"พิพัฒน์" เล็งประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท บางสาขาอาชีพ 1 พ.ค. 68 หวั่นขึ้นพร้อมทั่วประเทศส่อทำแรงงาน 1.9 ล้านตำแหน่งว่างงาน พร้อมให้ความมั่นใจผู้ประกันตน ไม่ปู้ยี่ปู้ยำงบกองทุนประกันสังคม ยันไม่มีมวยล้มต้มคนดูปมสอบข้อเท็จจริงใช้งบประกันสังคม
วันที่ 25 มีนาคม 2568 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท หลังจากที่ถูกฝ่ายค้านอภิปรายพาดพิง ว่า กระทรวงแรงงานไม่นิ่งนอนใจ โดยปลัดกระทรวงฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กำลังจะเรียกประชุมครั้งต่อไปก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ เพื่อหาแนวทางการพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทครั้งต่อไป ให้ทันในวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ
ทั้งนี้ หากประกาศทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศก็จะส่งผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs ซึ่งมีกว่า 5 แสนราย ลูกจ้างประมาณ 5,800,000 คน ฉะนั้นหากมีการประกาศขึ้นค่าแรงอย่างพร้อมเพรียงกัน จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ และหารือกับผู้ประกอบการ SMEs ทุกจังหวัดก่อน พร้อมยืนยันว่านโยบายนี้ กระทรวงแรงงาน ไม่นิ่งนอนใจแต่การจะดำเนินการต้องรอบคอบ ไม่เช่นนั้นหากเกิดความเสียหาย และกระทรวงแรงงานไม่สามารถรับผิดชอบได้ พร้อมยกตัวอย่างว่าหากมีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างเท่าเทียม อาจจะมีลูกจ้างบริษัท SMEs หายไปกว่า 30% จาก 5.8 ล้าน หรือจะหายไปประมาณ 1.9 ล้านราย
นายพิพัฒน์ ยังยืนยันว่า การดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี กระทรวงแรงงานก็พยายามผลักดันแรงงานให้ GDP โตตามเป้า 3%
เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรให้การขึ้นค่าแรงสัมพันธ์กับการเติบโตของ GDP 3% นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เราตั้งเป้าจะทำให้ถึง GDP 3% แต่ถ้าวิเคราะห์แล้วไม่ถึงเราก็จะเลือกในบางสาขา ซึ่งตนได้ให้นโยบายปลัดกระทรวงไปแล้วว่า วันแรงงานจะต้องมีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในบางสาขา โดยที่ผู้ประกอบการไม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นการหาข้อมูลต่างๆ เราจะต้องพิจารณาอย่างละเอียด
...

ส่วนในกรณีที่นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน การอภิปราย อภิปรายพาดพิงเรื่องแรงงานจีน เข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยไม่ได้รับใบอนุญาต นายพิพัฒน์ ชี้แจงว่า มีรายงานชาวจีนทั้งหมด เข้ามาในประเทศไทย และได้รับการออก Work Permit ประมาณ 50,000 กว่าคน และในส่วนของ BOI ประมาณ 20,000 กว่าคน และนอกเหนือจากนี้มีอีกประมาณ 30,000 กว่าคน ซึ่งทางกรมจัดหางานได้มีการตรวจสอบ หลัง สส.นำข้อมูลเปิดเผย และจะให้ชุดเฉพาะกิจที่ตนตั้งขึ้นมา และของกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน และกรมจัดหางาน ซึ่งจะลงพื้นที่ทำการตรวจสอบว่า บุคคลเหล่านี้ที่ถูกอ้างถึงเข้าทำงานอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งหากเข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้รับ work permit ทางกรมจัดหางาน หรือ BOI กระทรวงแรงงาน จะต้องดำเนินตามมาตรการ คือจับ ปรับ และผลักดันออกนอกประเทศ
นายพิพัฒน์ ยังกล่าวว่า ที่สำคัญการที่คนจีนแย่งอาชีพสงวนคนไทย มีประมาณ 40 อาชีพ ซึ่งชุดเฉพาะกิจของตน หรือกรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจ ล่าสุดตรวจจับใน จ.ชลบุรี สามารถจับแรงงานต่างด้าวได้ 52 คน ย้ำว่า กระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเฉพาะการมาแย่งอาชีพคนไทย แม้จะมีใบอนุญาตเข้ามาทำงานถูกกฎหมาย แต่หากแย่งอาชีพสงวนคนไทย ต้องดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงผลักดันกลับประเทศ

นอกจากนี้ นายพิพัฒน์ ยังได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการดำเนินการของประกันสังคมที่พรรคฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า สำหรับประเด็นที่มีข่าวมาตลอด 1 เดือนเรื่องเกี่ยวกับการซื้อตึก ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ไม่มีมวยล้มต้มคนดู ซึ่งขณะนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงแรงงานได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งต้องรอคำตอบออกมา ตนไม่สามารถก้าวล่วง แต่ส่วนประเด็นที่ตนให้ความสำคัญ คือการบริหารกองทุนประกันสังคมใน 30 ปีข้างหน้าเพื่อไม่ให้มีการล้มละลาย ภายหลังที่มีสถาบันต่างๆ ออกมาประเมิน หากไม่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการหาผลประโยชน์ก็อาจจะล้มละลายในปี 2597 ได้ แต่ตนขอแจ้งความคืบหน้าในปี 2566 ได้ดอกผลจากการลงทุนร้อยละ 3.1 ในปี 2567 ได้ดอกผลร้อยละ 5.34 เป็นเกณฑ์ที่ตนตั้งเป้าหมายไว้ ที่จะต้องได้ดอกผลร้อยละ 5 ขึ้นไป แต่จะทำให้ได้ผลร้อยละ 5 ตลอด 30 ปีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งจะต้องมีการลงทุนให้รอบคอบ ทั้งลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปลัดกระทรวงแรงงานจะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญต่างๆมาทำการวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ดอกผลตามเป้าหมาย
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาร้อยละ 60 ของกองทุนเราลงทุนเรื่องที่มีความเสี่ยงต่ำจึงมีดอกผลน้อย ส่วนร้อยละ 40 จะต้องหาลงทุนและหาวิธีถ่วงดุลอย่างไรเพื่อดึงในส่วนของร้อยละ 60 เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยร้อยละ 5 ของปี ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เราหนักใจจึงต้องทำงานให้เกิดความรอบคอบ
นอกจากนี้เราจะมีหลักประกันในส่วนหนึ่งคือบอร์ดประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และอนุต่างๆ ที่บอร์ดใหญ่ส่งตัวแทน จึงมีผู้ที่จะมาช่วยคัดกรองและคิด รวมถึงประเมินสถานการณ์ในอนาคต กลาง ใกล้ และในขณะนี้ว่าเราจะทำอย่างไร
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า หากเราทำรายได้คงที่ร้อยละ 5 ตลอดระยะเวลา 30 ปี เราจะสามารถยืดชีวิตไปได้ 55 ปี และจากการทำงานของตนที่มีการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆจากนาๆประเทศมาช่วยคิด เพื่อหาค่าตอบแทนให้กับประกันสังคม โดยภายใน 12 ปีข้างหน้า กองทุนประกันสังคมอาจจะโตถึง 6 ล้านล้านบาท แต่หากเราไม่ทำอะไรต่อก็จะล่มสลาย
"จึงอยากบอกผู้ประกันตนทุกคนให้สบายใจ ผู้บริหารของกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคม จะไม่นำเงินของพวกท่านไปทำอย่างปู้ยี่ปู้ยำ เราจะนำเงินของท่านมาดูแลและทำให้เกิดดอกผลสูงสุด และหากทำได้ตามเป้าสิ่งที่ตามมาจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตน เช่น การตรวจร่างกายก่อนจะป่วย เงินเกษียณจะได้รับสูงขึ้น"
ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงการส่งคำชี้แจงการใช้งบประกันสังคมไปยังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานเพื่อเข้าสู่ที่ประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 27 มี.ค.นี้ ว่า ขณะนี้ตนได้ทำหนังสือส่งไปยังคณะกรรมการตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยประกันสังคมเป็นผู้ทำหนังสือชี้แจงไป.