คงไม่มีใครแปลกใจที่บุคลิกท่าทีและการแสดงออกต่อสาธารณะของพลโทภราดร พัฒนถาบุตร นายทหารที่แปลงร่างมาเป็นพลเรือนในตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ดูเหมือนจะแตกต่างไปจากมาตรฐานโดยทั่วไปของผู้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญนี้

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เป็นหน่วยงานระดับกรม แต่ตัวหัวหน้าหน่วยคือ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เทียบเท่า ปลัดกระทรวง คือ ซี 11 เดิม

ข้าราชการ สมช.เป็น ข้าราชการพลเรือนสามัญ ภายใต้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 สถานะของหน่วยแม้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ก็เป็นหน่วยที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เป็นองค์กรนโยบายระดับชาติ ทำหน้าที่ เสนอแนะนโยบายความมั่นคงด้านต่างๆ ต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ทำงานภายใต้ พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ ปี 2502 แก้ไขเพิ่มเติม 2507

จากสถานะของหน่วยและการมีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดไว้ข้างต้น สมช. และเจ้าหน้าที่ สมช. โดยเฉพาะตัวเลขาธิการฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วย จึงมีบรรทัดฐานของการปฏิบัติงานที่ยึดถือกันมาคือ

สมช.ต้องเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัด ซึ่งหมายความว่า จะใช้อำนาจหน้าที่ให้คุณให้โทษทางการเมืองแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้เช่นเดียวกับข้าราชการประจำอื่นๆ

สิ่งที่พูดกันเสมอๆ เป็นข้อเตือนใจก็คือ สมช.มีหน้าที่ดูแล ความมั่นคง และผลประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่ดูแล ความมั่นคงและผลประโยชน์ของรัฐบาล คนเป็นเลขาฯ สมช.จึงไม่มีหน้าที่ไปดูแลเสถียรภาพของรัฐบาล แต่ต้องสนใจให้มากกับผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติและประชาชน

สมช.ต้องทำงานกับฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะกับรัฐบาลนั้น อยู่ในฐานะ เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง วางกรอบนโยบายให้ สมช.รับไปปฏิบัติ แต่ตรงนี้ ต้องแยกให้ดีว่ากฎหมายออกแบบมาให้ทำงานร่วมกันเท่านั้น ไม่ได้กำหนดให้ สมช.ต้องมารับใช้รัฐบาล แต่ต้องปฏิบัติงานสนองรัฐบาลภายใต้กรอบ กฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้

คนที่จะมาเป็นเลขาธิการ สมช.จำเป็นต้องได้รับความเชื่อถือ เชื่อมั่น จากนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ตรงนี้ยืนยันว่าต้องเป็นเช่นนั้น เช่นเดียวกับที่หัวหน้าส่วนราชการอื่นๆ ที่ต้องได้รับความเชื่อมั่นจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัด แต่ต้องระวังการแปลความเป็นเรื่องนี้ เพราะมักจะมีผู้แปลความไปในทางที่ไม่สอดคล้องกับหลักคุณธรรมและผลประโยชน์ของทางราชการ เพื่อให้สามารถเลือกคนของตนขึ้นมาดำรงตำแหน่งอยู่เสมอ

ความหมายของการได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจตรงนี้ สัมพันธ์โดยตรงกับผลประโยชน์ทางราชการ คือบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งจะต้องได้รับความเชื่อมั่นจากนายกฯว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ สามารถปฏิบัติงานที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความไว้เนื้อเชื่อใจอื่นๆ นอกจากนี้ ไม่ใช่เชื่อมั่นว่าต้องเป็นพวกของตนเป็นคนของรัฐบาลในทุกเรื่อง ทุกกรณี แต่เป็นความเชื่อมั่นในฝีมือ ว่าสามารถทำงานใช้ชาติบ้านเมืองได้ผลดีต่างหาก

คนเป็นเลขาฯ สมช.นั้นต้องรับผิดชอบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องคอขาดบาดตายของชาติ คำพูดหรือท่าทีของตัวเลขาฯ

สมช.จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะเป็นการบอกทิศทางของชาติบ้านเมืองในเรื่องนั้นๆ

ดังนั้น สิ่งที่คนใน สมช. ที่ทำงานเป็นลูกหม้อ สมช. ยึดถือกันมาตลอดก็คือ เลขาฯ สมช.ต้องเปิดหูเปิดตาให้กว้างที่สุด แต่ต้องปิดปากให้มากที่สุด เลขาธิการฯ จึงไม่พูดทุกเรื่อง ทุกเวลา แต่จะพูดเฉพาะเรื่องสำคัญๆเท่านั้น

ว่างๆจากงานบริการรับใช้ ช่วยถามตัวเองว่าวางอยู่ตรงไหนของมาตรฐานนี้.

...


“ซี.12”