นายกฯนั่งหัวโต๊ะถกดับไฟใต้ เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา “พงศ์เทพ” ไม่ยุบโรงเรียนเล็ก 3 จังหวัดใต้ สมช.โวพวกถูกออกหมายจับแห่มอบตัว
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการพัฒนาและแก้ไขปัญหาพื้นที่จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ร่วมกับร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์และแก้ไขปัญหาความไม่สงบจังหวัด ชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯและรมว.ศึกษาธิการ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผบ.ทบ. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านระบบประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (VTC)
นายนิวัฒน์ธำรง เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า เป็นการติดตามงานการพัฒนาการศึกษาและอาชีพที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเร่งดำเนินการตามแผนโดยใช้จังหวัดเป็นศูนย์กลาง รับข้อมูลจากอำเภอและตำบล เพื่อการพัฒนาที่ตรงความต้องการของประชาชน โดยโครงการต่างๆ จะต้องนำมาเสนอภายใน 2-3 สัปดาห์ หลังลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยที่ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และจังหวัด ร่วมจัดทำแผน
ด้าน นายพงศ์เทพ กล่าวว่า โรงเรียนเล็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รัฐบาลจะไม่ไปแตะต้องสั่งให้ยุบ ไม่ต้องกังวล ส่วนความปลอดภัยของครู นักเรียน ที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงดูแลเป็นอย่างดี ครูพอใจ ส่วนกรณีครูในพื้นที่ขอย้ายเป็นจำนวนมากนั้น หากไม่สบายใจขอย้ายรัฐบาลก็ไม่ขัดข้องดำเนินการให้โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง จะอนุมัติให้ไปอยู่ที่อื่นก่อน เพราะบางกรณีย้ายไม่ได้ตามที่ครูต้องการเพราะตำแหน่งเต็มก็ต้องรอไปก่อน
...
ขณะที่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า เน้นสร้างความเข้าใจไทย-พุทธ และไทย-มุสลิม ส่งเสริมการศึกษาทั้งภาษาไทย มลายู และภาษาอังกฤษ สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงเปิดเทอมเป็นไปอย่างเข้มข้น มีการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ที่เกิดจากความร่วมมือสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้และฝ่ายความมั่นคง ในอนาคตจะเน้นการมีหอพักในสถานศึกษา ส่วนสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่เวลานี้ทางทฤษฎีถือเป็นช่วงรอยต่อระหว่างการพูดคุยก่อนที่จะนำไปสู่ขั้นตอนการเจรจา ส่วนการอำนวยความยุติธรรม ผู้ที่ถูกออกหมายจับมีการแสดงเจตจำนงมากขึ้นที่จะขอเข้ามอบตัว และคดี 6 ศพที่ จ.ปัตตานี ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากพูดคุยกลุ่มบีอาร์เอ็น.