กมธ.สอบทุจริตฯ วุฒิสภา รุมสับ กสทช. เร่งประมูลเทียม 3 จี ผิดปกติ ทำรัฐเสียหายหนัก เตรียมเรียก กทค.-นักวิชาการ-คลัง แจง 25 ต.ค.นี้

วันที่ 22 ต.ค.ที่รัฐสภา มีการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาธิบาล วุฒิสภา ที่มี น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี เป็นประธานคณะกรรมาธิการ

โดยวันนี้ มีวาระการประชุมพิจารณาตรวจสอบ เรื่องการประมูลคลื่นความถี่ 3จี ซึ่ง นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะ กมธ. กล่าวในที่ประชุมโดยเห็นว่า การกระทำของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการ โทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เกิดการฮั้วประมูลหรือไม่ เพราะการตั้งราคาประมูลเบื้องต้น แสดงให้เห็นเจตนาที่ไม่มีความถูกต้อง

ด้าน นายคำนูญ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะ กมธ. กล่าวว่า การที่รัฐเสียรายได้กว่า 1.6 หมื่นล้านบาทนั้น นักวิชาการหลายคน ก็ออกมาให้ข้อมูลว่า หากนำฐานรายได้ที่เอกชนจ่ายให้รัฐมา เปรียบเทียบกับการเปิดประมูลใหม่รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 7 แสนล้านบาท

ดังนั้น แม้คนไทยต้องการใช้ระบบ 3จี แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมและประโยชน์ที่คนทั้งประเทศจะได้รับเป็นที่ตั้ง มากกว่าประโยชน์ที่จะไปตกกับผู้ประกอบการเอกชน อีกทั้ง พฤติกรรมของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมหรือ กทค. ก็มีลักษณะเร่งรีบ และเร่งรัดให้การประมูลเสร็จสิ้นภายในสองวัน ซึ่งเป็นเหตุผิดปกติ

ทั้งที่กฎหมายระบุว่า สามารถใช้เวลาประมูลได้ 7 วัน ดังนั้น จึงต้องการให้คณะกรรมาธิการพิจารณาข้อมูลที่มีการเสนอเรื่องเข้ามา และขอให้ประธาน กสทช. พิจารณาทบทวนความสูญเสียของประเทศว่า มีมากน้อยเพียงใด

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว. สรรหา กล่าวว่า การประมูลครั้งนี้เป็นการประมูลเทียมที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ไปอย่างมหาศาล เพราะทรัพยากรความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัด รัฐจะต้องมีวิธีการคิดใหม่และควรมองว่าการประมูลเอกชนได้กำไรเท่าไหร่ ที่เหลือต้องตกเป็นประโยชน์ของประเทศและไม่ควรกลัวว่า ถ้าตั้งราคาสูงแล้วจะไม่มีใครประมูล อีกทั้งมีการตั้งข้อสงสัยในการประชุมของคณะกรรมการ กทค. ว่า เมื่อมีมติฯ แล้วต้องแจ้งให้ผู้ประมูลทราบ เพื่อจ่ายเงินภายใน 90 วัน แต่ในข้อเท็จจริงวันดังกล่าว มีการมารอเพื่อจ่ายเงินเลย ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการผูกมัดไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น อีกทั้งมองว่า การกระทำดังกล่าวของ กทค.อาจมีความผิด

ทั้งนี้ น.ส.สุมล ได้ขอมติที่ประชุมว่า ควรเร่งนำเรื่องส่งต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) โดยนำข้อมูลการร้องเรียนมาประกอบกับข้อมูลที่ กมธ. ได้ศึกษาแนบส่งไปด้วย ซึ่งที่ประชุมก็เห็นด้วย พร้อมกับเห็นว่า ต้องเชิญ กทค.คณะผู้วิจัย ตัวแทนผู้ตรวจการแผ่นดิน ตัวแทนการตรวจเงินแผ่นดิน ตัวแทนเอกชน 3 ราย รวมไปถึง นางสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง มาประชุมพร้อมกันในวันพฤหัสที่ 25 ตุลาคมนี้ พร้อมกับทำหนังสือไปยัง ประธาน กสทช. ให้เข้ามาชี้แจงกับกรรมาธิการด้วยว่า ได้มอบอำนาจให้ กทค. ไปดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน.

...