เนื้อหาหนังสือ เรื่องพฤษภ กาสร อยู่ในปาฐกถาชุด สิรินธร ครั้งที่27 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.จรัญ จันทลักขณา บรรยายที่จุฬาฯ ตอนหนึ่งว่า ปี 2514 มีควายอยู่ 7 ล้านตัว นักวิชาการไทยมีความรู้เรื่องควาย...น้อยมาก

ตอนพานักวิชาการอเมริกัน ไปดูควายที่เลี้ยงกันเกือบทุกบ้านที่สุรินทร์ อเมริกันถาม “ควายตั้งท้องกี่เดือน” นักวิชาการไทย ซึ่งมัวแต่สนใจแต่เรื่องวัวฝรั่ง...ตอบไม่ได้

ดร.จรัญ หันไปศึกษาเรื่องควาย ได้รู้ว่า ควายตั้งท้องราว 310 วัน มักตกลูกระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม

ตั้งข้อสังเกตกันว่า ควายผสมพันธุ์บางฤดู จึงตกลูกในฤดูหนาว แต่ความจริง ควายผสมพันธุ์ทั้งปี แต่มีช่วงเวลาผสมพันธุ์มาก หลังฤดูเก็บเกี่ยว คือปลายพฤศจิกาฯ ถึงต้นมกราฯ ช่วงเวลานี้ ควายว่างจากการไถนา อาหารในนาก็อุดมสมบูรณ์

ควายถูกควบคุมในฤดูเพาะปลูก เจ้าของมักผูกควายไว้กับบ้าน ตัวผู้กับตัวเมียจึงไม่มีโอกาสพบกัน เมื่อพ้นฤดูเพาะปลูก ควายถูกปล่อยไปเจอกันในท้องทุ่ง

ควายถูกต้อนไปรวมกันเป็นฝูงใหญ่ในท้องทุ่ง ตอนเดินกลับบ้าน ควายจะแยกเข้าคอกใคร คอกมัน ถูกต้องครบถ้วน ไม่เคยผิดพลาด

นักวิชาการเคยตั้งข้อสงสัย...ควายจำบ้านตัวเองได้หรือ?

ควายจำกลิ่นมูลและกลิ่นเยี่ยวของตัวเองได้แม่นยำ เรื่องภาพคอก-ภาพบ้าน ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการใดๆพิสูจน์

โดยธรรมชาติควายว่ายน้ำเก่ง...ตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 สัตว์เลี้ยงอื่น วัว ไก่ หมูฯลฯ จมน้ำตายมาก แต่ควายไม่จมน้ำตาย ยกเว้นเจ้าของลืมปลดเชือกที่ผูกล่ามไว้กับคอก

ควายที่ทะเลน้อย (ทะเลสาบสงขลาต่อกับพัทลุง) ดำน้ำลงไปกินหญ้าและสาหร่ายใต้น้ำ ควายที่บราซิลถูกเลี้ยงไว้ในลุ่มน้ำอเมซอน มันว่ายน้ำไปหาหญ้าและสาหร่ายใต้น้ำกินได้ ควายพวกนี้ ถูกเรียกว่า ควายน้ำ

ควายไทยส่วนใหญ่ชอบแช่ปลัก คือหลุมโคลนแฉะๆ เพราะควายมีต่อมเหงื่อตามผิวหนังน้อย จึงขี้ร้อน เวลาร้อนก็จะอารมณ์ไม่ดี ทำให้มีอาการหงุดหงิดหรือดุร้าย

วิธีแก้ก็คือ ต้องไปลงนอนแช่ในปลัก ให้โคลนพอกผิวหนัง โคลนจะช่วยปกป้องความร้อนจากแสงแดด ปรับอากาศให้ควาย...รู้สึกสบาย สมัยนี้ กระบวนการที่ควายแช่ปลัก อาจเรียกว่า กาสรสปา

เวลาที่ควายไม่ได้แช่ปลัก หรือหาปลักแช่ไม่ได้...จึงเกิดเรื่องที่คนพูดกันว่า ควายไม่ชอบสีแดง...

ใครแต่งตัวสีแดงเข้าใกล้ อาจถูกควายไล่ขวิด

นักวิชาการบอกว่า ควายอาจจะตาบอดสีไม่เห็นว่าสีอะไร แต่โดยวิสัย เวลาแดดร้อน หากใครเข้าใกล้ด้วยอาการไม่เป็นมิตร ควายทุกตัวก็มักแสดงอาการระแวดระวัง

ดร.จรัญบอก สถานการณ์ควายไทยตอนนี้อยู่ในขั้นวิกฤติ เหลืออยู่ราว 1 ล้านตัว เพราะชาวนาไม่ใช้ควายไถนา แต่หันไปใช้ควายเหล็ก ซึ่งไม่เพียงกินน้ำมัน ยิ่งใช้นานยิ่งผุพัง...

ควายจึงถูกเลี้ยงไว้เป็นอาหาร เวลาถูกจูงเข้าโรงเชือด ข่าวควายหนีจึงมีบ่อย แล้วก็มีคนใจดีไปใช้เงินไถ่ชีวิต แล้วก็เอามาฝาก หรือทิ้งไว้

ถูกขโมยไปก็มาก ถูกเอาไปเปลี่ยนกับของอย่างอื่นก็มี ควายกลายเป็นสัตว์ไร้ค่า...ทางเศรษฐกิจ

การใช้ควายไถนา สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ประการ

1. พอประมาณ ใช้ควายไถนา ประหยัดต้นทุนต่ำ ใช้ประโยชน์จากวัสดุรอบตัวได้ ผลิตลูกได้เองไม่ต้องซื้อหา

2. ความมีเหตุผล ควายไถนาเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม ควาย  5 ตัว 7 ตัว พอเหมาะกับขนาดพื้นที่นา ขี้ควายใช้เป็นปุ๋ยใส่นาไร่เลี้ยงดิน ดินอุดมสมบูรณ์ ก็บำรุงพืชงดงาม รักษาระบบนิเวศ ไม่สร้างมลภาวะ ลดปัญหาภาวะโลกร้อน ฯลฯ

3. ความมีภูมิคุ้มกัน ช่วยชาวนาประหยัดไม่มีหนี้สิน ใช้เวลาเต็มที่ในการเพาะปลูก ไม่มีเวลามั่วสุมอบายมุข

คนจึงไม่ควรมองการเลี้ยงควายว่า...เป็นเรื่องล้าหลัง

ผมอ่านเรื่องควายไม่ได้เกลียดสีแดง...แล้วชักไม่แน่ใจ...สมัยเป็นเณรวัดเขาย้อย บิณฑบาตสายห้วยกระแทก เคยวิ่งหนีควายจีวรปลิวมาแล้ว...ไม่แน่ใจ ท่าทีหรือสีจีวร ค่อนแดง...ทำให้ควายไม่ไว้ใจ

ถึงวันนี้ ผมจึงไม่ชอบสีแดง...ด้วยเหตุเพราะรักตัวกลัวควาย...

ไม่ใช่เรื่องสีทางการเมืองแต่ประการใด

จริงๆแล้ว เห็นใจสีแดง โถ...อุตส่าห์เหนื่อยแรง บาดเจ็บล้มตาย ติดคุกไปก็มาก ช่วยพายเรือให้เขานั่ง พอเรือถึงฝั่งเขาก็ถีบหัวเรือทิ้ง...

...

กิเลน ประลองเชิง