...
ป.ป.ช. ยื้อ ยังไม่ชี้มูล ทุจริตคอมพ์ สธ. สั่งเลื่อน เป็นวันที่ 20 มิ.ย.นี้ อ้างพิจารณา ข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย ไม่แล้วเสร็จอีกหลายประเด็น แต่รับคำพิพากษาศาลที่ตัดสินไปแล้ว มีผลต่อการวินิจฉัยคดี
วันที่ 18 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นาย กล้าณรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. คดีทุจริตคอมพิวเตอร์ กระทรวงสาธารณสุข ในสมัยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็น รมว.สาธารณสุข โดยที่ประชุม ป.ป.ช. ได้ขอเลื่อนการพิจารณาคดีดังกล่าวออกไปก่อน เป็นวันพฤหัสบดีที่ 20 มิ.ย.นี้ ในช่วงเช้า เนื่องจาก ให้เหตุผลว่า ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เหลืออีก 2-3 ประเด็น ขณะที่ นายกล้าณรงค์ ยอมรับว่า มีหลายประเด็น ที่ ป.ป.ช.ได้พิจารณาเสร็จสิ้นไปแล้ว
ทั้งนี้ เชื่อว่าในวันพฤหัสบดี ที่ 20 มิ.ย.นี้ ป.ป.ช.จะสามารถแจ้งผลได้ว่าผู้เกี่ยวข้องในคดีทั้งหมดมีความผิดหรือไม่อย่างไร ส่วนถ้าหากยังไม่แล้วเสร็จ ก็จะมีการต่อออกไปในวันพฤหัสบดีทุกสัปดาห์ แต่ไม่เกิน 3 อาทิตย์ การพิจารณาคดีก็คงแล้วเสร็จและสามารถลงมติฯ ตัดสินได้ว่า ผู้ถูกร้อง มีความผิดจริงหรือไม่
ส่วนคำถามสามารถเปิดเผย ได้หรือไม่ว่า ป.ป.ช.ได้พิจารณาประเด็นคำร้องในเรื่องใดเสร็จสิ้นแล้ว หรือ มีคำร้องอีก 2-3 ประเด็นใด ที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จในที่ประชุมบ้าง นายกล้าณรงค์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถตอบได้ เข้าใจว่า ป.ป.ช.จะนำประเด็นทั้งหมดพิจารณาในวันพฤหัสบดีที่ 20 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ แล้วจึงสามารถแถลงผลการประชุม หรือมีมติฯ ตัดสินได้
ขณะเดียวกัน นายกล้าณรงค์ ยอมรับว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. คงต้องวินิจฉัยก่อนว่า คดีดังกล่าวผู้เกี่ยวข้องมีความผิดหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ ยอมรับว่า คดีเกี่ยวข้องพัวพันกันหมดในหลายๆ เรื่อง ที่มีทั้ง นักการเมือง ข้าราชการ ซึ่งต้องมีการวินิจฉัยและลงมติฯ ในที่ประชุม รวมทั้ง ป.ป.ช. ยังได้มีการขอคำพิพากษาศาล ที่ได้ตัดสินไปแล้วกรณี ให้การเท็จ มาร่วมประกอบในการวินิจฉัยด้วย
อย่างไรก็ตาม คดีการจัดซื้อจัดจ้าง โครงการคอมพิวเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุข มูลค่า 821 ล้านบาท ตามที่คณะอนุกรรมการไต่สวนเสนอให้ที่ประชุม ป.ป.ช.มีความเห็นนั้น คดีดังกล่าว เกิดขึ้นในสมัยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ในปี 2547 ซึ่งขณะนั้น เกิดความขัดแย้งกัน ระหว่างข้าราชการการเมือง ที่นำโดย คุณหญิงสุดารัตน์ และข้าราชการประจำ ได้แก่ นพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ถูก คุณหญิงสุดารัตน์ สั่งปลดออกจากตำแหน่ง จนเป็นที่มาของการแฉข้อมูลกัน ระหว่าง 2 ฝ่าย ว่ามีการทุจริต การจัดซื้อคอมพิวเตอร์ และทำให้เกิดการร้องต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช.