ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์ปฏิบัติ การโรคทางสมองโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ส่งข้อมูลสุขภาพเกี่ยวกับ “ไข่” ตั้งหัวข้อว่า...“เรื่องเศร้าของคนชอบไข่แดง” ให้รู้กันเอาไว้

ปัญหาโลกแตกที่ถกเถียงกันมาเนิ่นนาน นั่นก็คือ เรื่องไข่แดง ซึ่งอุดมไปด้วยคอเลสเทอรอล จะเกิดโรคหัวใจ เส้นเลือดสมองตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือไม่...ถ้ากินมาก

การศึกษาล่าสุดเป็นข้อควรระวังสำหรับผู้ที่เข้าสู่วัยกลางคน อายุ 45 ปีขึ้นไปที่แม้ไม่มีโรคประจำตัว การกินไข่แดงมีผลสัมพันธ์กับเส้นเลือดตีบ โดยมีรายงานในวารสารเส้นเลือดตีบเผยแพร่ในเดือนสิงหาคมนี้

...

หลักฐานของเส้นเลือดตีบทำโดยการวัดปริมาณ ตะกรันที่เกาะที่เส้นเลือดที่คอ ซึ่งแม้จะตีบตามวัย แต่ผู้ที่บริโภคไข่เป็นประจำจะเร่งให้ตะกรันเกาะทำให้เส้นเลือดตีบ ในอัตราที่รวดเร็วเลวร้ายเทียบเป็นประมาณ 70% ของที่เกิดจากการสูบบุหรี่ โดยจะยิ่งชัดเจนถ้ากินไข่ตั้งแต่ 3 ลูกต่อสัปดาห์ขึ้นไป

กรณีผู้ที่เป็นเบาหวาน หากกินไข่วันละฟอง จะเพิ่มอัตราการเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบขึ้น 2-5 เท่า

อีกผลการศึกษาที่น่าตกใจ ภาวะตะกรันหรือเส้นเลือดตีบจากการกินไข่ไม่มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับระดับคอเลสเทอรอลในเลือด ความดัน การสูบบุหรี่ อ้วน...หรือไม่อ้วน ฉะนั้นถึงแม้ว่ากินไข่แล้วไขมันไม่สูงก็อย่าชะล่าใจ...ยิ่งถ้าเป็นเบาหวาน...มีโรคเส้นเลือดหัวใจ สมอง หรือ...เริ่มเข้าสู่วัยกลางคน คงต้องยั้งใจเอาไว้บ้าง

ไหนๆก็คุยกันถึงเรื่องสุขภาพกันมาพอสมควรแล้ว ก็ให้รู้ถึงอีกโรคร้ายที่มาเงียบๆแต่น่ากลัว นั่นก็คือ...“โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ” นายแพทย์ปัญญา ลีชาแสน อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า หัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายชนิด แบ่งเป็นห้องบนเต้นผิดจังหวะ ห้องล่างเต้นผิดจังหวะ

เฉพาะห้องบนเต้นผิดจังหวะก็แบ่งย่อยออกเป็น 4-6 ชนิด หนึ่งในนั้นคือ หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบเอเอฟ (ATRIAL FIBRILLATION) เป็นอาการของหัวใจห้องบนทั้งซ้ายและขวาเต้นเร็ว แล้วก็เต้นไม่สม่ำเสมอ

โดยปกติหัวใจจะเต้นด้วยอัตรา 60-100 ครั้งต่อนาที ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หมายถึงภาวะหัวใจเต้นเร็ว หรือช้ากว่าปกติ แต่หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบเอเอฟ ระยะหลังเจอบ่อยขึ้น

“หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอแบบเอเอฟ...ถ้าหัวใจห้องบนเต้นไม่สม่ำเสมอก็จะส่งสัญญาณไปที่หัวใจห้องล่าง ฉะนั้นห้องล่างก็อาจจะเต้นช้าก็ได้หรือเต้นอัตราปกติ หรือเต้นเร็วตามห้องบนก็เป็นไปได้”

ทีนี้ภาวะที่ว่านี้พบในกลุ่มไหนบ้าง ที่เจอคือกลุ่มผู้สูงอายุ ยิ่งอายุเยอะขึ้นยิ่งเสี่ยง คุณหมอปัญญา บอกว่า ตัวเลขไม่ระบุชัดเจน แต่ถ้าเกิน 60 ปี ก็มีเปอร์เซ็นต์มากขึ้น ถ้าคนไข้อายุ 50-60 ปี โอกาสที่จะเกิดเอเอฟอาจอยู่ที่ 0.5-1 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าอายุ 80 ปีขึ้นไป อาจจะมีโอกาสเกิดเอเอฟได้สูงขึ้นถึง 8-10 เปอร์เซ็นต์

กลุ่มถัดมาคนไข้ที่มีภาวะโรคหัวใจอยู่ก่อน เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ลิ้นหัวใจผิดปกติ รวมถึงเด็กบางคนที่เกิดมาแล้วมีโรคหัวใจมาแต่กำเนิด ก็จะเป็นเอเอฟได้

ส่วนกลุ่มอื่นๆคนไข้อาจมีโรคหรือภาวะบางอย่าง เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ คนไข้ที่มีโรคปอด หรือคนไข้ที่มีความดันโลหิตสูง...เป็นมานานระยะยาวก็มีโอกาสเป็นเอเอฟเพิ่มขึ้น และในคนไข้หลังผ่าตัด โดยเฉพาะหลังผ่าตัดหัวใจก็จะเกิดเอเอฟได้บ่อยเหมือนกัน

สุดท้าย...เกิดกับคนไข้ที่มีเกลือแร่ผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปแตสเซียมต่ำ และก็มีภาวะอื่นๆอีกเล็กๆน้อยๆ แต่ไม่เด่นเหมือนอย่างที่กล่าวไปแล้ว
ข้างต้น

ถ้าถามว่าอาการคนไข้ที่อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ที่จะเป็นเอเอฟมีอะไรบ้าง คุณหมอปัญญา ย้ำว่า ที่น่ากลัวคือไม่มีอาการเลยก็ได้ คนไข้ไม่รู้ตัว แล้วก็ไม่มีอาการ

“กลุ่มนี้บางคนเป็นเอเอฟแค่บางช่วง...เต้นเป็นๆ หายๆ ไม่ได้เต้นผิดจังหวะตลอดเวลา ฉะนั้นการวินิจฉัยในกลุ่มคนเหล่านี้จึงค่อนข้างยาก ถามว่ามีผลกระทบอะไรบ้าง อันตรายแค่ไหน มีแน่นอน”

อาจไม่ต้องกังวลนักเพราะถ้ารักษาด้วยโรคอื่น มาตรวจ คุณหมอก็จะรู้ เวลาจับชีพจร หรือตรวจกราฟหัวใจ บางทีจังหวะที่ตรวจถ้าผิดปกติจะจับได้ถึงความไม่สม่ำเสมอ ส่วนอาการอื่นๆที่นำคนไข้มาหาหมอ อาจเป็นอาการใจสั่น รู้สึกใจเต้นเร็ว เต้นไม่สม่ำเสมอ วิงเวียนง่าย เวียนศีรษะบ่อยๆ
บางคนถ้าเป็นเยอะๆก็อาจเป็นลมหมดสติ ศีรษะฟาดกับพื้นได้ นอกเหนือจากนี้อาจจะมาหาหมอเพราะเหนื่อยง่าย อยู่เฉยๆก็เหนื่อย หรือเวลามีกิจกรรมก็เหนื่อยง่ายขึ้นเพราะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สุดท้ายที่เจอบ่อย คนไข้มาหาหมอด้วยเรื่องอัมพฤกษ์ อัมพาต แล้วเหตุที่ซ่อนอยู่คือภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะเอเอฟ

“หัวใจทั้งลูกปกติห้องบนจะบีบพร้อมกันหัวใจจะเล็กลงแต่เอเอฟจะบีบคลายไม่สามัคคีกัน หัวใจห้องบนเล็กลงไม่สุด มีเลือดค้างอยู่บางทีเกาะกันเป็นลิ่ม ถ้าหลุดไปอุดหลอดเลือดในสมองก็เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต...

ถ้าเป็นภาวะเอเอฟแล้วหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว...กรณีเต้นเร็วมากๆ เคสน่ากลัว อาจจะความดันตก หรือคนไข้มีน้ำท่วมปอดเฉียบพลันขึ้นมาได้ หรือคนไข้เส้นเลือดตีบมาก่อนหัวใจก็จะยิ่งทำงานหนัก หัวใจก็ยิ่งจะขาดเลือด คนไข้ที่มีอาการรุนแรงเหล่านี้มักมีอาการของโรคหัวใจอยู่เก่าแล้ว พอเต้นเร็วก็รับไม่ได้จึงเกิดอันตราย”

วิธีวินิจฉัย สิ่งที่จะช่วยได้ก็คือประวัติอาการที่น่าสงสัย เช่น มีอาการใจเต้นเร็ว เคยตรวจแล้ว หมอทักว่าชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ จะบ่งชี้ว่าควรจะนึกถึงโรคอะไร เป็นสัญญาณของอาการเอเอฟหรือเปล่า

เพื่อให้ชัดเจนอาจใช้เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจ 24-48 ชั่วโมงติดเพื่อบันทึกจังหวะการเต้น แล้วเอามาเปิดดูอีกทีว่าเกิดผิดปกติเวลาใดหรือเปล่า หรือไม่ก็เป็นการตรวจเลือด หาระดับเลือกแร่ ตรวจไทรอยด์ฮอร์โมน อัลตราซาวด์หัวใจดูว่าผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งเดินสายพานเช็กหลอดเลือดว่าหัวใจตีบไหม

คราวนี้ก็มาถึงการรักษา...จำเป็นต้องวินิจฉัยให้ได้ก่อนว่ามีโรคอะไรร่วมก็รักษาไปที่โรคต้นเหตุ รวมถึงปัจจัยกระตุ้น จะมีสารเคมีบางอย่างที่กระตุ้นหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่คุ้นเคยกันดีก็คือพวกคาเฟอีน หัวใจเต้นผิดจังหวะแล้วไปดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ยิ่งกระตุ้นให้เป็นบ่อยและรุนแรงขึ้น

“ยาแก้หวัดบางชนิดที่มีส่วนประกอบของซูโดอีเฟดรีน ถ้ากินเข้าไปก็ยิ่งกระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ รู้แล้วก็แก้ไปที่สาเหตุบางรายก็หายได้ แต่บางคนไม่หาย ต้องเริ่มจากการใช้ยา คุมอัตราการเต้นหัวใจ”

ถัดมา...เป็นการจี้ไฟฟ้า วิธีนี้มีโอกาสหายขาดได้ 60–70% ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ถ้าคนไข้เป็นเอเอฟชนิดที่เป็นมานานๆ โอกาสที่จะให้หายขาดก็จะน้อยกว่ากลุ่มคนไข้ที่เพิ่งเริ่มเป็น

วิธีการจะสอดสายตรงขาหนีบผ่านเส้นเลือดดำ ต่อไปถึงหัวใจ เวลาหัวใจเต้นผิดจังหวะก็จะเข้าไปกระตุ้นตรงจุดที่มีไฟฟ้าผิดปกติ ระยะเวลาที่ใช้แต่ละรายก็ไม่เท่ากัน 2-4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความยากง่าย

หรือถ้ามีโรคหัวใจผิดปกติ ลิ้นหัวใจผิดปกติต้องแก้ที่ต้นเหตุ แล้วรักษาแบบชั่วคราวเรียกว่าช็อกไฟฟ้า ส่วนใหญ่ทำกรณีฉุกเฉิน สุดท้าย...การผ่าตัด
วิธีนี้ใช้ไม่บ่อยนักจะทำกรณีจะต้องผ่าตัดโรคหัวใจอื่นๆอยู่แล้ว

ถึงตรงนี้อาจมีคำถามตามมา อยากจะรู้ว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยง...จะเป็นโรคหัวใจเอเอฟไหม แนะนำว่า ถ้าไม่มีอาการอะไรเลย แต่อายุเพิ่มขึ้นก็ควรตรวจสุขภาพประจำปี เหมือนรถเราใช้ก็ต้องเช็กบำรุงรักษา... ร่างกายก็เช่นกันถ้าไม่เช็กเลยก็เสี่ยงที่จะเกิดโรคโน้นโรคนี้ เฝ้าระวังก่อนที่จะเป็นดีกว่าเป็นแล้วค่อยรักษา

“ถ้าผิดปกติ เข้าข่ายก็ปรึกษาแพทย์ ตรวจแล้วก็จะรู้ เป็นหรือไม่เป็น ถ้าเป็นโรคอื่นก็ควรรับการรักษาต่อเนื่อง เพราะตรวจแล้วคุณหมอก็จะถามอาการอย่างอื่น วินิจฉัยโรคอื่นๆที่มีร่วมได้ด้วย”

นายแพทย์ปัญญา ลีชาแสน อายุรแพทย์หัวใจ ฝากทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าจะมีความเสี่ยงหรือไม่มี ไม่อยากให้บริโภคสิ่งที่มีคาเฟอีน... แอลกอฮอล์ก็ควรเลี่ยง เพราะประโยชน์มันน้อยอยู่แล้ว.