ในหนังสือนามานุกรมขนบประเพณีไทย หมวดประเพณีราษฎร์ เล่ม 1 (กรมศิลปากร พิมพ์ พ.ศ.2549) นันทวัน สาวนายน เรียบเรียงเรื่อง “การเกิด ประเพณี” เอาไว้ดังต่อไปนี้

เมื่อหญิงตั้งครรภ์แก่ มีข้อห้ามหลายประการ ห้ามไม่ให้ไปเผาศพ ไปเยี่ยมคนไข้หนัก เพราะจะทำให้เสียขวัญ ไม่สบายใจ ห้ามลูบตัวนอนกลางคืน เพราะเชื่อว่าเวลาคลอดจะปวดน้ำคร่ำมาก หรือคลอดเป็นแฝดน้ำ

หญิงมีครรภ์มักอยากกินของแปลกๆ บางคนกินดิน กินถ่าน กินดินสอพอง

คัมภีร์พรหมจินดากล่าวถึงอาการแพ้ท้องไว้ว่า

ถ้ามารดาอยากกินมัจฉมังษา เนื้อปลา และสิ่งของสดคาว ท่านว่าสัตว์นรกมาปฏิสนธิ ถ้าอยากกินน้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล ท่านว่ามาแต่สวรรค์ลงมาเกิด ถ้าอยากกินสรรพผลไม้ ท่านว่าดิรัจฉานมาปฏิสนธิ ถ้าอยากกินดิน ท่านว่าพรหมลงมาปฏิสนธิ ถ้าอยากกินสิ่งเผ็ดร้อน ท่านว่ามนุษย์มาปฏิสนธิ

ก่อนคลอด เมื่อครรภ์แก่ ย่างเข้าเดือนที่ 7 ที่ 8 หนังท้องรอบสะดือจะยึด และง้ำปิดรูสะดือ ถ้าง้ำบนเรียกว่าสะดือคว่ำ จะเป็นหญิง ถ้าง้ำล่าง เรียกว่าสะดือหงาย จะเป็นชาย

สมัยโบราณ ผู้ชายต้องไปตัดฟืนมาเตรียมไว้ให้ภรรยาอยู่ไฟ ห้ามคนอื่นไปตัดแทน เป็นการแสดงน้ำใจของคู่ผัวตัวเมีย ไม้ที่ตัดมา คือ ไม้สะแก ไม้มะขาม เป็นไม้ที่ดีที่สุด ไม่มีขี้เถ้า ไม้รองลงมา คือไม้ทองหลาง

ฟืนที่ได้มา จะต้องตั้งเป็นกองสุมไว้เอาหนามพุทราสะ ถือว่าเป็นเครื่องป้องกันผี

เมื่อได้กำหนดคลอด คนในบ้านต้องเตรียมติดไฟต้มน้ำไว้ใช้ ให้หญิงมีครรภ์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หรือทิศเหนือ เชื่อว่าเด็กจะเลื่อนลงมาได้สะดวก

เมื่อหมอตำแยมาถึง ให้จัดขันบรรจุข้าวสารพอสมควร ใส่หมาก 3 ลูก พลู 3 เรียง กล้วย 1 หวี ธูป 3 ดอก เทียน 3 เล่ม มีเงินตามธรรมเนียม รวมเรียกว่า ตั้งขันข้าว เป็นค่าบูชาหมอตำแย

เวลาเจ็บท้องถี่ ให้จุดธูปเทียนบูชาพระภูมิเจ้าที่ เป็นการขอขมาลาโทษ บนบานศาลกล่าวผีสางเทวดา

ขณะกำลังจะคลอด หรือคลอดช้า มีการทำน้ำสะเดาะประพรมชโลมตัวคนเจ็บ และให้กินน้ำ สะเดาะ คือเอาน้ำที่แช่ด้วยตะกรุด ลงคาถา หรือเอาน้ำราดหัวแม่เท้าสามี สาดขึ้นไปบนหลังคา รองรับเอาไว้ สาดกลับขึ้นไปอีก 3 ครั้ง แล้วรองเอาน้ำลงมา เสกด้วยพระพุทธคุณถอยหลัง

เมื่อเด็กคลอดออกมา ต้องรีบเอามือกดท้องให้แน่น เพื่อไม่ให้รกบินขึ้นไป ถ้ารกไม่ออกภายในเวลา 5 นาที ต้องให้ผู้คลอดลุกขึ้นนั่งยองๆ แล้วให้ไอหรือจาม รกจะได้ออก

จากนั้นให้กินน้ำส้มมะขามเปียกกับเกลือ 1 ชาม เป็นการล้างชำระโลหิตที่ตกค้างอยู่ แล้วจึงจัดการเรื่องอยู่ไฟ

เด็กที่คลอดออกมาตกถึงพื้น เรียกว่า ตกฟาก พื้นเรือนสมัยก่อนนิยมทำด้วยไม้ไผ่ผ่า จดวันเดือนปี สำหรับผูกดวงชะตา เอาผ้านุ่งของแม่ปิดคลุมเด็กไว้ไม่ให้ถูกลม หมอตำแยอุ้มเด็กคว่ำหน้า เอานิ้วชี้ล้วงเข้าปาก ควักเอาก้อนเลือดหรือเมือกในปากออก เด็กจะร้องออกมา รีบเอาผ้าห่อเด็กไว้

มาถึงการตัดสายสะดือ ใช้เชือกหรือด้ายดิบผูกสายสะดือเป็นสองเปลาะห่างกันเล็กน้อย ผูกให้แน่นเพื่อไม่ให้เลือดลมเดินสะดวก เด็กจะได้รู้สึกชา เวลาตัดสายสะดือ จะได้ไม่เจ็บมาก ให้เหลือสายสะดือเสมอเข่าเด็ก วิธีตัดใช้ก้อนดินหรือแง่งไพลรองรับต่างเขียง เอาผิวไม้รวกตัดระหว่างกลางตรงที่รัด

ส่วนรกให้ใส่หม้อเอาเกลือใส่เก็บไว้ภาย หลังจึงฝัง

เสร็จแล้วเอาน้ำอุ่นอาบเด็ก ผู้อาบจะนั่งเหยียดขาสองข้าง อุ้มเด็กวางตรงช่องระหว่างหน้าแข้ง หันหัวเด็กไปปลายเท้า ล้างหัวล้างหน้าเด็กให้สะอาด ดัดแขนดัดขา เพื่อให้แขนขาอ่อนและตรง

การอาบน้ำเด็กบนหน้าแข้งเรียกว่าอาบ แต่ถ้าอาบในอ่างเรียกว่าแช่ มีการเอาเงินทองของมีค่า แหวน สายสร้อย ใส่ลงไปในอ่าง เพื่อเอาเคล็ดว่า เมื่อเด็กโตจะเป็นคนมั่งมี

อาบน้ำเสร็จ ใช้ผ้าสี่เหลี่ยมห่อเด็ก เอาสายสะดือออกมาขดเป็นวงกลมเหนือผ้า ใส่ขมิ้นผงปนดินสอพองโรย หรือใช้ขมิ้นชันดำพอก เพื่อทำให้แห้ง จะได้หลุดจากสะดือเร็ว เอาผ้ารัดท้องเด็ก กันไม่ให้สายสะดือที่่ขดไว้เลื่อนจากที่

อุ้มเด็กลงหลังกระด้ง ใช้ผ้าห่มรอง เด็กผู้ชายให้จัดสมุดดินสอวาง เด็กผู้หญิงจัดเข็มและด้ายเย็บผ้าวาง เป็นการเอาเคล็ดว่า เมื่อเติบโตจะได้รู้จักอ่านเขียนหนังสือ รู้จักเย็บปักถักร้อย

นอกจากนี้ ให้เอาผิวไม้รวกที่ตัดสายสะดือ และก้อนดินต่างเขียงตัดสายสะดือ ซุกไว้ใต้ผ้าในกระด้งด้วย

จากนั้นหมอตำแยจะยกกระด้งขึ้นร่อนเบาๆ 3 ครั้ง ปากก็พูด “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใคร รับไปเน้อ”

ให้ผู้หญิงที่เลี้ยงลูกง่ายใจดี ตอบว่า“ลูกข้าเอง” หมอตำแยก็ส่งกระด้งเด็กให้ผู้นั้นรับเอาไป ผู้หญิงคนนี้ เรียกว่าแม่ยก หรือแม่ซื้อ จะเป็นคนให้เงินหมอตำแยพอเป็นพิธีว่าซื้อเด็กไว้แล้ว รับกระด้งไปวางไว้ในมณฑลพิธี

วางด้ายสายสิญจน์ใกล้แม่เด็ก เอาผ้ามาหยิบทำเป็นกระโจมครอบรองกระด้งต่างมุ้ง เพื่อกันไม่ให้ลมเข้าไป ทำให้เกิดความอบอุ่น เด็กจะได้ไม่เกิดเป็นสะพั้นขึ้น

สะพั้นเป็นชื่อโรคชนิดหนึ่ง มักเกิดแก่เด็กอ่อน มีอาการชัก มือเท้ากำ สาเหตุมาจากผิดอากาศ

นันทวัน สาวนายน เขียนว่า สมัยก่อนการคลอดบุตรถือเป็นการเสี่ยงชีวิต เหมือนทหารออกรบยามสงคราม แต่ปัจจุบันการคลอดอยู่ในความดูแลของแพทย์ใกล้ชิด...ถือเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

...

O บาราย O