เวลาประมาณ 13.21 น. ของวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2568 เกิดเหตุ แผ่นดินไหว ครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี จุดศูนย์กลางอยู่ที่ ประเทศเมียนมา มีขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร ข้อมูล สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ ระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้มีขนาด 7.7 และลึก 16 กิโลเมตร อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของ เมืองสะกาย ใกล้กับ เมืองมัณฑะเลย์ และยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมา ส่งผลให้อาคารบ้านเรือน ถนนหนทาง สะพานพังทลาย เสียหายอย่างหนัก

ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเมียนมาที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ เวียดนาม มณฑลยูนนานของจีน รวมทั้ง ไทย ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน เบื้องต้น ตัวเลขทางการในเมียนมา พบ ผู้เสียชีวิต บาดเจ็บจำนวนมาก ประเทศไทย พบ ผู้เสียชีวิตเบื้องต้น 9 ราย จากเหตุการณ์ ตึก 30 ชั้น ของอาคารสำนักงาน สตง. ที่อยู่ ระหว่างการก่อสร้างถล่มลงมาในขณะที่มีคนงานทำงานอยู่หลายร้อยคน พบผู้บาดเจ็บอีกนับร้อยคนและยังอยู่ในระหว่างการค้นหา อีกประมาณ 100 คน นับเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เกิด เหตุโศกนาฏกรรมขึ้นในประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบอาคารบ้านเรือน ตึกสูง คอนโด เส้นทางการคมนาคม ได้รับความเสียหายจากกรณีนี้เป็นวงกว้างทั้งใน กทม. ปริมณฑล ภาคเหนือ บางจังหวัด

รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ร่วมกับ กทม. และกระทรวงมหาดไทย ประชุมสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันและให้การช่วยเหลือจากเหตุ แผ่นดินไหวเป็นการเร่งด่วน และเตรียมออกมาตรการต่างๆโดย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที อย่างไรก็ตาม เกิดข้อสงสัยตามมาถึง เหตุการณ์จุดการก่อสร้างสำนักงาน สตง. ถึงได้ถล่มทรุดตัวลงมาทั้งอาคารได้ขนาดนั้น ในขณะที่อาคารอื่นๆในบริเวณใกล้เคียงได้รับ ผลกระทบเพียงเล็กน้อย

จากการตรวจสอบพบว่า อาคารแห่งนี้เป็น อาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.แห่งใหม่ มีความสูง 30 ชั้น ใช้งบประมาณการก่อสร้างจำนวน 2,136 ล้านบาท ในเนื้อที่ 11 ไร่ อยู่บริเวณย่านการค้าตลาดนัดจตุจักร ใกล้กับ MRT สถานีกำแพงเพชร และติดกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

...

อาคารดังกล่าวเริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปี 2550 โดย สตง.เสนอ ครม.ขออนุมัติงบประมาณในการก่อสร้าง เป็นงบข้ามปี ระหว่าง ปี 2551-2553 ระหว่างปี 2553-2555 ระหว่างปี 2554-2556 และระหว่างปี 2557-2559 ซึ่งต่อมา สตง.ขออนุมัติ ครม.เปลี่ยนแปลง วงเงินงบประมาณ แบ่งเป็นค่าก่อสร้างอาคารที่ทำงานสำนักงาน สตง. งบผูกพันข้ามปี 2563-2566 จากเดิม 2,636,800,000 บาท เป็น 2,560 ล้านบาท และงบค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง.แห่งใหม่ ปี 2563-2566 อีกจำนวน 76.8 ล้านบาท ต่อมาเมื่อเดือน พ.ย.2563 ได้ลงนามจ้างกิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี (อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ในการดำเนินการก่อสร้างในวงเงิน 2,136 ล้านบาท มีกิจการค้าร่วม PKW (พีเอ็น ซิงค์โครไนซ์, ว.และสหายฯ และเคพี คอนซัลแทนส์) ควบคุมการก่อสร้างจำนวน 74,653,000 บาท มีการส่งมอบพื้นที่ ก่อสร้างตั้งแต่ ม.ค. ปี 2564 ระยะเวลาการก่อสร้าง 1,080 วัน

ครบกำหนดสัญญาวันที่ 31 ธ.ค.2566 แต่ สตง.ขอขยายเวลาก่อสร้างอีก 155 วัน ครบสัญญาส่งมอบ 3 มิ.ย.2567.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th 

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม