องอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม.ปชป.ตะเพิด “ยิ่งลักษณ์” ดูข้อเท็จจริงก่อนพูด จี้ ส่งสัญญาณ หยุดข่มขู่ ศาล รธน.ไล่ นายกฯ กลับไปอ่าน รธน.ใหม่ ย้ำ ปัญหาอยู่ที่คน ไม่ใช่ระบบ

วันที่ 28 เม.ย. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีระบุว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิแสดงออกและจำเป็นต้องสร้างสมดุลให้กับสามเสาหลัก คือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการว่า ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะให้ความเห็นใดๆ ควรที่จะตรวจสอบพฤติกรรมและข้อเท็จจริงในการเคลื่อนไหวกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ของคนเหล่านี้ก่อน เพราะไม่ใช่เป็นการชุมนุมเรียกร้อง หรือใช้สิทธิภายใต้กฎหมายด้วยความสงบ เนื่องจากมีการประกาศตั้ง สน.ประชาชนให้ผู้ร่วมชุมนุมจับตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้ใครก็ตามที่พบเห็น สามารถจับกุมตัวตุลาการศาลได้ทันที ถือเป็นการเรียกร้องที่ไม่ใช่การชุมนุมตามสิทธิทางกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย

แต่การแสดงออกเช่นนี้ถือเป็นการข่มขู่ คุกคาม มุ่งหมายต่อตัวบุคคลโดยการประกาศชัดเจน อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงต่อตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและอาจรวมถึงครอบครัว หรือก่อให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองเพิ่มเติมมากกว่าที่รัฐบาลพยายามบอกว่าปรองดอง

นายองอาจ กล่าวต่อว่า สิ่งที่นายกฯ ควรดำเนินการคือ ไม่ควรให้ท้ายผู้ร่วมชุมนุมในลักษณะนี้ แต่ควรจะแสดงออกหรือส่งสัญญาณห้ามปรามมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลของตัวเอง ไม่ใช่ปล่อยให้การข่มขู่ คุกคามตัวแทนของสถาบันศาลที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะกับศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองหรือองค์กรใดๆก็ตาม

ทั้งนี้ เห็นว่าผู้ที่ติดตามเรื่องนี้ จะเห็นชัดเจนว่าพฤติกรรมของคนเสื้อแดงที่ชุมนุมหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นพฤติกรรมที่เกินกว่าบุคคลทั่วไปจะรับได้ จึงไม่เข้าใจ ทำไมนายกรัฐมนตรีถึงสามารถรับพฤติกรรมเช่นนี้ได้ ที่มีการปลุกปั่นยุยงให้ประชาชนเกลียดชังศาล ซึ่งอาจเป็นเพราะข้อมูลไม่พอ แต่หวังว่านายกฯ จะแสดงภาวะผู้นำส่งสัญญาณถึงมวลชนของพรรคเพื่อไทยให้ยุติพฤติกรรมข่มขู่คุกคามศาลได้แล้ว

นายองอาจ กล่าวอีกว่า ส่วนที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า เป็นการสร้างสมดุลสามเสาหลักทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการนั้น ส่วนตัวเห็นว่าถ้านายกรัฐมนตรีอ่านรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเกี่ยวกับภาระหน้าที่ของสถาบันหลักทั้งสามฝ่าย ก็จะเห็นว่าเสาหลักของบ้านเมืองทั้งสามเสามีอำนาจหน้าที่และมีการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันอยู่แล้ว แต่การตรวจสอบดังกล่าวอาจไม่เป็นที่พอใจของใครบางคน หรือคณะบุคคลใดคณะหนึ่ง จึงทำให้เกิดความพยายามชี้นำสังคมว่า มีความไม่สมดุลเกิดขึ้น ทั้งที่ในรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีการถ่วงดุลการใช้อำนาจอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว และใช้ยึดถือมานานในประเทศที่ปกครองด้วยระบบประชาธิปไตย จึงคิดว่านายกรัฐมนตรีควรกลับจะไปอ่านรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนเสียก่อน จะได้เห็นว่าสามเสาหลักของประเทศไทยไม่มีปัญหาในเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลแต่อย่างใด

...