นี่เป็นครั้งแรกที่ฟังดูทะแม่งๆกับแนวความคิดของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร หลังจากที่ออกมาประกาศวันก่อนว่า อยากจะซื้อหนี้ส่วนบุคคล หรือหนี้บัตรเครดิตออกจากระบบแบงก์พาณิชย์ให้หมด
อดีตนายกฯทักษิณ ไปประกาศบนเวทีว่า คิดกับนายกฯอิ๊งค์ดังๆว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้หนี้สินครัวเรือนของคนไทยหมดไปให้ได้ เพราะวันนี้หนี้ครัวเรือนเยอะเหลือเกิน...
แต่ความคิดนี้ยังไม่ได้ทำ ยังเป็นแค่แนวคิดที่อยากจะซื้อหนี้ออกจากระบบแบงก์พาณิชย์ให้หมด แล้วให้ลูกหนี้ค่อยๆผ่อน ไม่ต้องชำระเต็มจำนวน เพื่อจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่จะยกออกจากเครดิตบูโรทั้งหมด ให้เป็นคนบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไปทำมาหากินกันใหม่ และสิ่งเหล่านี้ไม่ต้องใช้เงินรัฐสักบาท
ก่อนหน้านี้รัฐบาลของนายกฯแพทองธาร ทำคลอดโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ออกมา มีเป้าหมายจะช่วยผู้เป็นหนี้บ้าน ให้สามารถรักษาบ้านไว้ได้ ส่วนรถยนต์ ถ้ายังพอจะช่วยทันก่อนถูกไฟแนนซ์ยึด ก็อยากจะช่วยด้วยเหมือนกัน
แต่ผลปรากฏแบงก์ชาติซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับมอบหมายให้ไปทำ ดำเนินการไม่สำเร็จ ไม่มีแบงก์พาณิชย์เข้าร่วมโครงการด้วยเลย
ตรงกันข้ามกลับมีแต่แบงก์รัฐในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง เช่น แบงก์ออมสิน ธอส. และ ธ.ก.ส.เท่านั้นที่พยายามออกมาโฆษณาให้ลูกหนี้บ้านทั้งหลายออกมายินยอมเข้าโครงการซึ่งจะได้รับการปรับลดดอกเบี้ย และเดินหน้าจ่ายค่าบ้านต่อไป
แม้ว่าแบงก์รัฐจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยพังพาบลงในช่วงเวลาของวิกฤติต้มยำกุ้งก็ตาม
โครงการคุณสู้ เราช่วย น่ะ มีเป้าหมายจะแก้หนี้จำนวน 2.1 ล้านบัญชีของลูกหนี้จำนวน 1.9 ล้านคน หรือคิดเป็นยอดหนี้รวมประมาณ 890,000 ล้านบาทเท่านั้น
ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยตามข้อมูลของแบงก์ชาติในปี 2567 มีสัดส่วนค่อนข้างสูง หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่สามารถสร้างรายได้
...
ที่สำคัญคือ ลูกหนี้ที่อยู่ในกระบวนการนี้มีปัญหาด้านความสามารถในการจ่ายหนี้คืน ขณะที่มีพฤติกรรมการก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว จนกระทั่งมียอดหนี้สะสมสูงถึง 16 ล้านล้านบาท หรือราว 91.4% ของจีดีพี...
เป็นภาวะที่เรียกว่า อันตรายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อหนี้ส่วนใหญ่ เป็นหนี้บัตรเครดิต
ส่วนความคิดดังๆที่จะเอาหนี้ครัวเรือนออกจากระบบแบงก์ไทยให้หมด รวมทั้งเอาชื่อออกจากระบบเครดิตบูโร ซึ่งจัดเป็นเบนช์มาร์คของระบบการให้สินเชื่อของแบงก์พาณิชย์น่ะ
รองนายกฯ และ รมว.คลัง รีบกระโดดรับทันที ด้วยการวางแผนจะซื้อหนี้เสีย ในวงเงิน 400,000 บาทออกมา กำหนดช่วยเหลือกลุ่มที่เป็นหนี้รายย่อย เช่น บัตรเครดิต เงินกู้ส่วนบุคคลซึ่งมีมูลนี้ต่ำกว่า 100,000 บาท
หนี้กลุ่มนี้นัยว่า มีสัดส่วนอยู่ 35% ของยอดที่เป็นหนี้เสียทั้งระบบ 1.22 ล้านล้านบาท...ฟังดูจิ๊บๆถ้าเอาไปเทียบยอดหนี้สะสมที่สูงถึง 16 ล้านล้านบาท หรือ 91.4% ของจีดีพี
แต่เอาจริงๆไม่จิ๊บอย่างที่คิด โดยเฉพาะเมื่อเงินในกระเป๋ารัฐมีไม่พอ และโครงการสร้างรายได้ทั้งหลายยังออกมาไม่เป็นรูปธรรมสักชิ้น.
มิสไฟน์
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่