การกอบกู้ความเสียหายจากแผ่นดินไหวขนาด 8.2 จากเมียนมาของรัฐบาล ยังเป็นไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะทางด่วนดินแดงขาเข้าและขาออก ต้นทางถนนวิภาวดีรังสิตเส้นเลือดใหญ่ของระบบการคมนาคมใน กทม. ถูกเครนก่อสร้างคอนโดสูงติดทางด่วน (ไม่รู้อนุญาตได้ยังไง) หล่นทับ ต้องปิดการจราจรตั้งแต่หลังแผ่นดินไหว 13.20 น. วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม จนถึงวันอาทิตย์ที่ 30 มี.ค. สามวันแล้วยังไม่สามารถเปิดให้จราจรได้ ทั้งที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด (ไม่รู้ทำงานกันแบบไหน) คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.แถลง ถ้าเปิดใช้งาน วันจันทร์ที่ 31 มี.ค. ไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับ การทางพิเศษฯ อาจต้องขอให้บริษัทต่างๆประกาศให้ Work from Home เนื่องจากทางด่วนดินแดงเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่คนกรุงเทพฯใช้สัญจร

ฟังแล้วก็อัดอั้นใจ ข้าราชการตัวเอ้และรัฐมนตรีที่เสนอหน้าเป็นข่าวทุกวัน ทำอะไรกันอยู่หรือ ทั้งที่รู้ว่าเวลาเกิดภัยพิบัติ เส้นทางจราจรสำคัญที่สุด ถ้าการจราจรถูกปิด จะเดือดร้อนกันสาหัส และนี่เป็นทางด่วนใจกลางกรุงเทพฯ เครนก่อสร้างหล่นปิดถนนมานานถึง 3 วันแล้ว เคราะห์ดีที่เป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ถ้าวันจันทร์เปิดไม่ได้กรุงเทพฯจลาจลแน่นอน

ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือ มีอาคารสูงจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ มีรอยปริเห็นได้ชัดเจน อาคารสูงที่เกิดความเสียหายเหล่านี้ เฉพาะที่แจ้งผ่าน Traffy Fondue ของ กทม. ระหว่าง 28–29 มี.ค. คุณชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า มีถึง 9,500 เรื่อง (ที่ไม่แจ้งและยังไม่แจ้งมีอีกมาก) ทีมงานได้ประเมินกันทั้งคืนว่า ตึกใดมีความเสียหายหนักบ้าง วันนี้ (30 มี.ค.) จะส่งทีมวิศวกรเข้าตรวจกว่า 100 อาคาร คอนโดสูงบางแห่งที่เห็นในคลิปน่ากลัวมาก บางคอนโดก็ออกมาแถลงว่าอาคารมีความแข็งแรงดี เพราะมีคอนโดจำนวนมากยังขายไม่ออก จึงต้องรักษาภาพลักษณ์ แต่ช่วงนี้คงขายยาก เพราะภาพมันหลอน

...

สิ่งสำคัญที่สุด กทม.ต้องตรวจสอบอาคารสูงให้ครบทุกอาคาร ป้องกันแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต เป็นที่รู้กันว่า อาคารสูงส่วนใหญ่ใน กทม. มีการจ่ายค่ากาแฟการขอใบอนุญาต จน ป.ป.ช. ต้องออกมาตรการป้องกันการทุจริตการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร

กรณี ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน 30 ชั้นถล่ม ซึ่งเป็นตึกเดียวที่ถล่มในครั้งนี้ เป็นการถล่มที่ค่อนข้างผิดปกติ ถล่มแบบยุบจากชั้นสูงสุดลงมาเลย นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร สั่งให้กระทรวงมหาดไทยตั้งกรรมการสอบให้เสร็จใน 1 สัปดาห์ ผมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีมหาดไทย อดีตเจ้าของบริษัทก่อสร้างซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคช่ัน ว่า “ต้องดูว่า ทำไมเสามาฉีกขาดจากข้างล่าง ไปดูวิดีโอ ก็แสดงว่ามัน (เผื่อ) ไม่พอ อันนี้พูดแบบเคยอยู่ในวงการนี้มาก่อนนะ แสดงว่ามันไม่ใช่ถล่มจากข้างบนลงมา มันเกิดจากการฉีก การฉีกขาดของเสาที่รับน้ำหนักของตึกทั้งหมดอยู่ข้างล่าง ตรงนี้ต้องไปดูว่า ตอนออกแบบเป็นอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าเขาเผื่อไว้”

คุณอนุทิน เปิดเผยอีกว่า “จริงๆ ตึกแบบนี้ต้องเผื่อไว้เยอะเลยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้กฎหมายใหม่ ถ้าเกิดไม่เผื่อนี่ เขาออกใบอนุญาตไม่ได้ แล้วตึกนี้ยังต้องรับน้ำหนักเยอะ เพราะเท่าที่ทราบผนังจะเป็นผนังกระจก นี่ยังไม่ทันติดกระจกเลย ลองนึกดู ตึก 30 ชั้นจะต้องเพิ่มน้ำหนักไปอีกเท่าไหร่ ตอนนี้ยังไม่ทันติดกระจก แล้วตึกลงมาแบบนี้ อันนี้ต้องไปดูแล้ว” บริษัทออกแบบและก่อสร้างหนีไม่พ้นต้องรับผิดชอบ

สองปีก่อนตุรกีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ กทม.ได้จัดเสวนา “แผ่นดินไหวตุรกี กทม. พร้อมแค่ไหน” ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า รอยเลื่อนในไทยอาจเกิดแผ่นดินไหวได้ระดับ 7 ตอนนั้น คุณวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า กทม.จะเริ่มติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือนของอาคารสูง จะตรวจสอบอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 ประมาณ 10,000 อาคาร ไม่รู้ตรวจหรือยัง แผ่นดินไหวขนาด 8.2 มาถึง กทม. ไม่รู้เหลือเท่าไหร่ แต่ก็สร้างความเสียหายมากมายเกือบหมื่นตึก ถ้าเกิด แผ่นดินไหวขนาด 7 ในประเทศไทย กทม. จะเป็นอย่างไรผมไม่อยากคาดเดา ผมได้แต่เตือนล่วงหน้าไว้ตรงนี้.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม