ในหนังสือชุดบันทึกแผ่นดิน ตอนเรื่องเก่าเล่าสนุก 2 (สำนักพิมพ์สยามบันทึก) โรม บุนนาค เขียนถึงนักการเมืองไร้แผ่นดินเอาไว้หลายคน
คนแรก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เนติบัณฑิตอังกฤษ หลังคณะราษฎร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลเป็นขุนนางผู้ใหญ่ มีหัวก้าวหน้า และข้อสำคัญ มีความใกล้ชิดกับเจ้านายผู้ใหญ่ คงจะช่วยให้ความขัดแย้งระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ผ่อนคลายลงได้
เป็นนายกฯได้ไม่นาน พระยามโนฯ เจอลูกยุจากกลุ่มการเมืองที่โกรธหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ดร.ปรีดี พนมยงค์) ต้นคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฉวยโอกาสในการมีเสียงข้างมากในคณะรัฐมนตรีประกาศปิดสภาผู้แทน งดใช้ รัฐธรรมนูญบางมาตรา
ยื่นข้อหาคอมมิวนิสต์ เนรเทศหลวงประดิษฐ์ออกนอกประเทศ
ด้วยเหตุนี้ คณะทหารนำโดย พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม จึงตัดสินใจยึดอำนาจ พร้อมยื่นข้อหาพระยามโนฯ เป็นผู้ทรยศต่อระบอบประชาธิปไตย จากนั้นก็เชิญขึ้นรถด่วนสายใต้ไปลี้ภัยอยู่ที่ปีนัง และอีก 15 ปีก็จบชีวิตที่ปีนัง
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 เสนาธิการผู้วางแผน คือ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ผู้สำเร็จจาก ร.ร.เสนาธิการทหารเยอรมัน เมื่อยึดอำนาจได้ไม่นาน พระยาทรงฯแตกคอกับเพื่อนคณะราษฎร์ นำอีกสองขุนทหาร ไปหนุนพระยามโนฯ
การเมืองตอนนี้ พระยาทรงฯจึงถูกข้อหาทรยศระบอบประชาธิปไตยเหมือนพระยามโนฯ คณะราษฎร์ไม่วางใจ แต่ยังไม่กล้าหักหาญ เล่นเอาเถิดเจ้าล่อกันอีกสองปี
พ.ศ.2478 พระยาทรงฯกำลังเล่นบทใหม่ เสนอนำทหารเสนาธิการชั้นหัวกะทิ ไปเข้าโรงเรียนรบที่เชียงใหม่ หลวงพิบูลฯ รมว.กลาโหม ไม่วางใจ ส่งสายสืบติดตามทุกระยะ
นักเรียนโรงเรียนรบ รุ่นแรกจบหลักสูตร ระหว่างพระยาทรงฯนำลูกศิษย์ตระเวนดูงานทหาร ไปถึงกรมทหารราชบุรี พระยาทรงฯก็ได้รับซองขาว มีคำสั่งให้ออกจากราชการ โดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ และให้ออกนอกประเทศทันที
พระยาทรงฯพร้อม ร.อ.สำรวจ กาญจนกิจ นายทหารติดตาม ถูกคุมตัวไปขึ้นรถไฟสายอรัญประเทศ ข้ามแดนไปลี้ภัยอยู่ในอินโดจีน ตอนนั้นขึ้นกับฝรั่งเศส พเนจรอยู่ในพนมเปญ และไซ่ง่อน เลี้ยงชีวิตด้วยการทำขนมกล้วยขาย
พ.ศ.2487 มีบันทึกว่า พระยาทรงฯ อาศัยอยู่ในตำหนักร้างราชวงศ์เขมร เสียชีวิตด้วยโรคโลหิตเป็นพิษ
คิวต่อมาเป็นของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ กลางดึก 8 พ.ย.2490 รัฐบาลหลวงธำรง–นาวาสวัสดิ์ รถถังของทหารขับไปควาน หาตัวนายกฯที่เวทีลีลาศสวนอัมพร รถถังอีกคันมุ่งหน้าไปหาทำเนียบท่าช้าง เชิญรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ไปคุยกับหัวหน้าคณะรัฐประหาร
แต่ ดร.ปรีดีเผ่นหนีลงเรือไปลี้ภัยไปอยู่จีน และฝรั่งเศส ไม่มีโอกาสกลับแผ่นดินเกิด และเสียชีวิตที่ชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2526
คิวสำคัญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่ยงคงกระพันบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีถึง
8 สมัย รวมเวลา 14 ปี 11 เดือน 21 วัน เคยถูกลอบสังหารหลายครั้ง รอดกระทั่งข้อหาอาชญากรสงคราม ขณะเพื่อนร่วมรุ่นอย่างนายพลโตโจ มุสโสลินี ถูกแขวนคอ แต่จอมพล ป.ก็รอดมาได้
16 ก.ย.2500 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติ จอมพล ป. ผู้ยัดเยียดชะตากรรมขมขื่นให้พระยาทรง หลวงประดิษฐ์ เพื่อนร่วมรุ่น ก็ต้องขับรถยนต์ออกจากทำเนียบรัฐบาลกลางดึก มุ่งหน้าไปจังหวัดตราด ลงเรือไปเกาะกง ลี้ภัย อยู่ในเขมรพักใหญ่ แล้วไปบวชที่อินเดีย และสุดท้าย ก็
เสียชีวิตที่กรุงโตเกียว เมื่อ 11 มิ.ย.2507
อีกฉากไล่เลี่ยกัน เวทีการเมืองเดียวกัน พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ผู้ได้ฉายาบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย ขุนพลผู้ค้ำบัลลังก์จอมพล ป. ก็ต้องเดินเข้าไปหาจอมพลสฤษดิ์ในกองบัญชาการคณะปฏิวัติ
“อั้วมาแล้วโว้ย จะเอายังไงก็ว่ามา”
โรม บุนนาค เขียนว่า จอมพลสฤษดิ์ ไม่ฆ่าเพื่อน แต่ส่งเพื่อนซึ่งได้ตำแหน่งทูต ขึ้นเครื่องบินไปสวิตเซอร์แลนด์พร้อมสองอัศวินคู่ใจ
พล.ต.อ.เผ่าเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ เมื่อ 21 พ.ย.2503 ที่บ้านพักริมทะเลสาบเจนีวา
มีคนเล่าลือกัน พล.ต.อ.เผ่ามีเงินฝากจำนวนมหาศาลอยู่ในธนาคารสวิส การเสียชีวิตของ พล.ต.อ.เผ่าในเวลาแค่ 3 ปี ชี้ว่าการมีเงินมาก ก็ให้ความสุขได้ไม่เท่ากับอยู่ในแผ่นดินเกิด
นักการเมืองไร้แผ่นดิน...รายต่อไป เป็นใคร...เนื้อตัวหน้าตา ก็พอเห็นๆกันอยู่ รอลุ้นเพียงว่าหากเขาจะต้องตาย เขาจะตายในประเทศ หรือจะตายนอกประเทศ.
...
บาราย