เหตุการณ์ที่นับเป็นเหตุการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ ที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทย ในช่วงรัฐนาวาที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เข้าบริหารประเทศ  ซึ่งเรียกว่าเป็นเหตุการณ์ที่พี่น้องประชาชนไทยไม่เคยลืมเลือน นั่นคือเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งนำความสูญเสีย ทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ของประชาชน เป็นจำนวนมาก มีการระบุ และตีมูลค่าความเสียหายด้านเศรษฐกิจเป็นตัวเงิน สูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท 

ขณะเดียวกัน ก็นำมาซึ่งการที่รัฐบาล โดย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประฐานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) คิดค้นแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเร่งด่วนที่รัฐระบุว่า จะต้องมีการแก้ปัญหาน้ำท่วม แบบบูรณาการ และเริ่มผลักดันอย่างจริงจัง จนกลายมาเป็นแผนการบริหารและจัดการ ที่มีมูลค่าสูง 3.5 แสนล้าน อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในเวลานี้  ก็อย่างที่ทราบกัน สำหรับผู้ที่สนใจติดตามปัญหา เรื่องโครงก่ีบริหารจัดการน้ำโครงการนี้ของรัฐว่า มีข่าวความไม่ชอบมาพากล หรือสุ่มเสี่ยงเปิดช่องให้อาจมีการทุจริตกันอย่างมโหฬาร

...

นายปรเมศวร์ มินศิริ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการประเทศไทย ศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย thaiflood.com และเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

-คิดว่า รัฐบาลมีีแนวคิดอย่างไร จึงกำหนดตัวเลข งบฯ แก้น้ำท่วม ถึง 3.5 แสนล้านบาท แพง แล้วมีความจำเป็นหรือไม่?

ต้องมองว่า การไปกำหนดระดับน้ำท่วมของประเทศไทย ที่เคยเกิดขึ้นในรอบ 100 ปี  ขอพูดในทำนองเดียวกันอีกว่า เหตุการณ์อย่างปี 2554 ก็เกิดขึ้นได้อีก อาจเกิดขึ้น เดือนหน้า ปีหน้า  คราวที่แล้ว เป็นคราบน้ำในรอบ 100 ปี แล้วก็บอกว่า เราต้องรีบทำนะ แต่ประเด็นคือ ถ้าเราไปดูประเด็นการประชุมน้ำโลก เอเชีย-แปซิฟิก ที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 12-18 พ.ค.ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ที่ประชุม เขาแบ่งเรื่องน้ำโลก เป็น 5 ส่วน


เรื่องน้ำท่วม เป็นเรื่องสุดท้าย ส่วนสุดท้ายเลย โดยที่ 4 ส่วนแรก เป็นความกังวลเรื่อง น้ำใช้ มากกว่า ทั้งในส่วนภาคเศรษฐกิจ ทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม  ภาคครัวเรือน อันนี้ คือประเด็น ที่เขาเป็นห่วง เป็นประเด็นหลักไม่ใช่ประเด็นน้ำท่วม  ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่ พระราชาธิบดี ของประเทศ "บรูไนดารุสซาลาม" พูดเหมือนกันว่า ประชากรที่เพิ่มมากขึ้นขณะนี้ของโลก เรื่องที่เขาห่วง คือ เรื่องไม่มีน้ำใช้ ฉะนั้้น ต้องมองว่า เราลงทุนในเรื่อง 3.5 แสนล้าน ไปหนักในเรื่องน้ำท่วม แต่ไม่พูดเรื่อง น้ำใช้ ก็ทำให้หลังการประชุมนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ เลยต้องไปพูดใน ครม.เรื่องน้ำใช้ ให้ปรับแก้แผนด้วย เพราะว่า มุ่งลงไปเรื่องน้ำท่วมหมดเลย ด้วยการที่จะไปพยายามระบายมันออก

ส่วนเรื่องการกักน้ำ ก็ไปมุ่งที่อุปกรณ์ คือ เขื่อน ซึ่งมันเป็นเรื่องกลางน้ำ ถ้ามีการรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาป่าเอาไว้ แล้วกระจายแผน 3.5 แสนล้าน ไปอยู่ในระดับแผน หมื่นล้าน แล้วพื้นที่รักษาป่าก็ลดลงเยอะ ฉะนั้น วิิธีคิด มันกลับหัวกลับหาง คือ ไปเน้น "น้ำท่วม" ไม่ได้เน้น "น้ำใช้" แล้วก็ไปเน้น "ปลายน้ำ" ไม่ได้เน้น "ต้นน้ำ"

แล้วกระบวนการจัดซื้อ ก็กลับหัวกลับหางอีก คือไปเน้น "ตัวราคา" เป็นตัวตั้งเรื่องบริษัทเป็นตัวตั้ง  ไม่ได้เน้น เรื่องความต้องการที่แท้จริง ต้องการอะไร ซึ่งที่ผานมา มันผิดหมดเลย ไม่ใช่ภาคประชาชน ตั้งข้อสังเกตอย่างเดียว ตอนนี้ "กรมบัญชีกลาง" ก็ทำหนังสือออกมาแล้ว แจ้งหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานว่า ต้องมีการประกาศราคากลางทุกโครงการทั้งก่อสร้าง ไม่ก่อสร้าง  ซึ่งตรงนี้ ถ้ารัฐไม่ทำก็จะมีความผิดว่าด้วย พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการทุจริต แปลว่า โครงการน้ำก็ไม่สามารถดำเนินการได้

-อย่างโมดูล A5 ที่น่าจะมีปัญหามากที่สุดหรือไม่ ในความเห็นส่วนตัว โดยเฉพาะวิธีการดำเนินการด้วยการตั้งงบประมาณให้บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูลเสนอแผนเข้ามายังรัฐ?


โมดูลทั้งหมด ต้องมองภาพรวมก่อน ทั้ง 9-10 โมดูล มันสะท้อนว่า วิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่เรียกกันว่า "เทิร์นคีย์" มันไม่เหมาะใช้กับพื้นที่ขนาดใหญ่ เหมือนตัดเค้กเป็น 10 ก้อนแล้วแบ่งให้แต่ละพื้นที่ดูแล มันมีปัญหามาก เพราะ ทั้ง 10 ก้อน คือเรื่องเดียวกัน แต่ถูกเอาไปแบ่งเป็น 10 เรื่อง

พอเรามาดูแยกลงไป อย่างโมดูล A5 มีปัญหา คือ โอกาสที่จะทำไม่สำเร็จมีสูง เพราะพื้นที่ต้องเวนคืนเยอะมาก แล้วมันเป็นระยะทางยาว ทางผันน้ำตั้ง 200 กว่า กม. เกือบ 300 กม. หากติดขัดหรือสะดุดแค่ กิโลเมตรเดียว น้ำมันก็ไม่ออก มันเป็นไปไม่ได้ ที่จะทำยาวขนาดนั้น อย่าง บริษัท "K WATER" ของเกาหลี เขาออกมาบอกว่า เขาเคยมีประสบการณ์ ทำคลอง ขนาด 18 กม. ใช้ เวลา 3 ปี ในการทำ แต่ 3 ปีนั้น ทำโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนมาแล้วเป็น 100 ครั้ง นั่นคือ ทำจนกระทั่งไม่มีปัญหาแล้ว ในพื้นที่ แล้วจึงลงมือทำ ยังใช้เวลา 3 ปี

แต่ของเรามีเวลา  5 ปี แล้ว 5 ปีนี้ต้องทำงานร่วมกับประชาชน ก็แปลว่า ต้องเสียเวลาเจรจากับประชาชนอย่างน้อย 1-2 ปี เหลือเวลาทำอีกประมาณ 3 ปี ก็อย่างที่บอกขนาดทำแค่ 18 กม. ยังใช้เวลา 3 ปี แต่นี่จะให้ทำถึงเกือบ 300 กม.แล้วประชาชนเดือดร้อนมาก ซึ่งทางเลือกอื่นที่ทำแล้วมีประสิทธิภาพมากกว่า รัฐบาลก็ไม่สนใจ


-อย่างนี้มันอาจจะมีปัญหา เรื่องการทุจริตมากขึ้นหรือไม่ หมายถึงรัฐเปิดช่องเอื้อประโยชน์ให้เกิดการทุจริตอย่างที่เขาว่ากัน?

อย่างนั้น ก็เป็นข้อสังเกตของประชาชนที่ดี คือ เมื่อมีโอกาสเสี่ยงสูง ที่งานจะไม่เสร็จทันเวลา แล้วผู้ประกาศว่าจะขอรับผิดชอบเอง 100% ก็ไม่อยู่ในตำแหน่งแล้ว ยกตัวอย่าง กรณีโครงการใหญ่อย่างโครงการ "โขง-ชี-มูล" ซึ่งคนที่บอกรับผิดชอบ ก็ไม่ได้อยู่รับผิดชอบแล้ว แต่ข้อเท็จจริง มันก็ทำงานไม่เสร็จ เสียงบประมาณไปแล้ว ขณะที่สิ่งแวดล้อม ก็เสียหายไปแล้ว ก็ไม่สามารถเอาผิดใครได้อยู่ดี ที่สำคัญ มันเสียเวลาในการทำสิ่งที่ถูก และเสียงบประมาณ สิ่งแวดล้อมก็เอาคืนไม่ได้

-แล้วถ้าไม่จำเป็นต้องทำโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน แล้ว มันมีวิธีไหนที่ได้ปัญหา ที่ดีกว่าไหม?

ยืนยันว่า มีวิธีการทำงานแก้ปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง ที่ไม่จำเป็น ต้องกู้เงินถึง 3.5 แสนล้าน และน่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ประการแรก อยากให้รัฐบาลมอง โดยเฉพาะการประชุมน้ำโลกที่ผ่านมา พูดกันเยอะมาก คือ 1. ให้มอง "น้ำ" ให้เป็นทรัพยากร 1 ใน 3 สิ่งสำคัญ ที่มันกำลังขาดแคลน ได้แก่ น้ำ-อาหาร-พลังงาน


เหตุผลที่มอง 3 อันนี้ ร่วมกันเพราะ พลังงานในโลก กำลังลดน้อยลง ทำให้พื้นที่ที่ใช้ปลูกอาหาร ถูกแปลงไปเป็นพื้นที่ปลูกพืชพลังงาน ปลูกอ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง พืชเหล่านี้ กินน้ำเยอะ เมื่อกินน้ำเยอะก็ไปกินน้ำใช้ กับคนอื่น ยิ่งสร้างเขื่อน ก็ยิ่งเพิ่มการเก็บกักน้ำ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้เกิดน้ำท่วมมากขึ้น มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่ เพราะฉะนั้น รัฐบาลมองแยกส่วนไม่ได้ คือ มองแต่น้ำท่วมอย่างเดียวไม่ได้ ก็ต้องมองน้ำใช้ด้วย แล้วจะมองแต่น้ำอย่างเดียวก็ไม่ได้ ถ้าไม่มองบริบทอื่นที่สำคัญ อย่างอาหารและพลังงาน  เพราะฉะนั้นต้องมองภาพรวม

2. เราจะพบว่า คำว่าโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ได้มองแค่ถนนหนทาง ทำรถไฟรางคู่อย่างเดียว อันนั้นเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม แต่โครงสร้างพื้นฐาน ที่ทำให้มนุษย์อยู่ได้ คือต้องมีน้ำสะอาดที่เข้าถึง ใช้ได้ มีอาหารเพียงพอในการบริโภค และมีพลังงานเพียงพอ และใช้ในราคาที่เหมาะสม ไม่ใช่ราคาแพงมาก อันนี้ คือโครงสร้างพื้นฐานประเทศ คือต้องเรียกว่า ดูแลระบบนิเวศ 

ต่างประเทศ จึงมีแนวคิดใหม่ คือ การใช้กลไกทางการเงินไปจ่ายให้พื้นที่ที่ต้องมีการดูแลสภาพแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะจ้างเอกชนมาขุดคลอง ลอกคลอง ซึ่งบริษัทเหล่านี้อาจไม่ได้ทำ ที่ผ่านมา ก็มีข่าวออกมาเยอะว่า เอารถแบล็กโฮไปแกว่งๆ หน่อย แล้วก็มาเบิกเงินค่าจ้าง  ทีนี้ ถ้าเราเปลี่ยนใหม่ เป็นให้ท้องถิ่นเป็นคนดูแลร่วมกับชุมชน แล้วมีงบประมาณไปให้ เราจะใช้เงินน้อยกว่า แล้วชุมชนจะดูแลกันจริงๆเพราะว่า คนในพื้นที่ช่วยกันดูแลว่า คลองจะไม่มีการรุกล้ำนะ แล้วก็ให้มันดี มีการขุดลอกที่ถูกต้อง เหมาะสม การใช้บริษัทเดียวทำ เครื่องไม้เครื่องมืออาจไม่พอ การกระจายกันไปดูแลจะดีกว่า ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีเรื่องนี้


หรืออย่างเรื่อง ป่าต้นน้ำ แทนที่เรา จะให้นายทุนร่วมมือชาวบ้านรุกล้ำป่าต้นน้ำ ก็ทำให้เป็นป่าชุมชน คือเขาทำกินได้ แต่ต้องดูแล แล้วมีงบประมาณให้เขาด้วย ถ้าป่าสูญ คุณก็ไม่ได้ค่าใช้จ่ายตรงนี้ วิธีนี้ ก็ทำให้นายทุนไม่สามารถเข้าไปได้ เพราะชาวบ้านและคนในพื้นที่ ก็จะมองว่า หากร่วมมือกับรัฐโดยตรง แล้วรักษาป่าต้นน้ำ ก็ทำให้ป่าเหล่านี้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เมื่อมีป่าก็จะทำให้ป้องกันน้ำท่วมได้ เพราะ ป่าอุ้มน้ำได้ดี ซึ่ง 3.5 แสนล้านไม่มีเรื่องนี้ เพราะตัดทิ้งทั้งหมดเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง  เพราะรัฐดูแต่ในมิติการก่อสร้างอย่างเดียว เนื่องด้วยอาจมีผลประโยชน์เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ มันต้องมองถึงความพอเพียง และเป็นความพอเพียงที่ยั่งยืนด้วย ในต่างประเทศจะดูเรื่องนี้มาก ไม่ใช่ทำให้เจริญรุ่งเรืองใน 10 ปีนี้ จากนั้นประเทศไปต่อไม่ได้แล้ว เพราะเราทำลายโครงสร้างพื้นฐานเราหมดแล้ว ความยั่นยืน คือใน 10 ปีนี้ เราอาจไม่ได้พุ่งมาก แต่มันยั่งยืน มันไปได้เรื่อยๆ แล้วถ้ามองระยะยาว 20-30 ปีแล้ว ยั่งยืนจะดีกว่า

-แล้วที่มองว่า เมื่อก่อนไทยมีพื้นที่รับน้ำธรรมชาติอย่างทุ่งรังสิต แต่ตอนนี้เมืองไทย ไม่มีพื้นที่มากขนาดนั้น ที่จะรับน้ำ แล้ว ถ้าไม่ทำโครงการ 3.5 แสนล้าน ถ้าน้ำมาอีก จะเอาไปเก็บไว้ตรงไหน?


ทุ่งรังสิต และแนวคลองขวาง ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นความชาญฉลาดของคนสมัยก่อน ที่ชะลอนำไม่ให้ลงมาเร็วนัก นี่คือเหตุผล ที่ทำให้ทางญี่ปุนคือ "ไจก้า" มาศึกษา โดยทางรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ เชิญเขามา เขาก็ทำการศึกษาโดยทุนของเขาเอง เขามาช่วย

โดยรายงานผล ยืนยันว่า การแก้น้ำท่วม ไม่ใช่การทำฟลัดเวย์ฝั่งตะวันตก ที่ยาวเกือบ 300 กม. หรือ สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ข้างบน แต่ทางแก้ คือ การบริหารจัดการน้ำให้ดี และใช้ประสิทธิภาพเขื่อนเดิมที่มีอยู่ให้ดี บวกกับการทำบายพาส ทางผ่านน้ำเลี่ยงเมือง ตรงพระนครศรีอยุธยา ความยาว 19 กม. จะทำให้น้ำไม่ท่วมอยุธยา แล้วจากนั้นก็ผันน้ำไปออกตรงฝั่งตะวันออกตรงถนนกาญจนาภิเษก วิธีนั้น จะช่วยป้องกันน้ำท่วมได้มีประสิทธิภาพมากกว่าทำฟลัดเวย์ฝั่งตะวันตก แล้วน้ำนั้น ยังสามารถฝันน้ำไปทางลุ่มน้ำตะวันออกได้ คือโครงการ "อีสเทอร์นซีบอร์ด" คือฝันไปขายได้เลย ฝันใส่ท่อขนาดความสูง 1.80 เมตร ซึ่งวิธีนี้ ลงทุนถูกกว่า เวนคืนที่ดินน้อยกว่ามาก และอาจมีประสิทธิภาพมากกว่า โครงการ 3.5 แสนล้าน 

ส่วนข้อสังเกตที่รัฐบาลไม่ยอมใช้วิธีนี้ ทั้งที่น่าจะถูกและดีกว่า  นายปรเมศวร์ ระบุว่า ถ้ามีการลงทุนฝั่งตะวันตก จะใช้เงิน (งบประมาณ) เยอะกว่า แล้วทางฝันน้ำนั้น ทำให้ได้น้ำไปใช้ เพราะสามารถฝันไปในช่วงไม่เกิดน้ำท่วมได้ด้วย ก็ไปสอดคล้องกับข่าวการสร้างเมืองใหม่ หรือ ถมทะเลฝั่งตะวันตก ซึ่งเมืองใหม่ จะมีความต้องการใช้น้ำ ซึ่งมันอาจสอดคล้องกันพอดี อีกเรื่อง คือ มันจะเกิดการสร้างถนน 4 ช่องจราจร ของฟลัดเวย์ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งไปสร้างมูลค่าเพิ่มอสังหาริมทรัพย์ในละเวกนั้น ซึ่งยังไม่มีใครพูดถึงกันซักเท่าไหร่...


-แล้วเรื่องญี่ปุ่นที่เขาถอนตัวโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านไป ที่นายปลอดประสพ บอกว่าที่ถอนไปเพราะเขาเสนองบมากกว่าบริษัทเอกชนอื่น กว่า 1 เท่าตัว?

ข้อเท็จจริงนี้ก็ทำให้หลายคนสับสน ว่าญี่ปุ่นมาติดต่อรัฐบาลได้เป็น 2 แบบ คือ ในนามรัฐบาลโดยหน่วยงาน "ไจก้า" ที่มาช่วยเราโดยไม่คิดเงินเราเลย ออกเงินเองด้วย ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำไปแล้ว แล้วเราก็ไม่รับฟังแผนเขา

ส่วนอีกอัน คือ กิจการค้าร่วมญี่ปุ่น ที่เข้ามาประมูลงานด้วย ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน  ถ้าเป็นบริษัทเอกชนในแถบประเทศยุโรป อเมริกา ไม่สามารถให้การทุจริตหรือให้สินบนเอาได้ เพราะเขามีการป้องกันเรื่องอย่างนี้  ถ้าเป็นญี่ปุ่น มันไม่มีกฎหมาย แต่เขามีเรียกว่า องค์กรภาคประชาชนเข้มแข็ง ที่จะตรวจสอบแล้วประณาม  แต่จีน เกาหลี ค่อนข้างสะดวกที่จะทำทุจริต เพราะ จะไม่มีการตรวจสอบได้ง่ายนัก นี่คือเหตุผล ที่บริษัทญี่ปุ่นก็ลำบากใจ


ส่วนเหตุผลในการถอนตัวที่บอกว่า เสนอราคามาแพงกว่าเท่าตัว อยากถามคุณปลอดประสพว่า ในเมื่อขนาดให้สัมภาษณ์เองว่า บริษัทที่มายื่นกับ กบอ. ตัวคุณปลอดประสพ ยังไม่รู้ราคาเลย เพราะยังไม่ได้แกะซองซักบริษัท แล้วคุณปลอดประสพ รู้ได้อย่างไรว่า บริษัทญี่ปุ่น เสนอราคามาแพงกว่าเท่าตัว

ที่สำคัญบริษัทเอกชน ที่มาซื้อซองประมูล บริษัทต้องทราบอยู่แล้วว่า งบประมาณแต่ละโมดูล เป็นเท่าไหร่ แล้วการยื่นซองเกินงบประมาณ  เกินเท่าตัว ย่อมหมายความว่า คงจะไม่ได้รับการพิจารณาอยู่แล้ว เขียนมาก็ไม่ได้งาน เสียทั้งงบประมาณ เสียทั้งเวลาอยู่แล้ว เขาจะยื่นมาแบบนั้นทำไม เขาถอนตัวไปเฉยๆ ไม่ดีกว่าหรือ การพูดว่า ที่บริษัทญี่ปุ่นถอนตัวเพราะยื่นซองมาแพงกว่าเท่าตัว ผมฟังแล้วเป็นห่วง ใครจะพูดอะไรก็ได้....