การลงมติไม่ไว้วางใจ นายกฯแพทองธาร ชินวัตร ไม่มีพลิก คุณพ่อกำกับเอง ได้รับเสียงไว้วางใจท่วมท้นถึง 319 เสียง จากพรรคร่วมรัฐบาล 312 เสียง และ สส.งูเห่า ที่โผล่มาขอส่วนบุญ 7 เสียง ส่วนคะแนนไม่ไว้วางใจมี 162 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง นายกฯแพทองธาร ให้สัมภาษณ์หลังได้รับความไว้วางใจว่า ยังไม่มีแพลนที่จะปรับ ครม.ตอนนี้ วันที่จะมีการอภิปรายรอบนี้ ก็ได้พูดคุยกับคุณทักษิณว่า จะยังไม่ปรับ ครม. ท่านก็บอกว่า อ๋อ โอเค คำตอบนี้ทำให้ “รัฐมนตรีวอลเปเปอร์” ถอนหายใจโล่งอก แต่ประชาชนอกตรม เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่มีวี่แววจะฟื้นเสียที

ศึกต่อไปที่ นายกฯแพทองธาร จะต้องเผชิญก็คือ การอภิปรายงบประมาณปี 2569 ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ นายกฯแพทองธาร จะตอบลอยๆเหมือนการตอบโต้การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของตัวเลขงบประมาณและนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพิ่งไปแสดงปาฐกถาล่าสุด แสดงความเป็นห่วงต่อเศรษฐกิจไทย ที่กำลังเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายหลายด้าน เช่น การสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ผลผลิตภาคการเกษตรที่ตกตํ่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขาดแคลนแรงงาน ความจำเป็นที่จะต้องลงทุนเพื่อลดภาวะโลกร้อน และโจทย์เดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข (ทั้งที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลมา 2 ปีแล้ว มีนายกฯมา 2 คนแล้ว) คือเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลงไปเรื่อยๆ รวมทั้งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างการเมืองที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

นอกจากนี้ ยังมีโจทย์ใหม่ล่าสุดที่ นายกฯแพทองธาร จะต้องเผชิญในวันที่ 2 เมษายนนี้ก็คือ การประกาศเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมจากประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งมีไทยรวมอยู่ด้วย ดร.ศุภวุฒิ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ เพราะไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ คิดเป็น 20% ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่ากว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 2 ล้านล้านบาท กว่า 9% ของจีดีพีประเทศไทย แต่จนถึงวันนี้ รัฐบาลนายกฯแพทองธาร ก็ยังไม่มีแผนรับมือกับการขึ้นภาษีของสหรัฐฯแต่อย่างใด ทั้งที่ภาคเอกชนเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง

...

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งอีกประเด็นหนึ่งก็คือ รัฐบาลเพื่อไทยบริหารประเทศมานานถึง 2 ปีแล้ว ยังไม่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนตามที่สัญญาหาเสียงไว้ ซํ้าร้ายเศรษฐกิจในยุคที่รัฐบาลเพื่อไทยในปี 2024 กลับเติบโตตํ่าเตี้ยเพียง 2.5% จากที่รัฐบาลคุยฟุ้งว่าจะเติบโตสูงถึง 3.0-3.5% ทำให้การประเมินตัวเลขทางธุรกิจของภาคเอกชนพลอยผิดพลาดไปด้วย ในงบประมาณปี 2569 ที่ ครม.อนุมัติไปแล้ววงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 เพียง 27,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 0.7% แต่ต้องกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 69 สูงถึง 860,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.3% ของจีดีพี บนสมมติฐานว่า จีดีพีปี 2569 จะมีการขยายตัว 2.3–3.3% ค่ากลางอยู่ที่ 2.8% ไม่ใช่ 3.5% อย่างที่รัฐบาลโฆษณาชวนเชื่อ

การกู้เงินมาใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2569 อีก 860,000 ล้านบาท รัฐบาลคาดว่าจะทำให้หนี้สาธารณะปี 2569 เพิ่มขึ้นแตะที่ 13.46 ล้านล้านบาท คิดเป็น 67.3% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากปี 2567 อีก 2.89% ใกล้ชนเพดาน 70% เต็มที

ถ้าปีถัดไป งบประมาณปี 2570 รัฐบาลเพื่อไทยยังต้องกู้เงิน ก้อนใหญ่เกือบ 1 ล้านล้านบาท มาโปะงบประมาณต่อไปอีก หนี้สาธารณะของรัฐบาลทะลุเพดานเกิน 70% อย่างแน่นอน และถ้ารวมเอา หนี้ครัวเรือนของคนไทยอีก 16.3 ล้านบาท คิดเป็น 89% ของจีดีพี เข้าไปด้วย ประเทศไทยและคนไทยจะมีหนี้ท่วมประเทศสูงถึง 29.76 ล้านล้านบาท คิดเป็น 156.3% ของจีดีพี คนไทย 65 ล้านคน ไม่ว่าลูกเล็กเด็กแดง ทุกคนจะต้องแบกหนี้กันคนละกว่า 457,800 บาท ไม่สนุกเลยนะครับ เพราะ “นายกฯฝึกงาน” แก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม