วิกฤติเก้าอี้ ผบ.ตร.เขย่าภาวะผู้นำ "อภิสิทธิ์"
ท่ามกลางวิกฤติของประเทศ
ที่เผชิญสารพัดปัญหาประดังประเด ถาโถมเข้าใส่
ทั้งปัญหาวิกฤติการเมือง ความขัดแย้งแตกแยกรุนแรงในสังคม ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ กระทบถึงปัญหาปากท้องของประชาชน ปัญหาด้านสังคม รวมถึงปัญหาความมั่นคง สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาใหญ่ที่รอให้รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้ามาดำเนินการสะสางแก้ไข
แต่ในขณะที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าคลำทาง หาทางคลี่คลายวิกฤติปัญหาต่างๆที่รุมเร้ากระหน่ำประเทศ
ปรากฏว่าต้องมาเจอกับปัญหาจุดเล็กๆที่เกิดจากสนิมเนื้อในของพรรคประชาธิปัตย์เอง
ส่งผลสะเทือน กลายเป็นวิกฤติสำคัญของรัฐบาล
เป็นปัญหาท้าทายภาวะผู้นำของนายกฯอภิสิทธิ์อย่างรุนแรง
ถึงขั้นที่อาจเป็นปัจจัยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกับรัฐบาลชุดนี้ ได้เร็วกว่าวิกฤติปัญหาอื่นๆที่รุมเร้ารัฐบาลอยู่ในขณะนี้
สำหรับปัญหาจุดเล็กๆ แต่ส่งผลสะเทือนรุนแรงที่ว่านั้น ก็คือ
ปัญหาเรื่องการเสนอชื่อแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ แทน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้
โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา
นายกฯอภิสิทธิ์ ในฐานะประธาน ก.ต.ช.ได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ เป็น ผบ.ตร. คนใหม่ แทน พล.ต.อ.พัชรวาท
แต่ปรากฏว่า ก.ต.ช.ส่วนใหญ่ 5 ต่อ 4 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการเสนอของนายกฯ เพราะเห็นว่าควรเสนอ
ข้อมูลของรอง ผบ.ตร.คนอื่นๆ มาให้ที่ประชุม ก.ต.ช. พิจารณาด้วย
งานนี้เหมือนเป็นการหักหน้านายกฯอภิสิทธิ์กลางที่ประชุม
ภาวะผู้นำถูกเขย่าอย่างแรง
เพราะ "อภิสิทธิ์" เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และประธาน ก.ต.ช. แต่เมื่อตัดสินใจเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่ กลับถูกปฏิเสธ
ฝ่ายที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาแสดงอาการขวางลำ
โดยเฉพาะ ก.ต.ช. 3 ใน 5 เสียงที่คัดค้านการเสนอชื่อของนายกฯ คือ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.
ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาสายตรง
ภาวะผู้นำของ "อภิสิทธิ์" แทบไม่มีเหลือ
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสาวไปถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการหักลำการเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่ของนายกฯในที่ประชุม ก.ต.ช.
ก็ปรากฏว่า มาจากสนิมเนื้อในของพรรคประชา-ธิปัตย์เอง
โดยมีการชี้เป้าว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายก-รัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
เป็นผู้เดินเกมล็อบบี้แกนนำพรรคภูมิใจไทย ให้สนับสนุน พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร. ขึ้นเป็น ผบ.ตร.คนใหม่
จนเป็นเหตุให้เกิดรายการหักหน้านายกฯในที่ประชุม ก.ต.ช.
กระแทกกระเทือนภาวะผู้นำรัฐบาลของ "อภิสิทธิ์" อย่างรุนแรง
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น "ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" จึงขอใช้โอกาสนี้ โฟกัสไปที่ปัญหาภายในของพรรคประ-ชาธิปัตย์
โดยต้องยอมรับว่า ตั้งแต่นายอภิสิทธิ์ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ก็มีอาการไม่พอใจออกมาจากแกนนำบางส่วนในพรรค
ทำให้นายอภิสิทธิ์ต้องใช้นายสุเทพเป็นตัวช่วยในการดึงกำลังคนในพรรคให้มาสนับสนุน
นาทีนั้น แม้ทุกคนในพรรคจะมองว่านายอภิสิทธิ์ยังอ่อนบารมี แต่ก็หวังว่าคุณสมบัติเฉพาะตัวที่เป็นนักการเมืองน้ำดี สามารถที่จะนำพรรคไปได้
ส่วนเรื่องบารมีทางการเมือง ยังมีเวลาบ่มเพาะ
แต่เมื่อเกิดเหตุพลิกขั้วทางการเมือง พรรคประชา-ธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทุกฝ่ายในพรรคก็ต้องยอมรับหลักการที่ว่า
เมื่อเป็นแกนนำรัฐบาล หัวหน้าพรรคก็ต้องขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ
ส่งให้นายอภิสิทธิ์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ขณะเดียวกัน ในเรื่องการประสานงานเจรจาพรรคร่วมฯจับขั้วจัดตั้งรัฐบาล การเจรจาต่อรองแบ่งกระทรวง แบ่งโควตาเก้าอี้รัฐมนตรี
เป็นหน้าที่หลักของนายสุเทพ ผู้จัดการใหญ่รัฐบาล
ส่วน "อภิสิทธิ์" มีหน้าที่เป็นนายกฯเพียวๆ
โดยนายสุเทพและแกนนำคนอื่นๆที่ให้การสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ ก็หวังกันว่านายกฯอภิสิทธิ์จะเป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่าย
แต่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล วางคนลงตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้แกนนำรุ่นอาวุโสในพรรคหลายคนเกิดอาการไม่พอใจการบริหารจัดการของนายสุเทพ
เนื่องจากตัวเอง หรือพรรคพวกในสายของตัวเอง ไม่ได้รับความสำคัญ ไม่มีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี
ถึงขั้นออกมาโวยวายผ่านสื่อ กระเพื่อมกันไปทั้งพรรค
เพราะไม่สมประโยชน์
ต้องเคลียร์กันหลายยก กว่าจะรักษาอาการให้อยู่ในความสงบ
แต่ความไม่พอใจของแกนนำรุ่นอาวุโสในพรรค ก็ยัง
คุกรุ่นอยู่ลึกๆภายใน พร้อมที่จะปะทุขึ้นมาได้ตลอดเวลา
ทางด้านนายอภิสิทธิ์ที่ถูกดันขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกฯ ก็อยู่ในอาการที่ต้องรับสภาพ
ปล่อยให้ผู้จัดการใหญ่รัฐบาล เดินเกมไปตามสะดวก
แต่ด้วยบุคลิกของนักเรียนนอก ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย ออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เมืองแม่แบบของระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ประกอบกับเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง
"อภิสิทธิ์" ก็ไม่ได้ยอมไปซะทุกเรื่อง
โดยเฉพาะในเรื่องการเสนอชื่อแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ที่สถานการณ์มาถึงวันนี้ นายอภิสิทธิ์ยังยืนยันที่จะเสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป
ในขณะที่นายสุเทพ และนายนิพนธ์ ก็ยังเดินเกมผลักดัน พล.ต.อ.จุมพล
ล่าสุด ถึงขั้นมีข่าวว่านายนิพนธ์มีการนัดพบหารือกับนายชวรัตน์ และนายวิชัย เพื่อล็อบบี้ให้สนับสนุน พล.ต.อ.จุมพล เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
ขณะเดียวกัน นายชวรัตน์ให้สัมภาษณ์นักข่าวเกี่ยวกับเรื่องการโหวตเลือก ผบ.ตร.คนใหม่ในที่ประชุม ก.ต.ช. ครั้งต่อไปว่า
เรื่องการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ขึ้นอยู่กับนายสุเทพและนายนิพนธ์ ถ้านายสุเทพและนายนิพนธ์เสนอใครก็จะทำตาม
พร้อมเน้นย้ำ จะยึดแนวทางของนายสุเทพและนายนิพนธ์ เป็นหลัก
ปรากฏการณ์ตรงนี้ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เรื่องการเสนอชื่อแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ เป็นปัญหาที่เกิดจากสนิมเนื้อในของพรรคประชาธิปัตย์เอง
นายกฯไปทางหนึ่ง ผู้จัดการใหญ่รัฐบาลกับเลขา-ธิการนายกฯ ไปอีกทางหนึ่ง
กลายเป็นปัญหาขัดแย้งภายในรัฐบาล แกนนำในพรรคประชาธิปัตย์หักดิบกันเอง ลุกลามไปถึงพรรคร่วมรัฐบาล
ส่งผลให้ความร่วมไม้ร่วมมือและปฏิสัมพันธ์ในองคาพยพของรัฐบาล เกิดอาการปริร้าวรุนแรง
กระทบไปถึงการเดินหน้าทำงานแก้ไขปัญหาวิกฤติต่างๆของประเทศ
ทั้งปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน ปัญหาวิกฤติการเมือง ความแตกแยกของสังคม ปัญหาความมั่นคง สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมไปถึงปัญหาที่กระทบไปถึงสถาบันเบื้องสูง
เพราะเมื่อภาวะผู้นำของนายกฯโดนทำลายจากกรณีการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ความเชื่อมั่นต่อนายกฯในการสั่งการหน่วยราชการต่างๆ ก็หายไปหมด
ทำให้เกิดคำถามจากผู้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทยตามมามากมายว่า
นายกฯอภิสิทธิ์มีอำนาจสั่งการบริหารราชการประเทศ
จริงหรือไม่ เป็นแค่หุ่นเชิดหรือเปล่า และใครกันแน่ที่มีอำนาจตัวจริง
ประเด็นเหล่านี้ไม่เพียงบั่นทอนความเชื่อมั่นของ "อภิสิทธิ์" เท่านั้น
แต่ยังเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นประเทศไทยด้วย
เพราะนายอภิสิทธิ์ไม่ได้เป็นแค่หัวหน้าพรรคประชา-ธิปัตย์เท่านั้น แต่เป็นผู้นำรัฐบาลไทย
ขณะเดียวกัน นายสุเทพ และนายนิพนธ์ ในฐานะที่คนหนึ่งเป็นผู้จัดการใหญ่รัฐบาล อีกคนหนึ่งเป็นเลขาธิการนายกฯ ก็ต้องตอบคำถามสังคมเหมือนกันว่า
เมื่อยอมรับนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำรัฐบาล ควรที่จะต้องยอมรับการตัดสินใจของนายกฯหรือไม่
ถ้าไม่ยอมรับ ก็ควรปลดออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปเลย
อย่างไรก็ตาม เรื่องการเลือก ผบ.ตร.คนใหม่ยังไม่จบ เพราะนายกฯอภิสิทธิ์ยังยืนยันที่จะเสนอชื่อ พล.ต.อ. ปทีป อีกครั้ง ในการประชุม ก.ต.ช.คราวหน้า
งานนี้ ถ้า "ผ่าน" ถือว่านายกฯอภิสิทธิ์สามารถกู้สภาวะความเป็นผู้นำกลับคืนมาได้บ้าง
แค่ถ้า "ไม่ผ่าน" ก็คงต้องนำไปสู่การตัดสินใจ ทางการเมืองของนายกฯที่ไร้สภาวะผู้นำ
โดยนายกฯอภิสิทธิ์มีทางเลือกในระบอบประชา-ธิปไตย 3 ทางเลือก คือ
ปรับ ครม. ลาออก หรือยุบสภา
ทางเลือกแรก ปรับ ครม. คงไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะต้นเหตุเกิดจากสนิมเนื้อใน
ทางเลือกที่สอง ลาออก เพื่อเปิดทางให้เลือกนายกฯกันใหม่ มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้
แต่ทางเลือกสุดท้าย ยุบสภา ถือว่ามีแนวโน้มสูง
เพราะถ้า "อภิสิทธิ์" จบ "ประชาธิปัตย์" ก็จบ.
"ทีมการเมือง"
...