เวลานี้ถ้าใครมาถามว่าวันเสาร์ที่ 19 ก.ย.จะมีเหตุวุ่นวายอะไรหรือไม่ ผมจะตอบอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่รู้เหมือนกัน เพราะการเมืองไทยวันนี้มันสับสนวุ่นวายกันจนไม่รู้อะไรเป็นอะไรมั่วไปหมด
ใน กทม. มีม็อบคนเสื้อแดงมาชุมนุมใหญ่ เพื่อรำลึกถึงวันที่ คมช. ทำรัฐประหารล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่วนที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ กลุ่มพันธมิตรฯ ภาคอีสาน ก็นัดชุมนุมเพื่อทวงคืนพื้นที่พิพาท รอบปราสาทเขาพระวิหาร
ฝ่ายบ้านเมืองก็กลัวว่าจะมีมือที่สามแฝงตัวเข้ามาสร้างสถานการณ์ เพื่อก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย จนต้องมีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อกำหนดวงให้ชุมนุมในพื้นที่จำกัดไม่ให้บานปลาย กลายเป็นม็อบป่วนเมืองเหมือนวันสงกรานต์เลือดที่ผ่านมา
พร้อมขอร้องประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่มีธุระจำเป็น หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปใกล้พื้นที่การชุมนุมเพื่อความปลอดภัย
ผมก็เลยอยากจะชวนท่านผู้อ่านไปนั่งรถไฟเล่นให้เย็นๆใจดีกว่า แต่พอนึกถึงเรื่องรถไฟก็อดไม่ได้ ที่ให้ท่านผู้อ่านช่วยกันคิดหน่อยว่า ทำไมการขนส่งระบบรางของบ้านเราถึงไม่พัฒนาเท่าที่ควร หลายประเทศใกล้บ้านเราที่มีรถไฟทีหลัง แต่วันนี้กลับแซงหน้าชนิดไม่เห็นฝุ่น
หลายคนเรียกรถไฟว่ารถหวานเย็น เพราะใช้เวลาในการเดินทางนานกว่าการเดินทางแบบอื่นในจุดหมายเดียวกัน หลายรัฐบาลพยายามจะพัฒนารถไฟ ไม่ว่าจะด้วยการแปรรูปหรือด้วยวิธีการใดๆ แต่ก็ถูกค้านหัวชนฝาจากคนในการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทุกครั้ง
จากข้อมูลพื้นฐาน รฟท.เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ให้บริการการขนส่งมวลชนระบบราง ทั้งการขนคนและขนสินค้า ครอบคลุมพื้นที่ 47 จังหวัด ระยะทางรวม 4.440 กิโลเมตร ปัจจุบันมีหนี้สินประมาณ 73,000 ล้านบาท
มาดูรายได้ของการรถไฟไทยปี 2551 แยกเป็นรายได้จากค่าโดยสาร 4.197 ล้านบาท รายได้จากค่าขนส่งสินค้า 2,392 ล้านบาท รายได้จากบริหารทรัพย์สินและอื่นๆ 2,061 ล้านบาท รวมรายได้ 8,650 ล้านบาท
ในขณะที่รายจ่ายแบ่งเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับบุคลากร 5,487 ล้านบาท ค่าวัสดุ 2.862 ล้านบาท ค่าเชื้อเพลิง 3.206 ล้านบาท รวมรายจ่าย 11.555 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมค่าดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าเสื่อมราคาวัสดุ และค่าบำเหน็จบำนาญ อีก 2.778 ล้านบาท ถ้าคิดตัวเลขขาดทุนสุทธิก็ประมาณ 9.800 ล้านบาท
เรื่องเงินที่จะเอามาพัฒนา รฟท.คงไม่ต้องพูดถึง ลำพังแค่หาเงินมาใช้หนี้ที่มีอยู่ก็ยากแล้ว ดังนั้นที่ผ่านมาการพัฒนารถไฟไทยจึงทำได้แค่ทาสีและล้างส้วมในตู้โบกี้
ลองสมมติถ้าการแปรรูป รฟท.เป็นจริง ใครได้ผลประโยชน์ ประชาชน นักการเมือง หรือพนักงานรถไฟ แต่อย่างหลังคงเป็นไป ไม่ได้ เพราะระบบบำเหน็จบำนาญคงหายไป การเล่นพรรคเล่นพวกก็จะหมดไป แต่คน รฟท.ก็ควรเปิดใจให้กว้าง ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ที่จะเกิดขึ้น แม้ตนเองจะต้องสูญเสียประโยชน์ไปบ้าง หากการเปลี่ยนแปลงนั้นจะทำให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดีขึ้น
แต่ขณะเดียวกันการแปรรูปก็เป็นการเปิดช่อง ให้เอกชนที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับการเมือง เข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากขุมทรัพย์นี้
ดังนั้น หากจะมีการแปรรูปหรือยกเครื่อง รฟท. ก็จำเป็นต้องทำในรูปคณะกรรมการที่มีความบริสุทธิ์ สะอาดและโปร่งใส สังคมสามารถตรวจสอบได้ ไม่ใช่การงุบงิบทำเหมือนฝูงสุนัขหิวที่รุมทึ้งเหยื่อ
ส่วนประชาชนที่โดยสารรถไฟต้องทำใจว่า อาจจะต้องจ่ายค่าโดยสารแพงขึ้นอีกสักนิด เพื่อให้ได้ใช้รถไฟที่ทันสมัยมากขึ้น ไม่ใช่รถหวานเย็นถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่างเหมือนทุกวันนี้
แม้แต่คนที่ไม่ได้ให้บริการ รฟท.ก็ต้องเสียสละ หากรัฐบาลจะเจียดงบฯก้อนใหญ่ไปอุดหนุน เพื่อให้การแปรรูป รฟท.สามารถเป็นจริงได้
ทั้งหมดที่ผมพูดมานี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของใคร แต่พูดเพื่อตัวเองเพราะความอิจฉาคนเวียดนาม ที่มีรถไฟใช้หลังบ้านเราตั้งหลายสิบปี แต่วันนี้มีรถไฟหัวจรวดความเร็วสูงใช้แล้ว.
"ลมสลาตัน"
...