ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 (ส.ส.ร.2550) ออกแถลงการณ์ หนุน ตุลาการศาล รธน.ทำหน้าที่ตาม ก.ม. ชี้ ส.ส. ส.ว. อ้าง ไม่รับอำนาจศาล ระวังมีความผิด ตาม ก.ม.อาญา ม.116
วันที่ 28 เม.ย. ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 (ส.ส.ร. 2550) ได้ออกแถลงการณ์ สนับสนุนการทำหน้าที่ตามกฎหมายของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ได้ปรากฏขบวนการทางการเมือง ทั้งพรรคการเมือง นักการเมือง และมวลชนในเครือข่าย หวังเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กระทำการกดดัน คุกคาม ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ หวังทำลายความชอบธรรมและความน่าเชื่อถือขององค์กรตรวจสอบดังเช่นศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้ปรึกษาหารือและมีความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง จึงเห็นชอบให้มีแถลงการณ์ในนามชมรม ส.ส.ร. 2550 ดังนี้
1.ชมรม ส.ส.ร.2550 ขอให้กำลังใจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และขอสนับสนุนให้ตุลาการปฏิบัติหน้าที่สำคัญตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่อไป เพราะศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นหลักให้กับบ้านเมือง โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายการเมืองถือเอาความต้องการของพรรคพวกตนเป็นใหญ่มากกว่าระบบกฎหมาย
2.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 (ฉบับประชามติ) มีที่มาถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ดังพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤษภาคม พุทธศักราช 2551
3.ชมรม ส.ส.ร.2550 เห็นว่า พฤติการณ์ของ ส.ส. ส.ว. พรรคการเมือง และผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ที่ประกาศไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยุยง ส่งเสริม สนับสนุน ตลอดจนบงการหรือสั่งการ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เกิดการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ข่มขู่คุกคามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถึงขนาดประกาศจับกุมตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 116
“ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต
1.เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่กฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
2. เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบให้เกิดในราชอาณาจักร
3. เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี”
4.รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจะต้องทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครององค์กรตามรัฐธรรมนูญเช่นศาลรัฐธรรมนูญให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระจากการคุกคามทั้งหลาย มิใช่ให้ท้ายหรือยุยงส่งเสริมให้มีการคุกคามศาลรัฐธรรมนูญ สอดรับกับท่าทีไม่รับอำนาจศาลของ ส.ส.ในสังกัดพรรครัฐบาลต่อไป
5.ชมรม ส.ส.ร.2550 ขอประกาศจุดยืนที่จะร่วมปกป้อง ร่วมมือ และสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเข้มแข็งจนถึงที่สุด เพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อไป
...