เคยรู้ๆกันอยู่ว่า ต้นสายสกุลบุนนาคนับถือศาสนาอิสลาม มาจากเปอร์เซีย แต่พอไปไหว้พระพุทธรูปงามๆ ในวัดประยุรวงศาวาส วัด พิชัยญาติการาม แถวฝั่งธนฯ จึงอยากรู้ต่อว่า คน สำคัญตระกูลนี้ยังมีนับถืออิสลามอยู่หรือไม่ เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนากันสักกี่มากน้อย
ในหนังสือบันทึกแผ่นดิน ชุดหลายชีวิตในประวัติศาสตร์เล่ม 1 (สำนักพิมพ์สยามบันทึก) โรม บุนนาค เล่าเรื่องเฉกอะหมัด จากเปอร์เซียมาเป็นนายกฯไทย ไว้ดังต่อไปนี้
เฉกอะหมัดเข้ามากรุงศรีอยุธยาเมื่อปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พร้อมน้องชาย มหะหมัดสะอิด เฉกอะหมัด เปิดห้างค้าขาย มีเมียสาวไทย ส่วนน้องชายอยู่ได้ไม่นานก็กลับเปอร์เซีย
ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม เจ้าพระยาคลัง ซึ่งว่าการกรมท่า ขอให้เฉกอะหมัดเข้ามาช่วยราชการกรมท่า ใช้เวลาไม่นาน เฉกอะหมัดก็สะสางปรับปรุงระบบศุลกากร นำเงินเข้าท้องพระคลังเป็นจำนวนมาก ความดีความชอบครั้งนี้ จึงได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นพระยาเฉกอะหมัด รัตนราชเศรษฐี ตำแหน่งเจ้ากรมท่าขวา
พร้อมๆกันก็ได้ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เฉกอะหมัดเริ่มลงหลักปักฐานศาสนาอิสลามในประเทศไทย
ต่อมาอีกไม่นาน ก็ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี ตำแหน่งสมุหนายก อัครมหา เสนาบดีฝ่ายเหนือ
พ.ศ.2173 การเมืองอยุธยาพลิกผัน เฉกอะหมัดเลือกข้างเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ เมื่อเจ้าพระยากลาโหมฯปฏิวัติยึดอำนาจ และปราบดาภิเษกขึ้นเป็น พระเจ้าปราสาททอง เฉกอะหมัดก็ยังรับราชการตำแหน่งเดิม จนอายุถึง 87 ปี พระเจ้าปราสาททอง โปรดให้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก จางวางกรมมหาดไทย ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
ส่วนตำแหน่งสมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ โปรดให้ชื่น บุตรชายคนโต บรรดาศักดิ์พระยา วรเชษฐ์ เลื่อนเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา สืบแทน
พ.ศ.2174 อีกหนึ่งปีต่อมา เฉกอะหมัดก็ถึงแก่ อสัญกรรม ศพฝังไว้ที่ป่าช้าแขกเจ้าเซ็น บ้านท้ายคู ปัจจุบันอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระยาเพชรพิไชย (ใจ) เชื้อสายคนหนึ่งของท่านเฉกอะหมัด ตามเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี พระเจ้าอยู่หัวฯ รับสั่งว่า พระยาเพชรพิไชยเป็นแขก ไม่สมควรขึ้นพระพุทธบาท
แต่ถ้าเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาก็จะให้ขึ้น
พระยาเพชรพิไชย..ยอมหันมานับถือพุทธศาสนา ตามพระราชประสงค์ มีการรับศีลปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิกชนต่อสมเด็จพระสังฆราช หน้าพระที่นั่งที่พระพุทธบาทนั้น
เมื่อกลับมาถึงพระนครศรีอยุธยา ก็ได้รับโปรดเกล้าฯขึ้นเป็นเจ้าพระยาเพชรพิไชย ว่าราชการตำแหน่งสมุหนายกฯ นับต่อจากท่าน
เฉกอะหมัด..เป็นลำดับที่ 4
แต่คนในตระกูลเฉกอะหมัดทั้งหมด ไม่ได้เริ่มนับถือพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาเพชร-พิชัยถึงแก่อสัญกรรม บุตรชาย พระยาวิชิตณรงค์ (เชน) ไม่ได้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาตามบิดา ยังนับถือศาสนาอิสลาม
และได้ขึ้นเป็นจุฬาราชมนตรีลำดับที่ 4 ของ กรุงศรีอยุธยา
คนในตระกูลเฉกอะหมัดยังรับใช้ใกล้ชิดราชสำนักต่อมา จนถึงรัชกาลที่ 6 กรุงรัตนโกสินทร์ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุล เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร) บุตรชายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) เชื้อสายท่านเฉกอะหมัด ได้ขอพระราชทานนามสกุล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชนามสกุล “บุนนาค”
ตามนามเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ลูกหลานท่านเฉกอะหมัดในรัชกาลที่ 1
“บุนนาค” เป็นนามสกุล เชื้อสายเฉกอะหมัด ที่นับถือพุทธศาสนา
ในรัชกาลที่ 6 เช่นเดียวกัน พระยาจุฬาราชมนตรี (เสน) เชื้อสายท่านเฉกอะหมัดเช่นเดียวกัน ได้ขอพระราชทานนามสกุลเชื้อสายที่นับถืออิสลาม พระราชทานนามสกุลให้ว่า “อหะหมัดจุฬา”
ผู้คนที่เป็นเชื้อสายท่านเฉกอะหมัด พ่อค้าจากเปอร์เซียที่ยังรุ่งเรืองเฟื่องฟูอยู่ในประเทศไทย จึงยังมีทั้งที่นับถือพุทธศาสนา และนับถือศาสนาอิสลาม และได้แยกออกเป็นสองนามสกุลมา..นับแต่นั้น.
...
O บาราย O