอยู่...นี่เป็นสามบทเรียน

สอนใจให้กับชาวพุทธและชาวไทยอย่างดี กรณีนักบวชผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง ที่หนีไม่พ้นบ่วงแห่งกาม มิใช่บ่วงแห่งกรรม”

ส่วนพระภิกษุรูปหนึ่งที่ท่านถือว่าเป็น “ศิษย์หลวงพ่อพุทธทาส” ที่มีความชัดเจนแม่นยำในหลักธรรมและพระวินัยย่านนนทบุรี เมื่อมีข่าวฉาววงการคณะสงฆ์หรือเกิดความสับสนในหมู่ชาวพุทธครั้งคราใด สื่อมวลชนก็มักไปขอคำแนะนำและคำตอบจากพระภิกษุรูปนี้ หลายเหตุหลายกรณีท่านก็ได้รับผลกระทบทั้งทางตรง...ทางอ้อม บางทีถูกมองว่าอิจฉาบ้าง เข้าใจผิดบ้าง บางครั้งถึงกับจะถูกดำเนินคดีฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาทบ้าง

แต่สุดท้ายก็ได้พิสูจน์แล้ว “ท่านคือสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง” เหตุการณ์และกาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ท่านยึดหลักพระธรรมวินัยเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ชี้ทางสว่างแห่งปัญญาให้กับชาวพุทธ ท่านสงเคราะห์มวลมนุษยชาติ สามารถเป็นจุดยึดเหนี่ยวของชาวพุทธได้อย่างแท้จริงและมั่นคง

ชาวพุทธลองสังเกตดูบ้างก็ได้ว่าภิกษุรูปใดที่มุ่งเน้นการสร้างวัตถุโดยเน้นคำว่า...ที่สุดในโลกบ้าง หนึ่งเดียวในประเทศบ้าง หนึ่งเดียวในโลกบ้าง เมื่อไม่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ให้เกิดวัตถุนั้นขึ้นมาแล้ว ล้วนมักพังทลายลงอย่างราบคาบเกือบทั้งหมด บางครั้งพังทลายเพียงภายในไม่กลายเป็นข่าวมากนัก สูญเสียอับอายขายหน้ากันในวงแคบๆ แต่บางครั้งเกิดความสูญเสียกันในวงกว้างอับอายกันทั้งประเทศหรือทั่วโลก

“จึงขอให้สติเพื่อนสหธรรมิกว่า จะสร้างวัตถุใดแล้วขอให้ดำเนินการพอสมควร อย่าได้ให้กลายเป็นความยิ่งใหญ่จนเกินกำลังของตนเอง มิเช่นนั้นจะกลายเป็นข่าวโอ้อวด ในที่สุดก็พังลงมาอย่างไม่มีชิ้นดี”

สำหรับนักบวชที่มีชื่อเสียงแล้ว ขอให้คนที่อยู่ใกล้ชิดได้ตรวจสอบติดตามอย่างกระชั้นชิด เพื่อมิให้เกิดการละเมิดพระธรรมวินัยทั้งเล็กน้อย หรือปานกลาง หรือใหญ่หลวง โดยเฉพาะการผิดศีลถึงขั้นปาราชิกทั้งสี่ข้อ

อย่าไปสนับสนุนเพียงเพื่อเอาใจให้ท่านประพฤติผิดพระธรรมวินัยทั้งต่อหน้า...ลับหลัง อุบาสก...คนใกล้ชิดย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะดูแลคุ้มครองพระภิกษุที่ตนเองรับใช้อยู่มิให้ประพฤติผิด ถ้าเราบกพร่อง ความเสื่อมสลาย ความหายนะของพระภิกษุก็เกิดขึ้น จนทำให้ศรัทธาของชาวพุทธต้องคลอนแคลนไป

“ความวิบัติ” หรือ “ความหายนะ”...ของพระภิกษุหรือนักบวชในพระพุทธศาสนาจะเกิดขึ้นได้มีอยู่ 3 แนวทาง ประการที่หนึ่ง...อาจารวิบัติ ข้อวัตรปฏิบัติ กิริยามารยาทที่พึงปฏิบัติไม่ดี วางตัวไม่เหมาะสม มารยาทไม่งาม ไม่รู้กาลเทศะ ถือว่าเป็นความหายนะเบื้องต้นของพระภิกษุ ประการที่สอง...ศีลวิบัติ ความหายนะทางศีล พระภิกษุละเมิดศีลของตนเอง ไม่รักศีลของตนเอง ย่อมเกิดความเสียหาย คนอื่นไม่รู้แต่พระภิกษุรูปนั้นย่อมรู้แก่ใจตนเอง

ระดับของการผิดศีลมีตั้งแต่ผิดเล็กน้อย โทษเบา เพียงแสดงอาบัติก็หลุดพ้นไปได้ การประพฤติผิดปานกลางต้องเข้าอยู่ปริวาสกรรม ฝึกอบรมตนเองในท่ามกลางสงฆ์จึงจะหลุดพ้นไปได้ ทางพระเรียกว่าอาบัติสังฆาทิเสสและผิดขั้นหนักหรือร้ายแรงคือ อาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุทันทีมี

4 ข้อ เสพกาม ลักขโมย ฆ่ามนุษย์ อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตัวตน (อวดอุตริมนุสธรรม) พระภิกษุจะวิบัติหรือหายนะที่หนักมากคือการผิดศีลของตนเอง

ประการที่สาม...ทิฐิวิบัติ ความหายนะทางความรู้ความเข้าใจ ความสำคัญผิดในพระธรรมวินัย พระภิกษุบางรูปสำคัญผิดว่าเป็นเช่นนั้นเป็นเช่นนี้ เอาตนเองเป็นที่ตั้งเพราะมีความมั่นใจในตนเอง จนเกิดมีพฤติกรรมลบหลู่พระพุทธองค์ รังเกียจเพื่อนสหธรรมิกว่ามีข้อวัตรปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องบ้าง ไม่เข้าใจในพระธรรมวินัยบ้าง เกิดการสอนธรรมะให้กับผู้คนที่เคารพเลื่อมใสในทางที่ผิดๆ

“พระภิกษุรูปใดที่เกิดทิฐิวิบัติแล้วอันมีอันตรายต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะมิใช่จะเสียหายเฉพาะในตัวของพระภิกษุรูปนั้นเพียงเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกับพุทธศาสนิกชนที่เคารพนับถือ เป็นผลร้ายต่อพระพุทธศาสนาโดยตรง”

ภาพพจน์ของพระสงฆ์ไทยในขณะนี้จึงเปรียบเสมือนไก่ที่อยู่ในสุ่มที่ต่างก็หาทางออกให้กับตนเอง เมื่อหาทางออกไม่พบก็จิกกันตีกันเองก็มี หรือใส่ร้ายตัวอื่นว่าเป็นต้นเหตุที่ต้องถูกกักขังบ้าง แต่ถ้าไก่ที่อยู่ในสุ่มทุกตัวได้ตั้งสติ วางตัวให้อยู่ในความสงบ ไม่สร้างความวุ่นวายอยู่ในสุ่ม สุดท้ายคนที่อยู่ข้างนอกก็คงจะให้โอกาส

แต่ถ้าสร้างความวุ่นวายอย่างไม่มีที่สุดก็อาจจะถูกเชือดทั้งหมดก็ได้ ส่วนนักบวชในพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน เมื่อเกิดอธิกรณ์ (คดี...เรื่องราว)...ขึ้นมา ขอให้รีบเข้าไประงับอย่าปล่อยให้เกิดความล่าช้าเพราะความเสียหายที่ร้ายแรงยิ่งจะติดตามมา

“อย่าโยนไปให้ฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ตัดสินจนหาบทสรุปไม่ได้ จนปล่อยให้กาลเวลาที่รอคอยกลายเป็นสนิมกร่อนกินศรัทธาของชาวพุทธไป พระภิกษุรูปที่เข้าใจและแม่นยำในพระธรรมวินัยก็ขอให้ออกมาให้ความรู้แก่ชาวบ้านผ่านสื่อสารมวลชน ขอให้ยอมเจ็บเพื่อรักษาไว้ซึ่งภาพพจน์พระสงฆ์และดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนากันเถิด”

ชาวพุทธเท่านั้นที่จะช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป ในขณะเดียวกันพระพุทธศาสนาจะเสื่อมก็อยู่ที่ชาวพุทธไม่รักษาพระธรรมและพระวินัยของพระพุทธองค์นี่เอง... “ขอจงยกบุคคลที่ควรยก ขอจงข่มบุคคลที่ควรข่ม ขอจงช่วยกันสนับสนุนพระสงฆ์ที่อยู่ในกรอบพระธรรมวินัยที่ยังเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวของชาวพุทธและชาวไทยอยู่อีกเกือบสามแสนกว่ารูปต่อไป เมืองไทยจะได้ไม่ไร้พระพุทธศาสนา”

พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก ทิ้งท้ายว่า ทัศนะทั้งหมดเหล่านี้ ไม่ได้มีเจตนามุ่งเพื่อทำลาย อาจจะกระทบกับความรู้สึกของบางท่านอยู่บ้างก็ให้ถือว่าเป็นความคิดเห็นและความเข้าใจที่แตกต่างเท่านั้น.

...