สภากทม.ถกญัตติด่วนแนวทางสร้างความเชื่อมั่นหลังเหตุแผ่นดินไหว ด้าน สก. กนกนุช โวยโซเชียลตัดต่อคลิปทำชาวบ้านเข้าใจผิด ยันตัดงบเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว เพราะโครงการไม่ชัดเจน ไม่คาดคิดจะมีเหตุแบบนี้เกิดขึ้น

วันที่ 2 เมษายน 2568 มีการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2568 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก ยื่นญัตติด่วนด้วยวาจา หารือที่ประชุมเพื่อเสนอแนวทางสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและแนวทางการรับมือในอนาคต หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568

นายสุทธิชัย ยอมรับว่า ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนหน้านี้ว่ากรุงเทพมหานครจะเกิดแผ่นดินไหว ทำให้ประชาชนมีความตื่นตระหนก ผลกระทบที่ตามมาคือ หลายอาคารมีรอยร้าวและแตก โดยเฉพาะอาคารที่สร้างในกรุงเทพมหานครก่อนปี 2550 จะมีความแตกต่างจากอาคารที่สร้างหลังจากนั้น เพราะก่อนปี 2550 ไม่ได้มีการกำหนดหรือบังคับโครงสร้างอาคารเพื่อต้านแผ่นดินไหว แต่หลังจากปีดังกล่าวมีการเพิ่มการบังคับให้สร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหวได้ จึงอยากทราบว่าระหว่างวิศวกรของเอกชนกับวิศวกรของกรุงเทพมหานคร หากมีการตรวจสอบอาคาร ประชาชนจะเชื่อถือใคร เพราะตนเชื่ออย่างยิ่งว่าประชาชนเชื่อถือวิศวกรของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด กรุงเทพมหานครต้องเข้าไปตรวจสอบและรับรองอาคารเหล่านั้นด้วยตนเอง

สก.ประสานเสียงไม่คาดคิดจะเกิดแผ่นดินไหว แจงตัดงบเพราะโครงการไม่ชัดเจน (คลิป)

...

ทั้งนี้ นายสุทธิชัย เสนอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เชิญผู้ประกอบการทั้ง 50 สำนักงานเขตเข้ามาพูดคุย และเข้าตรวจตราเฉพาะเขตตนเองก่อน เพื่อกระจายการตรวจสอบให้ทั่วถึงว่าอาคารสูงมีขนาดไหน หากพบปัญหาหนักให้เข้ามาคุยกับผู้บริหารสูงกว่านั้น เพื่อแก้ปัญหาต่อไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่ากรุงเทพมหานครเอาอยู่

แนะออกแบบผังเมืองแบบ Safety Zone

ด้านนายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบึงกุ่ม เสนอมาตรการการรับมือในอนาคต โดยเริ่มจากการเพิ่มวิชาเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 437 โรงเรียน คาบเรียนละ 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง เพื่อเรียนรู้ฝึกอบรมการป้องกันตัว การเอาชีวิตรอดช่วงแผ่นดินไหว รวมถึงศูนย์เด็กเล็กและชุมชนต่าง ๆ ด้วย ขณะที่การออกแบบผังเมือง ควรมี Safety Zone ภาวะเสี่ยงแผ่นดินอ่อน เพื่อรับมือภัยพิบัติ และเรื่องระบบการแจ้งเตือน ในภาคชุมชนกว่า 2 พันชุมชน จะพัฒนาเสียงตามสายได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังพบว่าโรงพยาบาลบางแห่งไม่มีทางลาด เช่น โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ โรงพยาบาลรัตนประชารัฐ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยลิฟต์และบันไดหนีไฟเป็นไปอย่างยากลำบาก หากเกิดเหตุการณ์แย่ไปกว่านี้จะมีการรับมืออย่างไร

สก.ประสานเสียงไม่คาดคิดจะเกิดแผ่นดินไหว แจงตัดงบเพราะโครงการไม่ชัดเจน (คลิป)

การันตีอาคารส่วนใหญ่ปลอดภัย

ด้านรศ.วิษณุ ทรัพย์สมผล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ทางนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เร่งตรวจสอบรอยแตกร้าวของอาคาร ด้วยแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ที่กรุงเทพมหานครร่วมกับวิศวกรอาสา ให้ประชาชนที่มีความกังวลเรื่องรอยร้าวอาคารส่งเรื่องเข้ามา ซึ่งปัจจุบันมีการรับเรื่องมากกว่า 15,000 เรื่อง ทั้งหมดใช้วิศวกรในการสกรีนเพื่อดูภาพ ให้ประชาชนเชื่อมั่นกลุ่มอาคารสีเขียว คือ รอยแตกร้าวไม่อันตราย และรอยแตกร้าวส่วนผนังนั้น ไม่ส่งผลถึงโครงสร้าง ฉะนั้นจึงไม่มีความกังวล เว้นแต่ว่าแตกทั้งผนังและเอียง 45 องศาทั้งหมดและลึก ส่วนนี้ควรซ่อม แต่ไม่อันตราย ขณะนี้ได้เคลียร์เรื่องความปลอดภัยออกไปได้เยอะ

โดยส่วนที่ยังไม่ชัดเจน คือ กลุ่มสีเหลือง เป็นกลุ่มที่มีรอยแตกร้าวที่เห็นจากภาพได้ยาก แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของอาคาร และยังไม่เป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งได้รับเรื่องมาหลายร้อยกรณี และได้ส่งคนเข้าตรวจเรียบร้อย กว่า 400 เรื่อง

รศ.วิษณุ ยืนยันว่า จนถึงปัจจุบันพบอาคารกลุ่มสีแดงเพียง 2 หลัง ซึ่งมีการปิดใช้อาคารแล้ว อีกกลุ่มคือ อาคารราชการ ซึ่งได้ทำงานร่วมกับสภาวิศวกร และกรมโยธาธิการและผังเมือง รับดูแลอาคารของภาครัฐ โรงเรียน สถานพยาบาล ตรวจสอบกว่า 300 อาคาร และพบอาคารกลุ่มสีแดง 3 อาคาร เร่งผู้ตรวจสอบอาคารส่งรายงาน ขณะที่อาคารต่างๆได้ขอให้เจ้าของอาคาร ดำเนินการตรวจสอบอาคารให้แล้วเสร็จ ภายใน 2 สัปดาห์ตามคู่มือของกรมโยธาธิการ

ระงับใช้ทาวเวอร์เครน 201 โครงการ

รศ.วิษณุ ระบุด้วยว่า กรุงเทพมหานคร มีการออกแบบป้องกันแผ่นดินไหว ตั้งแต่ปี 2550 โดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่ และมีการออกแบบที่เข้มข้นในอาคารโรงพยาบาล มีความสามารถในการป้องกันแผ่นดินไหว กระทั่งปี 2564 มีการยกระดับความปลอดภัยเพิ่มขึ้นถึง 40% กว่าอาคารปกติ ในอนาคตอาคารโรงพยาบาลไม่มีความกังวล ส่วนอาคารเก่าที่สร้างก่อนหน้าปี 2550 ต้องมีการติดเซ็นเซอร์ จนถึงขณะนี้ได้สั่งระงับใช้ทาวเวอร์เครนไปแล้ว 201 โครงการ จนกว่าจะได้รับการตรวจสอบจากวิศวกร

สก.ประสานเสียงไม่คาดคิดจะเกิดแผ่นดินไหว แจงตัดงบเพราะโครงการไม่ชัดเจน (คลิป)

แจงตัดงบเครื่องวัดแรงสั่น

ต่อมา นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง ชี้แจง กรณีประชาชนเข้าใจผิดจากที่มีผู้ทำคลิปลงโซเชียลมีเดียว่าตนเองไม่เห็นด้วยกับการอนุมัตงบประมาณจ้างที่ปรึกษาประเมินกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหวอาคารสูงในสังกัดกรุงเทพมหานคร มูลค่า 9 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยการติดตั้งเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ว่า ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้น โดยเหตุผลที่กรรมาธิการวิสามัญซึ่งมีตนเป็นประธานเห็นควรตัดงบประมาณส่วนนี้ เพราะทำตามที่คณะอนุกรรมการได้รายการขึ้นมา หลังพิจารณาแล้วว่า โครงการไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุม เนื้อหาโครงการและ TOR ยังขาดวัตถุประสงค์ จึงมีมติไม่เห็นชอบโครงการดังกล่าว  ยืนยันตนเองเป็นห่วงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนมาเป็นอันดับแรก แต่โครงการที่ผู้บริหารเสนอมาไม่ชัดเจน

สก.ประสานเสียงไม่คาดคิดจะเกิดแผ่นดินไหว แจงตัดงบเพราะโครงการไม่ชัดเจน (คลิป)