แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ในประเทศเมียนมา เมื่อเวลา 13.20 น. วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งเกิดจาก “รอยเลื่อนสะกาย” ที่ทอดยาวผ่ากลางประเทศเมียนมาลงสู่ทะเลอันดามัน มีจุดศูนย์กลางที่ เมืองมัณฑะเลย์ ใจกลางเมียนมา แต่ส่งผลสั่นสะเทือนมาไกลถึงกรุงเทพมหานคร ทำให้ตึก 30 ชั้นที่กำลังก่อสร้างของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มราบเป็นหน้ากลอง มีผู้เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บและสูญหายอีกหลายสิบชีวิต ตึกสูงใน กทม.ทุกตึกโอนเอนไปมาน่ากลัวมาก สะพานเชื่อมตึกขาด น้ำในสระว่ายน้ำบนยอดตึกคอนโดกระฉอกลงมาเหมือนน้ำตก ผมอยู่ชั้นสองในบ้านก็รับรู้ถึงแรงสั่นไหวอย่างรุนแรงจนยืนไม่ค่อยอยู่ ลงมาชั้นล่างโคมไฟก็แกว่งไกวไปมาเป็นเวลานาน สะท้อนถึงความแรงของแผ่นดินไหวครั้งนี้ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงตั้งแต่ระดับพื้นดินไปจนถึงตึกสูง
ที่น่าเศร้าใจคือ รัฐบาลไม่มีการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ทั้งที่คลื่นแผ่นดินไหวใช้เวลาเดินทางพอสมควร จากมัณฑะเลย์ถึงกรุงเทพฯ มีระยะทางกว่า 1,300 กม. เทียบกับ คลื่นยักษ์สึนามิภูเก็ต ซึ่งมีระยะทางจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว 580 กม. ครั้งนั้น นายกฯทักษิณ ชินวัตร ได้บินด่วนลงภูเก็ตไปตั้งวอร์รูมประสานช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที
แผ่นดินไหวครั้งนี้ นายกฯแพทองธาร ชินวัตร ก็บินด่วนจากภูเก็ตกลับกรุงเทพฯเช่นเดียวกัน ท่ามกลางการจราจรที่อัมพาตทั่วกรุง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหยุดเดินรถทุกระบบ กทม.ต้องเปิดศูนย์พักพิงและเปิดสวนสาธารณะให้ประชาชนที่เข้าคอนโดไม่ได้เป็นที่อาศัยนอน รุ่งขึ้น 29 มีนาคม นายกฯแพทองธาร ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้ง คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีมหาดไทย คุณประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีดิจิทัลฯ คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีคมนาคม ทวงถามเรื่อง “การส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชน” ที่ล่าช้าและไม่ทั่วถึง นายกฯแพทองธาร ได้พูดกลางที่ประชุมว่า “ท่านต้องตอบคำถามตรงนี้ ดิฉันต้องตอบคำถามประชาชน เพราะสั่งไปตั้งแต่เวลา 14.00 น. (28 มีนาคม) แต่ระบบไม่ออก ไม่ทราบว่าต้องมีข้อสั่งการตรงไหนเพิ่มอีก”
...
ระบบเตือนภัยพิบัติ รัฐบาลไทยได้พูดถึงมานานแล้วตั้งแต่สมัย “สึนามิถล่มภูเก็ต” ในปี 2547 คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ต่อมาก็ น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ในสมัย คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ จนกระทั่ง น้ำท่วมใหญ่เชียงรายปีที่แล้ว มี คุณแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ มีการอนุมัติงบประมาณกว่าพันล้านเพื่อพัฒนาระบบ “Cell Broadcast” แจ้งเตือนภัยประชาชนผ่านโทรศัพท์มือถือ จนกระทั่งล่าสุดวันศุกร์ที่แล้ว แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ และภาคเหนือของไทย ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติประชาชนก็ยังไม่เสร็จ
ครั้งนี้จะดูว่า นายกฯแพทองธาร จะทำอย่างไร กล้าลงโทษผู้รับผิดชอบไหม ในเมื่อคนที่รับผิดชอบ ระบบเตือนภัย Cell Broadcast ล้วนเป็นคนใกล้ชิด นายกฯแพทองธาร ที่ยืนอยู่ข้างๆ และข้างหลังเวลาถ่ายรูปแถลงข่าวแทบทุกรูป หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงก็คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ที่มี คุณอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรัฐมนตรี และ กระทรวงดิจิทัลฯ ที่มี คุณประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นรัฐมนตรี
ผลจากการประชุมของ นายกฯแพทองธาร เมื่อ 29 มีนาคม คือ คำแก้ตัวน้ำขุ่นๆ จากผู้รับผิดชอบ คุณไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาฯ รักษาการเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะเป็นผู้กำหนดข้อความแจ้งเตือนภัยส่งมายัง กสทช. เพื่อประสานงานให้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือช่วยส่งข้อความสั้น (SMS) แจ้งเตือนประชาชน และการส่งข้อความสั้นก็มีข้อจำกัดส่งได้ครั้งละไม่เกิน 2 แสนเลขหมาย ฟังแล้วก็อึ้ง รัฐบาลมีประสิทธิภาพทำงานได้แค่นี้เองหรือ
ฟังแล้วก็ละเหี่ยใจ ภัยพิบัติธรรมชาติ ที่ว่าร้ายแรงแล้ว รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องรับผิดชอบ แต่ไม่รับผิดชอบ เป็นภัยร้ายแรงยิ่งกว่าภัยพิบัติธรรมชาติเสียอีก.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม