“ศิริกัญญา ตันสกุล” ชี้ รัฐบาลแพทองธารล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจทุกตัวชี้วัด ได้แต่ทำนโยบายรายวัน ขายผ้าเอาหน้ารอด ฝันไกลแต่ไปไม่ถึงดวงดาว หลังชนฝาก็ควักนโยบายเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาใช้ หมดหนทางก็ร้องหาแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย
วันที่ 25 มีนาคม 2568 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร โดยน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายถึงความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลแพทองธาร ว่า ก่อนอื่นตนต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศได้ตาสว่างแล้ว ว่ารัฐบาลเพื่อไทยไม่ได้เก่งเรื่องเศรษฐกิจจริงอย่างที่เคยโอ้อวดไว้ ในวันที่ข้ามขั้วประชาชนบางส่วนยอมหลับตาข้างหนึ่งเพราะศรัทธาในอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร แต่วันนี้ประชาชนรู้ตัวแล้วว่าคิดผิด แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้ช้ำใจเท่าความผิดมหันต์ของนายกฯ แพทองธาร คือการทำให้คนร้องหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บริหารเศรษฐกิจได้เลวร้ายที่สุดในรอบ 10 ปี
“ความเดือดร้อนตอนนี้เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ทั้งรายได้ที่ฝืดเคืองของเกษตรกร คนงาน ค่าครองชีพสูง หนี้ครัวเรือนท่วมท้น โรงงาน ห้างร้าน บริษัททยอยปิดตัว คนงานตกงาน ปัญหาเฉพาะหน้าแก้ไม่ได้ ปัญหาโครงสร้างไม่เคยพูดถึงอย่างจริงจัง” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีนอกจากจะไม่มีความสามารถเพิ่มรายได้ให้ประชาชนแล้ว ยังชอบมาสัญญาลมๆ แล้งๆ สัญญากี่รอบแล้วเรื่องค่าแรง 400 บาท ว่าภายในปี 2567 ได้แน่นอน ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าตัวเองทำไม่ได้ พ่อนายกฯ ก็เอาไปหาเสียงทุกเวที สุดท้ายได้แค่ 4 จังหวัดกับอีก 1 อำเภอเมื่อต้นปี 2568 แต่ก็ยังให้ความหวังไม่หยุดว่าปี 2568 ได้ครบทั้งประเทศแน่ แต่ประชุมไตรภาคีมา 2-3 รอบแล้วก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะขึ้นเป็น 400 บาทได้
...
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อไปว่า ความสิ้นหวังไม่ได้มีแค่กับชนชั้นล่างกับชนชั้นกลางเท่านั้น แม้แต่นักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้นก็ยังได้รับผลกระทบด้วยฝีมือการบริหารตลาดทุนของรัฐบาล ในวันที่แพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรีตลาดหุ้นดีดขึ้นแสดงความเชื่อมั่น หลังพ่อของนายกรัฐมนตรีแสดงวิสัยทัศน์ในงานไทยแลนด์วิชั่น หุ้นก็ดีดอีกขึ้น เรียกได้ว่าจากวันที่รับตำแหน่งจนถึงวันแถลงนโยบายหุ้นขึ้นไป 130 จุด แต่หลังจากมีนโยบายวายุภักษ์ 2.0 ดัชนีก็ร่วงไม่หยุดจนอยู่ต่ำในระดับเดียวกับปี 2555 ทำให้มูลค่าตลาดหายไป 3 ล้านล้านบาท
“ไม่ว่าจะเป็นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต การแจกเงินหมื่น 2 เฟสที่ผ่านมา 1.8 แสนล้านบาทล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในฐานะเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริโภคไม่กระเตื้อง จีดีพีไม่ขยับ แต่ก็ยังทำต่อ แต่รอบนี้เลิกประมาณการตัวเลขแล้วว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าไร เหลือเป็นแค่นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลไปแล้ว และยังลดกลุ่มคนที่จะได้รับสิทธิลงเหลือ 2.7 ล้านคน สำหรับคนที่อายุ 16-20 ปีเท่านั้น”
น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า แม้สถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ แต่รัฐบาลกลับไม่ได้เรียนรู้มากพอจากอดีต ก็ยังทำเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มารอบนี้ตั้งเป้าไว้หนักแน่นว่าจะทำให้จีดีพีโต 3.5% แต่หลังๆ เริ่มไม่มั่นใจก็เลยลดเป้ามาเหลือแค่เกิน 3% ให้ได้ก่อน ส่วนมาตรการก็ยังเหมือนเดิม เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเน้นการจัดเทศกาล มีโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ด้านการท่องเที่ยว โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจะเข้าประเทศ 39 ล้านคน แต่ปัจจุบันศูนย์วิจัยเศรษฐกิจต่างๆ ต่างก็ปรับลดเป้านักท่องเที่ยวกันหมดแล้วเหลือ 37-38 ล้านคน แต่รัฐบาลก็ยังคงตั้งเป้าไว้ 39 ล้านคน โดยที่มาตรการก็ไม่น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้
ส่วนมาตรการเร่งรัดงบลงทุน ปีนี้บอกจะทำให้ได้ 75% แต่ในเมื่องบประมาณก้อนใหญ่ที่สุดที่เบิกจ่ายได้น้อยคืองบกลางที่กั๊กไว้ทำดิจิทัลวอลเล็ต ที่ขอสภาฯ ไป 1.8 แสนล้านบาท แต่ตอนนี้เพิ่งใช้ไปได้แค่ 3 หมื่นล้านบาท นี่ผ่านมาครึ่งปีแล้วประกาศจะใช้อีกก้อนก็แค่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เหลืออีกประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ตอนนี้ยังไม่มีโครงการจะทำอะไรเลย ไม่รู้จะกั๊กทำไม อีก 6 เดือนจะหมดปีแล้วจะใช้หมดหรือไม่
น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า รัฐบาลออกมาตรการแก้หนี้ไปหลายรอบ ทั้งพักหนี้เกษตรกร แก้หนี้นอกระบบ ซึ่งปัจจุบันยังแก้ไปไม่ถึงไหนแต่ประกาศจบโครงการไปแล้ว และยังมีโครงการใหม่ “คุณสู้เราช่วย” ที่มีคนลงทะเบียนกว่า 1.3 ล้านราย แต่ผ่านเงื่อนไขหลักเกณฑ์แค่ประมาณ 3 แสนราย จากที่ตั้งเป้าคนร่วมโครงการ 2 ล้านคน ตนไม่ติดที่จะช่วยประชาชนแบบนี้ แต่วันนี้กลับมีโครงการใหม่มาอีกแล้วตามที่เป็นข่าว นั่นคือการซื้อหนี้ประชาชนสำหรับผู้มียอดหนี้ต่ำกว่า 3 แสนบาทมาอยู่ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้าจะทำใหม่อีกโครงการ รอให้โครงการเก่าดำเนินการไปได้สักพักก่อน จะดีกว่าหรือไม่
นโยบายไฟลนก้นรายวันยังมีเรื่องข้าว ที่แม้จะมีสัญญาณราคาตกต่ำมาตั้งแต่ประมาณปี 2567 แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย มีแค่โครงการไร่ละพัน ที่เลวร้ายกว่านั้นคือคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ มีการประชุมกันแล้วบอกว่าปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมีเพิ่มขึ้น ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศให้เกษตรกรทำนาปรังเพิ่มขึ้น 1 ล้านไร่ หมายความว่าจะต้องมีข้าวเพิ่มขึ้นมาอีกราว 7-8 แสนตัน จากที่ส่งออกลดลงไปแล้วยังมีส่วนที่เพิ่มมาอีก มีข้าวที่ขายไม่ออกและไม่มีตลาดรองรับอยู่ราว 2 ล้านตัน กระทรวงพาณิชย์ก็ยังมาประกาศอีกว่าหาตลาดข้าวเพิ่มได้แล้ว 6 แสนตัน แต่ยังอยู่ระหว่างการเจรจา ยังไม่ได้ข้อตกลงสิ้นสุดเลย รู้ทั้งรู้ว่าราคาข้าวอยู่ในช่วงขาลง แล้วยังไปเชียร์ให้เกษตรกรทำนาเพิ่มอีก
“นายกรัฐมนตรีก็ไม่แพ้กัน ไม่แก้ปัญหา ไม่ประสานงานแล้วยังไปโทษชาวนาอีกว่าใช้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้มีคุณภาพ ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์จากรัฐบาล ทั้งที่ชาวนาต้องใช้เมล็ดพันธุ์ปีหนึ่ง 1.4 ล้านตัน แต่ต่อให้รวมของกรมการข้าว ศูนย์ข้าวชุมชน และเครือข่ายทั้งหมดยังผลิตได้แค่ 3-4 แสนตัน ชาวนาไม่ได้ไม่อยากใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดี แต่เพราะไม่มีให้ใช้ หน้าที่นายกรัฐมนตรีคือต้องสั่งรัฐมนตรีให้เตรียมการล่วงหน้า แต่ก็ไม่ทำ คนของตัวเองทำผิดไม่ด่าสักคำ เกิดปัญหามาก็ชี้นิ้วโทษชาวนาอีก”
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันดิจิทัลวอลเล็ตเปลี่ยนไปทั้งรูปแบบ หน้าตา และแหล่งทุน จนจำเค้าลางเดิมไม่ได้ พ่อนายกรัฐมนตรีบอกว่าผิดแผนเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่าทำไม่ได้ แต่ก็ยังไม่ล้มเลิกความพยายาม ล่าสุดยังมีไอเดียต่อเนื่องคือการทำสเตเบิลคอยน์ (Stable Coin) ที่นายกฯ สั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปศึกษา แต่นายกฯ ควรต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าจะทำไปทำไม สเตเบิลคอยน์จะเพิ่มเงินในระบบได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อใช้แทนเงินได้จริงๆ อีกทั้งปัจจุบันปริมาณเงินในระบบก็ไม่ได้เหือดแห้ง เพียงแต่โตน้อยลงกว่าเดิมเล็กน้อย
ต่อมาคือการขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ย ซึ่งถ้าดูจังหวะเวลาดีๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยลังเลก็เพราะความไม่แน่นอนในนโยบายของรัฐบาลเอง ธนาคารโลกก็เคยออกมาบอกว่าเพราะความไม่แน่นอนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องยืดการลดดอกเบี้ยออกไปก่อน เพราะอาจเกิดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ พร้อมประเมินว่าถ้าไม่มีดิจิทัลวอลเล็ต ธนาคารแห่งประเทศไทยจะสามารถลดดอกเบี้ยได้อีก 50 สตางค์ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ปีที่แล้วที่คุยกันว่าจะมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาทในไตรมาส 4 ของปี 2567 จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศเคยมีมายกเว้นในช่วงวิกฤต ซึ่งจะทำให้จีดีพีโต 1.2-1.8% จะเกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจลูกใหญ่ คำถามคือถ้าโตดีขนาดนี้แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดดอกเบี้ยทำไม
เรื่องนี้รัฐบาลทำตัวเองแท้ๆ ด้วยความไม่แน่นอน ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงไม่สามารถตัดสินใจได้ ทั้งที่แนวโน้มเศรษฐกิจเห็นมาสักระยะแล้ว เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนมาแจกเงินสด เม็ดเงินจาก 5 แสนล้านบาทเหลือ 1.4 แสนล้านบาท สองสัปดาห์ถัดมาคณะกรรมการนโยบายการเงินจึงลดดอกเบี้ยทันที ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาให้เห็นแล้วว่าโครงการแจกเงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ คณะกรรมการนโยบายการเงินก็ลดดอกเบี้ยอีก 25 สตางค์ และด้วยฝีมือการบริหารเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีและพ่อนายกรัฐมนตรี ตนเชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบาย 0% คงอยู่อีกไม่ไกลแน่นอน
พายุเศรษฐกิจของจริงกำลังจะมาจากสงครามการค้า ประเทศไทยอยู่ในรายชื่อลำดับต้นๆ ที่ต้องถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มจากสหรัฐอเมริกา ตามความเสี่ยงประเทศไทยต้องถูกขึ้นภาษีแน่นอนแล้วไม่ต่ำกว่า 10% ผลกระทบจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้แล้ว และจะรุนแรงที่สุดในช่วงต้นปี 2569 และจะยังมีผลกระทบอีกระลอกจากสินค้าจีนที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้แล้วต้องไหลทะลักเข้ามายังไทยด้วย
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ตนไม่คาดหวังการชี้แจงอะไรอีกแล้ว ประชาชนเบื่อจะฟังคำแก้ตัวแบบบิดเบือนด้อยค่าประชาชนแล้ว ไม่ต้องยกตัวเลขแล้วว่าเศรษฐกิจยังดี ตลาดหุ้นมีพื้นฐาน เราแค่ยังไม่ฉลาดพอ รายได้คนเพิ่มขึ้น เราจะรวยกันแล้ว ไม่อยากฟังคำแก้ตัวแล้วว่าค่าครองชีพเรามันต่ำ ของอะไรก็ถูกไปหมดเพียงแค่ต้องเลือกกินให้ถูกตัว ยิ่งพูดยิ่งสะท้อนว่านายกรัฐมนตรีและบรรดารัฐมนตรีของท่าน กับประชาชนเหมือนอยู่คนละโลกกัน
“เราให้เวลา ให้โอกาสกับพวกท่านมามากพอแล้ว แต่ท่านทำไม่เคยได้ ท่านก็ยังทำนโยบายรายวัน ขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ ฝันไกลแต่ก็ไปไม่ถึงดวงดาว หลังชนฝาเมื่อไหร่ก็ไปควักนโยบายเก่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาใช้ หมดหนทางจริงๆ ก็ร้องหาแบงก์ชาติให้ลดดอกเบี้ย ท่านอย่ามาแก้ตัวว่าเศรษฐกิจมันพังมาก่อนหน้านี้นานแล้ว แบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย หรือรัฐมนตรีพรรคร่วมมันเยอะเกินไปถึงทำไม่สำเร็จ ช่วยบอกอะไรที่เรายังไม่รู้เถอะ ศักยภาพของผู้นำประเทศเป็นแบบนี้ แม้ในเวลานี้ที่คลื่นลมยังไม่ปั่นป่วนมาก ท่านยังทำให้มันวิบัติได้ขนาดนี้ พายุหมุนทางเศรษฐกิจของแท้กำลังจะมา คลื่นลมจะสูงแรงปั่นป่วนกว่านี้มาก ถ้าจะทำให้เศรษฐกิจ ประเทศ และประชาชนรอดได้ เราไม่สามารถมีผู้นำประเทศแบบนี้ได้จริงๆ” ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้าย