รัฐบาลเตรียมเสนอยูเนสโก ขึ้นทะเบียน “ประเพณีลอยกระทง” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ชี้ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และมีคุณค่าความสำคัญในหลายมิติ

เมื่อเวลา 12.45 น. วันที่ 27 มีนาคม 2568 นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า กระทรวงวัฒนธรรมเสนอเอกสาร “ประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย” ให้ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

เนื่องจากลอยกระทงเป็นหนึ่งในประเพณีที่สำคัญของไทย มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และมีคุณค่าความสำคัญในหลายมิติ อาทิ ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงการอนุรักษ์ประเพณีควบคู่ไปกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม มีความเกี่ยวข้องกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านมุขปาฐะ แนวปฏิบัติทางสังคม งานช่างฝีมือ ดนตรีและการละเล่น และความรู้ที่เกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และจะช่วยส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาลควบคู่กับการกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์สืบทอด สร้างความภาคภูมิใจ ความหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรม เสริมสร้างภาพลักษณ์และบทบาทของไทยในเวทีโลก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยเสนอขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แล้วในหลายๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นปี 2561 เสนอ “โขน” ปี 2562 “นวดไทย” ปี 2564 เสนอ “โนรา” ปี 2566 เสนอ “สงกรานต์” ปี 2567 เสนอ “ต้มยำกุ้ง” กระทั่งปัจจุบันมีเรื่องของชุดไทยและมวยไทย อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของยูเนสโก

...

จ่อเสนอยูเนสโก ขึ้นทะเบียน “ประเพณีลอยกระทง” มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า ในคราวที่คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม มีมติเห็นชอบให้เสนอประเพณีลอยกระทงของประเทศไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก โดยให้ทำข้อมูลและพิจารณาให้ตรงกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ของยูเนสโก ซึ่งส่วนใหญ่ทางเราได้ปฏิบัติให้เป็นที่เรียบร้อย คาดการณ์ว่าจะมีประโยชน์หลายอย่างให้กับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงไปทั่วโลก รวมทั้งเป็นประเพณีที่ส่งเสริมคุณค่าของศาสนาเกี่ยวกับความกตัญญูต่อแม่น้ำ ธรรมชาติ และเสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังช่วยส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งการอนุรักษ์ประเพณีควบคู่กับการป้องกันสิ่งแวดล้อม สำคัญที่สุดคือการสนับสนุนพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เนื่องจากมีการผลิตและจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับประเพณีลอยกระทงในไทยเป็นจำนวนมาก.