1. ยุบสภาน่าจะเกิดหลังจากที่นโยบายและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลสัมฤทธิผลแล้ว ซึ่งน่าจะเห็นผลปลายปีนี้
2. ตอนนี้ทุกพรรคการเมืองพอใจกติกาการเลือกตั้งหรือยัง
3. ถ้ายุบสภาแล้วปัญหาหรือเงื่อนไขความรุนแรงจะหมดไปหรือไม่ พรรคการเมืองต่างๆสามารถไปหาเสียงในพื้นที่ทุกแห่งในประเทศได้หรือเปล่า
ฟันธงเลยว่า ยังไงก็ไม่ยุบ
วัดจากเงื่อนไขยุบสภา 3 ประการ ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แอบกระซิบเป็นการภายใน บนเวทีปาฐกถา "การเมืองบนสถานการณ์ความขัดแย้ง" แก่ผู้เข้าอบรมหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูงรุ่นที่ 1 ที่ตึกบัญชาการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยไล่นักข่าวออกไปรอข้างนอกห้องประชุม
ปิดห้องเปิดใจ แบไต๋กันเงียบๆ
ทั้งๆที่มันก็ไม่ได้มีอะไรต้องกั๊ก บนเงื่อนไขเดาทางกันได้ง่ายๆ ณ คาบนี้"อภิสิทธิ์" ไม่มีทางเลือก
โดยปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ยังลูกผีลูกคน แม้จะมีข่าวเชิงบวกที่หน่วยงานของรัฐถูกส่งออกมาตีปี๊บเศรษฐกิจเริ่มผงกหัว จากสัญญาณการคาดการณ์ของบริษัทข้ามชาติที่ปล่อยตัวเลขออกมาหยั่งกระแส
แต่สุดท้ายก็ยังไม่ชัวร์ ฟื้นเป็นรูปตัว "V" หรือจะฟุบซ้ำอีกรอบเป็นรูปตัว "W"
นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับระดับความมั่นใจในมาตรฐานทีมเศรษฐกิจยี่ห้อประชาธิปัตย์ที่ผ่านมา 8 เดือนแล้ว ก็ยังไม่สามารถลบคำสบประมาท "ประเทศชาติฝากไว้ในมือเด็กสองคน" ได้ โดยผลงานที่เห็นๆกันอยู่
นอกจาก "กู้" แล้วก็ "กู้"
โดยงานรูทีนรายวัน นายกฯอภิสิทธิ์กับ "คู่หูออกซ์ฟอร์ด" อย่างนายกรณ์
จาติกวณิช รมว.คลัง ต้องเดินสายล็อบบี้สภาผู้แทนฯ ตามด้วยคิวออดอ้อนวุฒิสภา
ขออนุญาตกู้เงินมาใช้
กับภาพเด็กเก่งแต่แบมือขอเงินแบบนี้ ประชาธิปัตย์จะเอาอะไรไปสู้กับ "นายใหญ่" ที่โชว์ฟอร์มนักธุรกิจอินเตอร์ เหมาสัมปทานเหมืองเพชรในแอฟริกา คว้าสัมปทานหวยในประเทศ แถบละตินอเมริกา ขึ้นชั้นระดับโลกไปแล้ว
เทียบฟอร์มห่างชั้น ปล่อยลงสนามเมื่อไหร่ก็ปิดประตูชนะ
แต่ก็นับว่า ยังดีที่เงื่อนไขไฟต์บังคับพรรคร่วมรัฐบาล โดยสภาพของพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กต้องหาช่องเบียดแทรกกับค่ายการเมืองใหญ่ ขืนสู้กันตามกติกาที่รัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำล็อกไว้ เลือกตั้งพวงใหญ่มีหวังโดนเกมหนีบ บีบหน้าดำหน้าเขียว
ตามข้อตกลงบนโต๊ะอาหารที่บ้านของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ บอสใหญ่พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ผู้มีบารมีตัวจริงของพรรคร่วมรัฐบาลประสานเสียง ล็อกโปรแกรมแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปใช้การเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว เสร็จก่อนเดือนธันวาคม
อย่างไรเสีย พรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องกัดฟัน ตื๊อลากยาวไป จนกว่าจะแก้กติกาในสนามเลือกตั้งให้กลับไปเป็นวันแมนวันโหวต
นั่นแหละ ถึงจะสลายตัวแยกย้าย ทางใครทางมัน
แต่นั่นก็ยังต้องคำนึงถึงเงื่อนไขบังคับทั้งฝ่ายประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทย ในสถานการณ์ที่วิกฤติความแตกแยกของประเทศไทยยังแบ่งสีกันชัดเจน
ยี่ห้อ "เพื่อไทย" ลงไปปักษ์ใต้ก็เสี่ยงโดนเสื้อเหลืองล้อมกรอบ ยี่ห้อ "ประชาธิปัตย์" ไปภาคเหนือกับภาคอีสานก็ต้องหวาดระแวงกองทัพเสื้อแดงอาละวาด สีน้ำเงินของภูมิใจไทยอุ่นใจได้แค่ถิ่นอีสานใต้
จะเดินสายหาเสียงกันยังไง
มีหวังกองเชียร์ล่อกันเละ
และนั่นก็จะไหลไปเข้าทางปืน โดยเงื่อนไขที่อำมาตย์กับทหาร ฝ่ายคุมเกมอำนาจประเทศไทย จ้องหาเหตุ "ล้มกระดาน" จากการเมืองป่วน นักเลือกตั้งคุมเกมไม่ได้
จำเป็นต้องเปิดทางอำนาจพิเศษ คุมสถานการณ์
ปฏิวัติ โดนยึดเวทีสภาผู้แทนราษฎร
นักเลือกตั้งตกงาน เซ็งกันถ้วนหน้า.
ทีมข่าวการเมือง รายงาน
...