“พิพัฒน์” ตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานตึกถล่ม เผย แรงงานเสียชีวิตรับเยียวยาตามสิทธิสูงสุดประมาณ 2 ล้าน “บุญสงค์” เผย กรณีต้องหยุดงานได้ชดเชย 50% ค่าแรงนาน 6 เดือน คนบาดเจ็บรักษาจนกว่าจะหาย
เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 31 มีนาคม 2568 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เดินทางไปตรวจสอบพื้นที่และตั้งศูนย์ประสานและให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวของกระทรวงแรงงาน ที่บริเวณเขตก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ เขตจตุจักร กทม. จากนั้น นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จากการรายงานล่าสุดผู้เสียชีวิต 18 ราย (จากแผ่นดินไหวหลายจุด) อยู่ในระบบประกันสังคม 10 ราย อีก 8 ราย อยู่ในระหว่างการตรวจสอบเพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์ และบาดเจ็บกว่า 30 คน บาดเจ็บสาหัส 11 คน หากผู้เสียชีวิตหรือผู้บาดเจ็บเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ประกันสังคม จะได้รับการเยียวยาตามสิทธิโดยรับชดเชยสูงสุดประมาณ 2 ล้านบาทต่อราย ส่วนผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม บริษัทผู้รับเหมาจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงแรงงานยังได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานจากเมียนมาและกัมพูชา ซึ่งอาจพบอุปสรรคด้านการสื่อสาร โดยได้นำล่ามชาวเมียนมาและชาวกัมพูชา มาช่วยประสานญาติๆ ของแรงงานที่ยังไม่ได้เจอหรือประกาศเป็นบุคคลสูญหายอยู่ เพื่อที่จะได้ประสานความช่วยเหลือ ส่วนแรงงานไทยทางกระทรวงแรงงานก็ได้ประสานกับญาติของผู้เสียหาย ซึ่งศูนย์ดังกล่าวเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงสามารถติดต่อได้ผ่านสำนักงานแรงงานจังหวัดและสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานครทั้ง 12 เขต
...


ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานยังได้ประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา เพื่อให้การช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบพร้อมทั้งตรวจสอบสถานะของแรงงานที่อาจสูญหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังจะตรวจสอบสถานะการจ้างงานของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บว่ามีแรงงานที่ทำงานอย่างผิดกฎหมายหรือไม่ มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือแรงงานสูงอายุที่อาจถูกจ้างงานโดยผิดกฎหมายหรือไม่ หากพบการละเมิดกฎหมายแรงงานจะดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องตามกระบวนการทางกฎหมาย สำหรับการดำเนินการของบริษัทผู้รับเหมา รวมถึงบริษัทที่เหมาช่วงต่อ ยังอยู่ในช่วงของการประสานงานเพื่อขอรายชื่อแรงงานทั้งหมดที่ทำงานในไซต์งานโดยเฉพาะในกรณีของแรงงานที่ได้รับความเสียหาย แต่ยังไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ กระทรวงแรงงานจะดำเนินการประสานงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานและครอบครัวต่อไป
ทางด้าน ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ว่า ทางกระทรวงแรงงานมีการดูแลจ่ายชดเชยเยียวยาแรงงานผู้เสียชีวิตให้กับญาติผู้เสียชีวิต รายละประมาณ 1,730,000 บาท ส่วนกรณีบาดเจ็บก็รักษาจนสิ้นสุดการรักษา สำหรับผู้ที่ปลอดภัยแล้วแต่ต้องกลับไปอยู่บ้าน ไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากปิดบริษัทนั้น จะมีการเยียวยาค่าว่างงานให้ในอัตรา 50% ของเงินเดือน หรือประมาณ 7,500 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 6 เดือน
เมื่อถามว่าให้กับทุกคนทั้งผู้ประกันตน ทุกมาตรา รวมถึงแรงงานนอกระบบ และแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในอาคารที่ถล่มด้วยหรือไม่ นายบุญสงค์ ตอบว่า ให้สิทธิกับลูกจ้างทั้งหมดเลย ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว โดยเฉพาะกรณีที่เป็นแรงงานต่างด้าวในระบบประกันสังคมจะได้รับสิทธิ์ตามที่ตนกล่าวในข้างต้น.


